
สุขบัญญัติ หมายถึง ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น การส่งเสริมสุขบัญญัติจึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างเสริม และปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้
ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนไป จะเห็นได้ว่า คนไทยประสบปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ติดต่อมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ในขณะที่ปัญหาโรคติดต่อที่สำคัญกลับกลายพันธุ์รักษาให้หายขาดได้ยากขึ้น อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ล่าสุดข้อมูลสถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2540 ระบุว่าคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากเป็นอันดับหนึ่ง
ดร. ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากเป้าหมายของแผนพัฒนาการสาธารณสุข ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2545) สาขาพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และการพึ่งพาตนเองด้านสาธารณสุข ทำให้กองสุขศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงธารณสุขร่วมกับนักวิชาการด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ จัดทำเป็นข้อกำหนดทางด้านสุขภาพที่จำเป็น และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดี เรียกว่า สุขบัญญัติแห่งชาติ มีทั้งหมด 10 ประการ ได้แก่
- ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
- อาบน้ำให้สะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ
- ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
- ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้อบอุ่นเพียงพอ
- จัดเก็บของใช้ให้เป็นระเบียบ
- รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี
- แปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า และก่อนนอน
- เลือกใช้ยาสีฟันและฟลูออไรด์
- หลีกเลี่ยงการกินลูกอม ลูกกวาด ท็อฟฟี่ หรือขนมหวานเหนียว
- ตรวจสุขภาพในช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ห้ามใช้ฟันกัดขบของแข็ง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังการเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร
- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย
- กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
- เลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงถึงหลัก 3 ป คือ ประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัด
- ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และใช้เครื่องปรุงรสที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงหลัก 3 ส คือ สงวนคุณค่า สุกเสมอ สะอาดปลอดภัย
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และกินให้ถูกหลักโภชนาการทุกวัน
- กินอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารรสจัด ของหมักดอง หรือ อาหารใส่สีฉูดฉาด
- ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพย์ติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ไม่เสพสารเสพย์ติดทุกประเภท
- งดเล่นการพนันทุกชนิด
- งดการสำส่อนทางเพศ
- สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
- ทุกคนในครอบครัว ช่วยกันทำงานบ้าน
- ปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
- เผื่อแผ่น้ำใจให้กันและกัน
- ทำบุญ และได้ทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
- ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
- ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้า เตาแก๊ส ของมีคม จุดธูปเทียนบูชาพระ และไม้ขีดไฟ เป็นต้น
- ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยจากการจราจรทางบก ทางน้ำ ป้องกันอันตรายจากโรงฝึกงาน ห้องปฏิบัติการ เขตก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการชุมนุมห้อมล้อม ในขณะเกิดอุบัติภัย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
- พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ
- จัดสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน และที่ทำงานให้น่าอยู่ หรือน่าทำงาน
- มองโลกในแง่ดี ให้อภัย และยอมรับในข้อบกพร่องของคนอื่น
- เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ ควรหาทางผ่อนคลาย
- มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม
- มีการกำจัดขยะในบ้าน และทิ้งขยะในที่รองรับ
- หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟม พลาสติก และสเปรย์ เป็นต้น
- มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
- มีการกำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือนและโรงเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้อง
- ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
- อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชน ป่า น้ำ และสัตว์ป่า เป็นต้น
การปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับสร้างเสริม และปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับประชาชนตามนโยบายการสุขศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปยึดเป็นแนวทางปฏิบัติขั้นพื้นฐาน เพื่อการมีสุขภาพอนามัยที่ดี รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 28 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นการสร้างสุขบัญญัติที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ
บรรณานุกรม
วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543.
ภาพจาก กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ http://www.thaihed.com/
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด