วันปลอดรถโลก (World Car Free Day) 22 กันยายน

carfreeday-s  วันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น “วันปลอดรถโลก หรือ World Car Free Day”

ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล
ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล

 

องค์กรมากกว่า 50 องค์กรในประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ ทั่วโลกกำหนดให้ วันที่ 22 กันยายน เป็นวัน วันปลอดรถโลก หรือ World Car Free Day โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถขนส่งมวลชน และรถจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปัญหาการจราจรและลดการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนลดการใช้พลังงาน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางการรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1958 ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1968 ในเนเธอร์แลนด์ และค.ศ. 1972 ในฝรั่งเศส ตามลำดับ กระทั่งประเทศต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญและร่วมกันรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง และในปี ค.ศ. 2005 มีการจัดรณรงค์ชื่อ In town without my car! พร้อมกันใน 1500 เมืองทั่วโลก ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 ล้านคน

ที่มาของวันปลอดรถโลกเริ่ม จัดขึ้นในช่วงวิกฤติน้ำมันในต้น ค.ศ. 1970 และได้มีการจัดงานวันปลอดรถหลายงานในเมืองต่างๆ ในยุโรปในช่วงต้น ค.ศ. 1990 สำหรับวันปลอดรถนานาชาติจัดขึ้นในยุโรปใน พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องสำหรับการรณรงค์ “อยู่ในเมืองโดยไม่ใช้รถ” ของสหภาพยุโรป โครงการรณรงค์นี้พัฒนาไปเป็นสัปดาห์แห่งการเคลื่อนไหวร่างกายในยุโรป

วันปลอดรถโลกเป็นวันที่ ประชาชนในเมืองต่างๆ เฉลิมฉลองวันที่ปราศจากเสียงดัง ความเครียด และมลพิษที่มาจากรถยนต์ ทุกๆ ปีในวันที่ 22 กันยายน ผู้คนทั่วโลกจัดงานทั้งเล็กและใหญ่เพื่อแสดง ให้เห็นทางเลือกนอกเหนือจากรถยนต์

ใน พ.ศ. 2543 นิตยสาร Car Busters (ผู้ริเริ่มเครือข่ายปลอดรถโลก) ได้ประกาศเรียกร้องให้มี “วันปลอดรถโลก”  เพื่อให้เข้ากับวันปลอดรถโลกของยุโรปในวันที่ 22 กันยายน ตั้งแต่นั้นมาเครือข่ายปลอดรถโลกได้เดินหน้าเชิญชวนให้นักกิจกรรม และประชากร ให้จัดงานวันปลอดรถโลกในวันที่ 22 กันยายน หรือวันใกล้เคียง

carfreeday
ที่มา : http://www.go-green.ae/greenstory_view.php?storyid=1816

กิจกรรมในวันปลอดรถ

– วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1998 มีการรณรงค์ใน 34 เมืองทั่วประเทศฝรั่งเศส ชื่อว่า “En ville, sans ma voiture?” (A day in the city without my car ? )

– วันพุธที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1999 มีการรณรงค์  “En ville, sans ma voiture?” ครั้งที่ 2 ใน 66 เมืองของประเทศฝรั่งเศส และ “In citt? senza la mia auto” ใน 92 เมืองของประเทศอิตาลี นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ในวันที่ 19 กันยายน 1999 ทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ และวันที่ 26 กันยายน 1999 ทั่วประเทศเบลเยียม ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์

– วันที่ 21-22 กันยายน ค.ศ. 2000 กำหนดให้เป็น วันปลอดรถสากล (World Car Free Day) มีการรณรงค์ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมรณรงค์ด้วยการขี่รถจักรยานจากบ้านพิษณุโลกไปยังทำเนียบรัฐบาล

– ในปี ค.ศ. 2005 มีการจัดรณรงค์ชื่อ In town without my car! พร้อมกันใน 1500 เมืองทั่วโลก โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 ล้านคน

วันปลอดรถในไทย

จากการที่องค์กรมากกว่า 50 องค์กรในประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ กำหนดให้ วันที่ 22 กันยายน เป็นวัน World Car Free Day โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถ ขนส่งมวลชน และรถจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปัญหาการจราจรและลดการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนลดการใช้พลังงาน และได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมโครงการฯ กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีการประชุมหารือร่วมกัน และเห็นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากร จึงกำหนดจัดโครงการ Car Free Day ของประเทศไทยขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 2546 ภายใต้ชื่อ “22 กันยายน จอดรถไว้บ้าน ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษ” หลังจากนั้นก็มีการจัด Car Free Day ในเมืองไทยทุก ๆ ปี

ผลกระทบจากรถยนต์

– การผลิตรถ 1 คัน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ 4 ตัน และสารก่อมลพิษอื่นๆ เกือบ 317.51 กิโลกรัมออกสู่บรรยากาศ
– หากประชาชน 1 คน ใช้ระบบขนส่งมวลชนตลอด 1 ปี แทนการขับรถไปทำงาน จะสามารถลดการปล่อยแก๊สเหล่านี้ออกสู่บรรยากาศ ได้แก่ ไฮโดรคาร์บอน 4.2 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซต์ 64.5 กิโลกรัม และไนโตรเจนออกไซต์ 2.3 กิโลกรัม นอกจากนี้รถบัสขนาด 40 ฟุต ยังเท่ากับรถยนต์ 58 คัน

ที่มา: http://www.bangkokcarfree.com/
ที่มา: http://www.bangkokcarfree.com/

การรณรงค์ในวันปลอดรถในกรุงเทพมหานคร 

การรณรงค์ส่วนมากจะใช้ผู้ขี่จักรยานเป็นตัวแทนในการรณรงค์ วัตถุประสงค์หลักของประชาชนผู้มาร่วมรณรงค์ เพื่อสร้างพลังมวลชนให้สังคมเห็นความสำคัญในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้จักรยานและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนการขอทางจักรยานตามกฎหมาย ดังเช่น สิรินาฏ ศิริสุนทร กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “Car Free Day ขอเส้นทางจักรยาน” (24 กันยายน 2012) เว็บไซต์สำนักข่าวเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครขาดเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย ทั้งที่มีการสร้างเส้นทางจักรยานมานานแต่นโยบายของภาครัฐไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน การรณรงค์แค่วันเดียวเป็นเพียงการแสดงภาพลักษณ์ที่ฉาบฉวยไม่จริงจังไม่หวังผลในทางปฏิบัติ

ข้อมูลจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครระบุว่า ปัจจุบันมีทางจักรยานที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งสิ้น 31 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากถนนในกรุงเทพฯ มีความยาวรวมกันราว 8,000 กิโลเมตร พื้นผิวถนนคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด (1,568 ตารางกิโลเมตร) แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้ใช้จักรยานทุกคนพบก็คือเส้นทางจักรยานที่ไม่เชื่อมโยงกันและขาดความปลอดภัย ทั้งมาปรากฏบนฟุตบาทในย่านหาบเร่-แผงลอยอันหนาแน่น ขอบฟุตบาทที่มีรถจอดอยู่เป็นประจำ ทำให้การจัดเส้นทางจักรยานของผู้ขับขี่ปลอดภัยจึงยังไม่มีเส้นทางไหนที่สมบูรณ์

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยาน พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดช่องทางเดินรถเฉพาะสำหรับเดินรถจักรยาน โดยมีความกว้างของช่องทาง 1 เมตร 20 เซนติเมตร คือ

– ถนนหน้าพระลาน เฉพาะฝั่งด้านถนนมหาราชมุ่งหน้าถนนหน้าพระธาตุ
– ถนนหน้าพระธาตุ เฉพาะฝั่งด้านถนนหน้าพระลานมุ่งหน้าถนนราชินี
– ถนนราชินี เฉพาะฝั่งด้านถนนหน้าพระธาตุมุ่งหน้าถนนพระอาทิตย์
– ถนนพระอาทิตย์ เฉพาะฝั่งด้านถนนราชินีมุ่งหน้าถนนพระสุเมรุ

แต่เส้นทางดังกล่าวไม่เชื่อมโยงจนทำให้ผู้ต้องการใช้จักรยานสามารถใช้งานได้ซึ่งถึงเวลาที่จะจัดเส้นทางจักรยานเพื่อให้ผู้ต้องการใช้จักรยานสามารถใช้งานได้จริง

2010-World-Car-Free-Day-SGB-em
ที่มา :
http://musingsofanurbanist.blogspot.com/
2011/05/musing-urbanist-on-tour-guernsey.html

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เขียนไว้ในเว็บไซต์ของมูลนิธิโลกสีเขียว (http://www.greenworld.or.th) เรื่อง “ทางจักรยาน ณ กรุงเทพมหานคร ที่ทางของพาหนะปลอดมลพิษในเมือง” (25 ต.ค. 2554) รายงานถึงสถานการณ์ของผู้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ต้องพบกับอุปสรรคหลัก ๆ สรุปเป็น 3 ประเด็น คือ

              1. เหตุผลที่คนกรุงเทพมหานคร ไม่ใช้จักรยาน จากการสำรวจในวัน Car Free Day พบว่าเหตุผลหลัก คือ กรุงเทพมหานครไม่มีทางจักรยานที่ปลอดภัย ปัจจุบันผู้ขี่จักรยานทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต้องใช้ทางเดียวกันกับรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ และรถโดยสารประจำทาง

              2. กรุงเทพมหานครไม่มีนโยบายสร้างทางจักรยานที่ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ถึงแม้จะมีการสร้างทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี 2535 ก็ตาม

              3. เมื่อมีทางจักรยานแล้วยังขาดกฎหมายข้อบังคับควบคุมผู้ละเมิดการใช้ทางจักรยานและผู้ใช้จักรยานไม่ใช้ทางจักรยานที่จัดให้

และเล่าถึงการกล่าวของ นายอรวิทย์ เหมะจุฑา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง มองว่าสิ่งที่กรุงเทพมหานครและผู้ใช้จักรยานทุกคนสามารถทำได้ก็มีอยู่ ทั้งการรณรงค์ให้คนหันมาเห็นความสำคัญของ “จักรยาน” ให้มากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทั้งกิจกรรมอย่าง Car Free Day (ปีละ 1 ครั้ง) Car Free Sunday (เดือนละ 1 ครั้ง) ฯลฯ รวมทั้งการออกมาใช้ “จักรยาน” เป็นพาหนะในชีวิตประจำวันเท่าที่เป็นไปได้ เมื่อคนในสังคมคุ้นชินกับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ “จักรยาน” มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มกลายเป็นการ “เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน” ขึ้นมา

“บางทีความสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่เรื่องข้อบังคับ แต่อยู่ที่คนจะดูแลกันและกันในการจราจรอย่างไรมากกว่า เราตั้งใจสร้างกระแสขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อคนออกมาขี่จักรยานมากขึ้น เขาก็จะรู้สึกว่าเป็น ‘ทางจักรยาน’ เป็นสิ่งที่เขาควรได้รับสิทธิ แล้วพอเราไปร้องให้ออกข้อบังคับตามทีหลัง มันก็จะง่ายขึ้น ขณะที่ ‘ทางจักรยาน’ ยังไม่ออกข้อบังคับ เราก็ใช้วิธีการช่วยตีเส้นให้ก่อน แล้วให้สังคมช่วยดูแลกันเอง” หลังจากนี้ ยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานครจะเน้นเรื่องรณรงค์ และปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่เดิมให้ใช้การได้ดี และสำรวจเส้นทางลัดต่างๆ ที่จักรยานสามารถขี่ผ่านเข้าไปได้โดยไม่ต้องออกถนนใหญ่เสมอไป โดยประชาชนที่ใช้จักรยานสามารถแจ้งปัญหาที่เจอได้ที่เบอร์โทร 1555 เพื่อที่กรุงเทพมหานครจะแก้ไขให้ใช้ได้จริง นอกจากนี้ อรวิทย์ยังหวังว่าอนาคตเมื่อเครือข่ายรถไฟฟ้าที่ใช้ระยะเวลาราว 5 ปีสร้างเสร็จ ก็จะเอื้อให้เกิดการใช้จักรยานมากยิ่งขึ้นด้วย

“การขี่จักรยานจะมากขึ้น เมื่อเกิดขนส่งมวลชนเป็นเครือข่ายที่สมบูรณ์ ต่อไปจากบ้านมาสถานีรถไฟฟ้า ถ้ามันครอบคลุม เขาอาจไม่ต้องนั่งตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเปลี่ยนเป็นการขี่จักรยานสัก 1 กิโลเมตร มาจอดที่สถานี แล้วใช้บริการรถไฟฟ้าไปแทน รอให้รถไฟฟ้าเสร็จ เราจะเห็นว่ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบเลย เห็นจักรยานมากขึ้น เห็นคนเดินมากขึ้น” อรวิทย์ให้เหตุผลด้วยความมั่นใจ

บรรณานุกรม
22 กันยายน ” วันปลอดรถสากล หรือ World Car Free Day ” .  ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2556, จาก http://www.infoforthai.com/forum/index.php?topic=6428.0;wap2
สิรินาฏ ศิริสุนทร. (2555). Car Free Day ขอเส้นทางจักรยาน. ค้นเมื่อ 13 กันยายน 2556, จาก http://chaoprayanews.com/blog/article/2012/09/24/car-free-day-ขอเส้นทางจักรยาน/
ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ. (2554). “ทางจักรยาน ณ กรุงเทพมหานคร” ที่ทางของพาหนะปลอดมลพิษในเมือง . ค้นเมื่อ 13 กันยายน 2556,  จาก http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1516

ภาพประกอบ

22 September World Carfree Day “time for a change of scene”. ค้นเมื่อ 13 กันยายน 2555, จาก http://musingsofanurbanist.blogspot.com/

Car free day. ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2556,จาก http://www.go-green.ae/greenstory_view.php?storyid=1816

วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล. ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2556,  ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2556, จาก th.wikipedia.org/wiki/วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล

เดินทางร่วมกัน วันพาหนะส่วนรวม bangkok car free day 2013. ค้นเมื่อ 13 กันยายน 2555, จาก http://www.bangkokcarfree.com/

เรียบเรียงโดย เยาวลักษณ์ พัตรภักดิ์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด