วันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันเทคนิคการแพทย์ไทย” โดยผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2500 เป็นวันสำคัญของวิชาชีพ ซึ่งนับจนถึงวันนี้ “เทคนิคการแพทย์” ได้ทำหน้าที่ในระบบบริการสาธารณสุขไทยมาถึง 56 ปีแล้ว

นักเทคนิคการแพทย์ (อังกฤษ: Medical technologist หรือ Medical laboratory technologist หรือ Medical Laboratory Scientist) เป็นวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือ ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ไว้ว่าเป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ เพื่อให้ได้สิ่งตัวอย่างทางการแพทย์ และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย และการรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อประเมินภาวะสุขภาพ
การเรียนการสอนในสาขาเทคนิคการแพทย์นั้น ครอบคลุมสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้
- สาขาเคมีคลินิก (Clinical chemistry)
- สาขาจุลชีววิทยาคลินิก (Clinical microbiology)
- สาขาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก (Clinical Microscopy)
- สาขาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด (Transfusion medicine)
- สาขาปรสิตวิทยาทางการแพทย์ (Medical parasitology)
- สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก (Clinical immunology)
- สาขาโลหิตวิทยา (Hematology)
ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์มีคำนำหน้าชื่อ สกุล เช่นเดียวกับบุคลากรทางด้านสารธารณสุขอื่นๆ คือ นักเทคนิคการแพทย์ชาย ใช้อักษรย่อ ทนพ. ส่วนนักเทคนิคการแพทย์หญิงใช้อักษรย่อ ทนพญ. ความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์ อรรณพ สุภานันท์ นักเทคนิคการแพทย์ เขียนในคอลัมภ์ VIP Room ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เรื่อง “ค้นหาความลับหมอแล็บ โดยหมอแล็บ” ไว้ว่า เทคนิคการแพทย์ จะมีหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย เพื่อการวินิจฉัย การรักษา การติดตามและพยากรณ์โรคของผู้ป่วยร่วมกับแพทย์แล้ว ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการตรวจสุขภาพของประชาชนและการควบคุมป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ อาทิ โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก วัณโรค โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย สารเสพติด รวมถึงโรคไม่ติดเชื้อ เช่น เบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง เป็นต้น ตลอดจนการตรวจอาหาร สิ่งแวดล้อม การตรวจทางชีวอนามัย ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย
ภาระงานของเทคนิคการแพทย์ ในระบบบริการสุขภาพ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ยิ่งในร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 11 (ปี พ.ศ. 2555-2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การควบคุมโรค และคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เพื่อให้คนไทยแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา รวมถึงการเสริมสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานในทุกระดับ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพในทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่โครงสร้างประชากรมีแนวโน้มประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 ด้วยแล้ว การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกายจะมีมากขึ้น นั่นหมายความว่า เทคนิคการแพทย์จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน
วันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยที่มีสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์และบุคลากรด้านเทคนิคการแพทย์จะจัดงานนิทรรศการด้านเทคนิคการแพทย์ให้ความรู้และบริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน เช่น การตรวจเลือด การตรวจสุขภาพ เป็นต้น
บรรณานุกรม
อรรณพ สุภานันท์. (2555). “VIP Room : ค้นหาความลับหมอแล็บ โดยหมอแล็บ” . เดลินิวส์ออนไลน์ 29 มิ.ย. 2555. ค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2556, จาก http://www.dailynews.co.th/article/825/133257
อรรณพ สุภานันท์. 29 มิถุนายน วันเทคนิคการแพทย์ไทย เทคนิคการแพทย์-“หมอแล็บ” ที่ช่วยค้นหาโรคและความผิดปกติในร่างกายคุณมาแล้ว 55 ปี . ค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2556, จาก http://www.baanmaha.com/community/thread45869.html
“นักเทคนิคการแพทย์คือใคร? เงินเดือนเท่าไร?”. ค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2556, จาก http://board.postjung.com/688146.html
ภาพประกอบ
นักเทคนิคการแพทย์คือใคร? เงินเดือนเท่าไร?. ค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2556, http://board.postjung.com/688146.html
เรียบเรียงโดย เยาวลักษณ์ พัตรภักดิ์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด