ประเพณีทอดกฐินในประเทศไทย
การทอดกฐินในประเทศไทย เป็นทั้งประเพณีและวิถีไทยในงานบุญ นับตั้งแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนคนไทยทุกระดับชั้น ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถึงสามัญชน ต่างก็ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมีการทอดกฐินหลังจากเทศกาลออกพรรษาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นทอดกฐินทางบก (สถลมารค) หรือทอดกฐินทางน้ำ (ชลมารค) สุดแต่สถานที่ตั้งของวัดที่จะจัดงานการทอดกฐินมิใช่เป็นเพียงประเพณีที่เกี่ยวเนื่องด้วยเท่านั้น หากยังเป็นประเพณีนิยมที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนไทย ที่มักจะผสมผสานประเพณี พิธีกรรม เข้ากับความบันเทิงอย่างเหมาะสมกลมกลืน จนกลายเป็น “เอกอัตลักษณ์” หรือบุคลิกลักษณะเฉพาะประจำชนชาติไทย
การทอดกฐิน นอกจากจะได้ทำบุญกุศลด้วยการแสดงออกซึ่งความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจประกอบกิจพิธีทางศาสนาแล้วยังเป็นโอกาสที่จะได้เดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างถิ่น หรือต่างบ้านต่างเมือง ได้ร่วมเฉลิมฉลองในการสมโภชองค์กฐิน ทั้งได้รับความสนุกสนานจากการเที่ยวชมมหรสพต่าง ๆ และที่สำคัญเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบปะกัน ซึ่งอาจจะนำพาไปสู่การแต่งงานในอนาคตอีกด้วย
ในสมัยสุโขทัย การทอดกฐินเป็นเพียงพุทธศาสนประเพณีเดียวที่มีปรากฏอยู่ใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง โดยกล่าวว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว พ่อขุนรามคำแหงพร้อมลูกบ้านลูกเมืองทั้งชายหญิงต่างพากันไปทำบุญกรานกฐินถึงอรัญญิก ซึ่งอยู่ห่างไกลตัวเมืองออกไป (ปัจจุบันคือวัดสะพานหิน) ทั้งยังได้กล่าวถึงบริวารกฐินและขบวนแห่กฐิน ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยเสียงประโคมดุริยดนตรี ปี่พาทย์ฆ้องกลอง อย่างสนุกสนานของชาวเมืองสุโขทัย
ดังเช่น พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนางลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนนอน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้าเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลองด้วยเสียงพาด เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ
จาก ชุมชนพระบรมราชาธิบาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงประเพณีพระราชทานพระกฐินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาลต่อ ๆ มา(จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4) ว่า พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรืออาจจะพระราชทานให้บุคคลอื่น เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงไปทอดถวายแทนก็ได้
ในโครงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วยพระราชพิธีในรอบ 12 เดือนพระราชพิธีในเดือน 11 กล่าวถึงพระราชพิธีถวายผ้ากฐิน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ได้ทรงพรรณนาถึงกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งบรรดาประชาชนได้ไปเฝ้ารับเสด็จและติดตามดูขบวนแห่กฐินหลวงอย่างตื่นตาตื่นใจ
ชลมารคพยุหยาตราย้าย | เป็นขบวน |
เรือรูปสัตว์จำนวน | คู่ดั้ง |
เรือแซอีกเรือญวน | แจวคู่ น่าเฮย |
เรือกิ่งที่นั่งตั้ง | คู่ไท้ทรงรองฯ |
พระดำเนินสู่โบสถ์ | นมัสการ |
ทรงมอบจีวรทาน | นอบน้อม |
สงฆ์สมมุติคู่สวดกราญ | เสร็จกิจ แล้วแฮ |
ถวายเครื่องบริขารพร้อม | แจกทั้งไตรปีฯ |
และ
ดลแรมแปดค่ำตั้ง | ตามจา รีตเฮย |
เสด็จพยุหยาตราครา | คลาสเต้า |
สถลมารค กำหนดอา | วาศใหญ่ แลแฮ |
ถวายกฐินแด่เจ้า | ภิกษุรั้งแรมฝนฯ |
ดูแห่ดูสุดสิ้น | เสร็จขบวน ดูนา |
ยังอยากดูสู้ชวน | พวกพ้อง |
ไปดูแห่งใดควร | และนั่ง ดูแฮ |
ดูไม่จบดูจ้อง | เคลื่อนแล้วดูตามฯ |
เรือพระที่นั่งสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทอดผ้าพระกฐินทางชลมารค
(1) กระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในจินตนาการของศิลปินชาวฝรั่งเศส แสดงออกถึงความมโหฬารของขบวนเรือในพระราชพิธี |
|
เรือพระที่นั่งนาราณย์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 เนื่องในวโรกาสที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัยราชสมบัติครบ 50 ปี แทนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณในสมัยรัชกาลที่ 4 นับเป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลรัชกาลที่ 9 |
|
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นพระเรือพระที่นั่งประเภทเรือกิ่ง ใช้สำหรับเป็นเรือที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ |
|
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือพระที่นั่งประเภทเรือกิ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนลำเดิมซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 |
|
(1) กระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค
เดิมคือการยาตรากระบวนทัพเพื่อการศึกสงคราม อันประกอบด้วยริ้วขบวนของเหล่าทหารหาญผู้เชี่ยวชาญการศึก และพร้อมพรั่งด้วยระเบียบวินัยอันเข้มแข็ง สำแดงถึงแสงยานุภาพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรแห่งองค์พระมหากษัตริย์สยามในการปกป้องอธิปไตยของแผ่นดิน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความจงรักภักดีของเหล่าทหารหาญ บรรดาข้าราชบริพารต่อองค์พระประมุขและบ้านเมือง ในยามว่างเว้นจากการศึกสงคราม เรือรบเหล่านี้ถูกปรับเป็นกระบวนเรือเสด็จพยุหยาตราชลมารค อันประกอบด้วยเรือและฝีพายเป็นจำนวนมากในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ได้แก่
พระราชพิธีราชาภิเษก เพื่อสถาปนาความเป็นกษัตริยาธิราชโดยสมบูรณ์
การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐินตามอารามหลวงริมแม่น้ำ
พระราชพิธีจองเปรียง ในเดือนสิบสอง เป็นอีกพระราชประเพณีหนึ่งที่พระมหากษ้ตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดสำคัญริมน้ำ พร้อมกับมีการลอยพระประทีปเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งนัมมทานที และบูชาเจดีย์จุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระราชพิธีไล่น้ำ ในเดือนอ้ายอันเป็นฤดูน้ำหลาก ทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ไปทรงไล่น้ำโดยการโบกพัชนี (พัด) ด้วยพระบารมีและอำนาจธรรมของพระองค์ ไล่น้ำที่กำลังท่วมทำความเสียหายต่อทุ่งนาให้ลดลง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าแผ่นดิน
พิธีสำคัญของบ้านเมืองในบางกรณี เช่น พิธีรับพระราชสาส์นและราชทูต
สารบัญ |
|
บรรณานุกรม
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2539). เรือพระราชพิธี= Royal barges. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ประเสริฐ ณ นคร ; ชวนพิศ อิฐรัตน์, บรรณาธิการ. (2546). โคลงนิราศหริภุญชัย กรุงทพฯ : พัฒนาศึกษา.
สมชัย ใจดี; ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. (2531). ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช.
สุเนตร ชุตินธรานนท์, บรรณาธิการ. (2545). เรือ : วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา = Boats and ships : The river-based culture of Siam. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้ง.
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ม.ป.ป.). เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙. พระลาน : phralan.in.th. https://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=938
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ม.ป.ป.). เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช. พระลาน : phralan.in.th. https://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=935
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ม.ป.ป.). เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ . พระลาน : phralan.in.th. https://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=939
ภาพประกอบ
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2539). เรือพระราชพิธี= Royal barges. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ประเสริฐ ณ นคร ; ชวนพิศ อิฐรัตน์, บรรณาธิการ. 2546. โคลงนิราศหริภุญชัย กรุงทพฯ : พัฒนาศึกษา.
สุเนตร ชุตินธรานนท์, บรรณาธิการ. 2545. เรือ : วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา = Boats and ships : The river-based culture of Siam. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้ง.
“ประเพณีทอดกฐิน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.watwashington.org
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ม.ป.ป.). เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช. พระลาน : phralan.in.th. https://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=935
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
ปรับปรุงข้อมูลโดย : นางเยาวลักษณ์ เทมเพิลมันน์ นักเอกสารสนเทศชำนาญการ พัฒนาสารสนเทศบนเครือข่าย หน่วยเทคโนโลยสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด (22 พ.ย. 2567)