ฮารีรายอเป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลกวันหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นวันรื่นเริงประจำปีซึ่งชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้องเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน ช่วงเวลาในรอบ 1 ปีของชาวมุสลิม มีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง คือ
1. อีดิลฟิตรี ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาล ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวชหลังจากได้ถือศีลอดตลอดระยะเวลา 1 เดือน นิยมเรียกวันนี้ว่า “วันออกบวช” หรือ “รายาปอซอ“ หรือ “รายาฟิตเราะห์” ในวันอิดิลฟิตรีเป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม เป็นวันแห่งรางวัล และการตอบแทนสำหรับผู้ผ่านการทดสอบประจำปีในเดือนรอมมาฎอนด้วยการบังคับตัวเอง จากการลด ละ การกินดื่ม กิเลสตัณหา และได้ละหมาดตะรอวีหฺเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มตลอดค่ำคืนของเดือนรอมมาฎอน ในวันอิดิลฟิตรีมุสลิมทุกคนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำการอาบน้ำสุนัต และไปละหมาดอิดิลฟิตรีที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน ชาวมุสลิมนิยมใส่เสื้อผ้าของใหม่ๆ สะอาด สวยงาม มีกลิ่นหอม ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซากาตฟิตเราะห์ วันอิดิลฟิตรีถือได้ว่ามุสลิมทุกคนมีความรื่นเริง สนุกสนาน เพราะในวันนี้ได้ไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ไปเคารพผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำความสะอาดสุสาน นำขนมไปแจกจ่ายให้กับเด็กๆ เพื่อนบ้าน เลี้ยงอาหารคนในหมู่บ้าน สำหรับอาหารที่นิยมทำในวันฮารีรายอ คือ ตูปะ (ข้าวเหนียวต้ม)

2. อีดิลอัฏฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะห หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งถัดจากวันอารอฟะฮ และเป็นวันส่งท้ายของสิบวันแรกในเดือนซูลฮิจญะ มีลักษณะคล้ายกับวันตรุษอิดิลฟิตรี แต่มีข้อแตกต่างตรงที่มีการทำกุรบาน เป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมุสลิมทั่วโลกได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ อันเป็นวันริเริ่มประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนผู้ไม่ได้ไปก็ให้ไปประกอบพิธีละหมาดอิดิลอัฏฮายังมัสยิดประจำหมู่บ้าน ในวันอิดิลอัฎฮาจะมีการทำกุรบาน โดยมีการเชือดสัตว์กุรบาน ได้แก่ อูฐ วัว แพะ แล้วนำเนื้อที่เชือดแล้วมาบริจาคให้กับผู้ยากจน หรือทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้านก็ได้ และในวันนี้ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ออกฮัจญ์ และเตรียมตัวเดินทางกลับ

บรรยากาศในวันฮารีรายอของชาวมุสลิมทั่วโลกเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงความสุขเต็มเปี่ยม สิ่งที่น่าประทับใจในวันนี้ คือ บรรดาลูกๆ ขออภัยต่อพ่อแม่ บรรดาภรรยาขออภัยต่อสามี และเพื่อนบ้านขออภัยต่อกันในเรื่องผิดพ้องหมองใจกันตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และมีการแสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้มทั้งสองของพ่อแม่ แสดงถึงความรักความเข้าใจที่มีต่อกัน ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นต่างก็กลับมารวมตัวกันที่บ้าน เพื่อได้อยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว ทุกครอบครัวมีความอบอุ่นเต็มไปด้วยบรรดาลูกๆ หลานๆ กลับบ้านโดยพร้อมเพรียงกัน

บรรณานุกรม
บุญเสริม ฤทธาภิรมย์. (2555). วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวสตูล. สงขลา : พิมพการ.
กระปุกดอทคอม. (2555). วันฮาารีรายอ วันสำคัญของศาสนาอิสลาม. ค้นเมื่อ 19 มกราคม 2559. จาก http://hilight.kapook.com/view/75183
เดลินิวส์. (2559). วันอีด-ฮารีรายอ” เทศกาลงดงามในศาสนาอิสลาม. ค้นเมื่อ 19
มกราคม 2559. จาก http://www.dailynews.co.th/article/255040
ภาพประกอบ
พาตีฮะ เจ๊ะมูดอ. (2557, 27 กรกฎาคม). ภาพรอยยิ้มฮารีรายอ.
ฮาฟิส สาและ. (2557, 27 กรกฎาคม). ภาพอภัยต่อกัน.
ประไพ ทองเชิญ. (2011). กอดดาวโลกไว้ในขนมบ้านบ้าน Action Now. ค้นเมื่อ 26 มกราคม 2559. จาก http://www.bansuanporpeang.com/node/11243
MDC. (2557). เทศกาล ฮารีรายออิดิลฟิตรี้ ประเทศมาเลซีย. ค้นเมื่อ 25 มกราคม 2559, จาก http://www.dmc.tv/pages
เรียบเรียงโดย พาตีฮะ เจ๊ะมูดอ นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภาคการศึกษา 2/2558