ฤดูกาล (Seasons)

ฤดูกาล (Seasons)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลคือ “ดวงอาทิตย์” แหล่งพลังงานความร้อนสำคัญที่ของโลกที่ก่อให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ ทางบรรยากาศมากมาย ฤดูกาลต่าง ๆ ที่เกิดบนพื้นโลกมีต้นเหตุมาจากมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียง 23.5 องศา โดยจะหันขั้วโลกเหนือและใต้เข้าหาดวงอาทิตย์สลับกัน ทำให้พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ตกลงบนผิวพื้นโลกในรอบปีในแต่ละพื้นที่ตำแหน่งต่าง ๆ บนโลกไม่เหมือนกันและระยะเวลาไม่เท่ากัน โดยในฤดูร้อนมักจะมีช่วงเวลากลางวันยาวนานกว่าปกติ พระอาทิตย์จะขึ้นไวและตกช้า ทำให้เราได้อยู่กับแสงอาทิตย์นานกว่าฤดูกาลอื่น ในขณะที่ฤดูหนาวพระอาทิตย์จะขึ้นมาอย่างเฉื่อยชาตกก่อนเวลาอันควร กลางคืนจึงยาวนานกว่าฤดูกาลอื่น ๆ

ฤดูกาลในโลก แบ่งออกตามโซนอากาศเป็น 2 เขตหลักคือ

  • โซนเขตหนาวกับเขตอบอุ่นและแถบขั้วโลก มี 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบ้ไม้ผลิ  ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว
  • ส่วนบริเวณโซนเขตร้อน (tropical region) หรือบริเวณที่อยู่ใกล้ ๆ เส้นศูนย์สูตร มี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว

4 ฤดูกาลในโลก

ฤดูใบไม้ผลิ (spring) / วสันตฤดู

บรรยากาศฤดูใบไม้ผลิ
ที่มา : http://www.panoramio.com
/photo/51851344

แกนโลกจะเอียงเพิ่มขึ้นทำให้แสงของดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับเขตอบอุ่นและเขตหนาว ทำให้กลางวันยาวกว่ากลางคืนในเขตนั้น เริ่มต้น 21 มีนาคม และสิ้นสุด 20 มิถุนายนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้น 21 กันยายน สิ้นสุด 20 ธันวาคมในซีกโลกใต้

ธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิจะเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ผลิดอก ออกใบงดงาม เป็นช่วงเวลาแห่งความสดชื่นเบิกบานเป็นฤดูที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน ที่มีชื่อเสียงมากคือในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่งานเทศกาลชมดอกซากุระที่เรียกว่า “ฮานามิ” (Hanami : ชมดอกไม้) ผู้คนจะมีความสุขกับการชมดอกซากุระที่สวยงาม พร้อมนั่งจิบเหล้าสาเกญี่ปุ่น หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ เป็นเทศกาลที่แออัดไปด้วยผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืนที่พากันมาเพื่อชื่นชมความงามของซากุระ เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

บรรยากาศฤดูร้อน
ที่มา : http://pobya.com/summer-seasons-wallpaper.html

ฤดูร้อน (summer) / คิมหันตฤดู

เป็นฤดูที่มีอากาศร้อนที่สุดในปี โดยทั่วไปจะมีความร้อน และชื้นเป็นอย่างมาก โดยในตอนกลางวัน และเวลาตอนกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ฤดูร้อนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวของซีกโลกเหนือจะอยู่ระหว่างฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง โดยทั่วไปในซีกโลกเหนือจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 21 มิถุนายน ถึง 21 กันยายน และเริ่มต้น 21 ธันวาคม สิ้นสุด 20 มีนาคม ในซีกโลกใต้ ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลายอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ผู้คนหลีกหนีจากอากาศของฤดูร้อน ไปตั้งแคมป์ เดินป่าหรือเที่ยวทะเล และเป็นช่วงที่เหมาะกับการทำเกษตร เพราะมีความชุ่มชื่นของฝนตกเป็นระยะ ๆ

ฤดูใบไม้ร่วง (fall) / สารทฤดู

ที่มา:autumn-pictures.com
บรรยากาศฤดูใบไม้ร่วง ที่มา : http://www.autumn-pictures.com

อยู่ระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว เริ่มต้น 22 กันยายน สิ้นสุด 20 ธันวาคมในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้น 21 มีนาคม และสิ้นสุดลง 20 มิถุนายนในซีกโลกใต้ ใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงจะเปลี่ยนสี เนื่องมาจากในฤดูร้อนที่มีกลางวันยาวนานแต่กลางคืนนั้นสั้น มีแสงแดดและดินที่อุดมด้วยน้ำเพียงพอสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้ามา อากาศจะเริ่มเย็นลง กลางวันจะสั้นลงและกลางคืนจะยาวขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พืชทราบว่าฤดูกาลกำลังจะเปลี่ยน และเป็นสัญญาณเตือนให้พืชเตรียมตัวสำหรับสภาพอากาศอันเลวร้ายและหนาวจัดของฤดูหนาวที่พืชไม่มีน้ำและแสงเพียงพอสำหรับการสร้างอาหารอีกต่อไป เพื่อความอยู่รอดพืชจึงต้องสลัดใบของมันทิ้งไปเพื่อลดการใช้พลังงาน นำไปสู่การเปลี่ยนสีของใบไม้

บรรยากาศฤดูหนาว ที่มา : http://world.kapook.com/pin
/50f3d2ee38217a1f54000006

ฤดูหนาว (winter) / เหมันตฤดู 

เป็นฤดูกาลที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดในรอบปีระยะเวลาเริ่มต้น 21 ธันวาคม ถึง 20 มีนาคม ในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้น 21 มิถุนายน สิ้นสุด 20 กันยายน ในซีกโลกใต้ในซีกโลกใต้ ในประเทศเขตอบอุ่นสภาพภูมิอากาศในฤดูหนาวจะแห้ง และท้องฟ้าโดยทั่วไปมักจะเป็นสีฟ้า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยสีขาวโพลนของหิมะ ในแถบประเทศที่มีภูเขาสูงจะมีหิมะปกคลุมภูเขาอยู่ขาวนวล แม่น้ำลำคลอง และทะเลสาป บางแห่งจะกลายเป็นน้ำแข็ง กิจกรรมที่นิยมในฤดูนี้ ได้แก่ เล่นสกี หรือเลื่อนไถลสโนว์บอร์ดลงไปตามเนินหิมะ และเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของผู้คนทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ที่เต็มไปด้วยการประดับประดาไฟ ต้นคริสต์มาส การแต่งกาย

3 ฤดูกาลในประเทศไทย

ฤดูร้อน 

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีท้องฟ้าแจ่มใสที่สุดแต่มีอุณภูมิสูงที่สุด น้ำในแม่น้ำบางแห่งลดลงและแห้งขอดและมีอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป และจะร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน แม้ว่าโดยทั่วไปอากาศจะร้อนและแห้งแล้ง แต่ในบางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมากับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้เรียกว่า “พายุฤดูร้อน”

วันสงกรานต์ ที่มา : http://xn--22c8amcebfk1a1ablffaf5t5ch4sh5g
.blogspot.com

อากาศในฤดูร้อนเหมาะแก่การพักผ่อนตากอากาศแถบชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่าง ๆ โดยเฉพาะอ่าวไทย ในช่วงหน้าร้อนจึงมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแถบบริเวณชายฝั่งอยู่เป็นจำนวนมากกว่าฤดูอื่น ๆ

ฤดูร้อนมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมากในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี เนื่องจากคนไทยสมัยก่อนยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติกันว่าขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ต้องเกิดในฤดูร้อนเพราะภูมิภาคของเราเป็นเขตร้อน ดังนั้น วันสำคัญอย่างวันขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์จึงจัดในฤดูร้อน อันเนื่องมาจากคนไทยสมัยก่อนนั้นปีหนึ่งทำนาเพียงครั้งเดียว จะเกี่ยวข้าวอยู่ประมาณเดือน 3 พอเข้าเดือน 4 จึงเกี่ยวข้าวเสร็จ พอขายข้าวแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ มีข้าว ปลา อาหาร อุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับการนึกถึงเมืองฝรั่งในยุโรปหรืออเมริกา ภูมิภาคเป็นเขตหนาว ขนบธรรมเนียมประเพณีและเทศกาลต่าง ๆ จึงจัดในฤดูหนาว มีเรื่องเกี่ยวกับหิมะหรือเรื่องหนาว ๆ

ฤดูฝน 

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม (ประมาณ 5 เดือน) ฤดูนี้จะเริ่มเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกโดยทั่วไป แบ่งออกเป็นช่วงเวลา ดังนี้

  • ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงปลายเดือนมิถุนายนจะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง เรียกว่า “ฝนทิ้งช่วง” ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจนานนับเดือน
  • ในเดือนกรกฎาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
  • ช่วงเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในเขตภูมิภาคตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง ส่วนในภาคใต้จะมีฝนตกชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และอาจตกหนักมากจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย
  • ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว มีอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็น หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง เรียกว่า “ระยะเปลี่ยนจากฤดูฝนไปฤดูหนาว”
การทำนา ที่มา : http://www.yasothon.info/q_a_ypoc/
list_topic.php?id=1180945095

ในฤดูฝนของประเทศไทยมีประเพณีที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม คือ วันเข้าพรรษา และบุญบั้งไฟ เนื่องจากฤดูฝนเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเพาะปลูก

วันเข้าพรรษา มีที่มาจากสมัยพุทธกาล การปฏิบัติกิจของสงฆ์ในช่วงฤดูฝนนั้นมีความยากลำบาก ทำให้มีพระสงฆ์ยังเดินไปเหยียบย่ำพืชผัก หรือผลผลิตของชาวบ้านที่และกำลังผลิดอกออกผลได้รับความเสียหาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดให้ฤดูฝนเป็นฤดูสำหรับการหยุดพักการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ และเป็นช่วงนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูกาลทั้ง 3 เดือน เรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า “บวชเอาพรรษา”

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการบูชาเทพยาดาอารักษ์หลักบ้านหลักเมือง เพื่อให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ได้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์

ฤดูหนาว 

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะที่ขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ตำแหน่งลำแสงของดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวพื้นโลก ขณะเที่ยงวันจะอยู่ทางซีกโลกใต้ ทำให้ลำแสงที่ตกกระทบกับพื้นที่ในประเทศไทยเป็นลำแสงเฉียงตลอดเวลา ทำให้อากาศในประเทศไทยหนาวเย็นโดยทั่วไป เว้นแต่ในภาคใต้จะไม่ค่อยหนาวนัก และบริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้จะมีฝนตกชุกในช่วงนี้

อุทยานหน้าหนาว
ที่มา : http://www.travel.in.th/review/variety
/10-สถานที่ท่องเที่ยวหน้าหนาวในประเทศไทย

ช่วงฤดูหนาวในประเทศไทย ประชาชนจะนิยมท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือ บริเวณแถบที่สูงและภูเขา เช่น เที่ยวชมทิวทัศน์บนดอยต่าง ๆ ชมอุทยานพรรณไม้ฤดูหนาว มีทะเลหมอกท่ามกลางอากาศหนาวเย็น หากอุณภูมิต่ำมาก ๆ ถึง 1 องศาเซสเซียสจะมีโอกาสได้ชมแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีการจัดสถานที่ท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นที่นิยมมาก นอกจากนี้ยังมีประเพณีของไทยที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศหนาวเย็นในช่วงนี้ด้วย อาทิเช่น

ประเพณีตีคลีไฟ ในช่วงฤดูหนาวหลังออกพรรษา ใช้หลักการเล่นคล้ายคลึงกับการเล่นฟุตบอล คือ ใช้ไม้ตีลูกคลีส่งต่อ ๆ กัน และพยายามตีให้เข้าประตูฝ่ายตรงข้าม

ประเพณีให้ทานไฟ จัดขึ้นโดยชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่น และแบ่งปันให้แก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง และมีการทำขนมที่ปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น

บรรณานุกรม 

กวินทร์ คทวณิช, แปล. (2552). Scholastic สารานุกรมสำหรับเยาวชนกรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น.

รุ่งโรจน์ จุกมงคลและปณต ไกรโรจนานันท์. (2545). อุทยาน 3 ฤดู. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2545.

ความรู้อุตุนิยมวิทยา, ฤดูกาลของโลก. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=23

วันสงกรานต์และการตั้งประเพณีไทย. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/apr47/c6.htm

ประเพณีท้องถิ่นใต้, ประเพณีให้ทานไฟ. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://www.openbase.in.th/node/7355

ภาพประกอบ

4 seasons. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก :http://www.bankpics.com/seasons/8083.html

บรรยากาศฤดูใบไม้ผลิ. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://www.panoramio.com/photo/51851344

บรรยากาศฤดูร้อน. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://pobya.com/summer-seasons-wallpaper.html

บรรยากาศฤดูใบไม้ร่วง. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://www.autumn-pictures.com

บรรยากาศฤดูหนาว. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://world.kapook.com/pin/50f3d2ee38217a1f54000006

วันสงกรานต์. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://xn--22c8amcebfk1a1ablffaf5t5ch4sh5g.blogspot.com

การทำนา. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556, จาก http://www.yasothon.info/q_a_ypoc/list_topic.php?id=1180945095

อุทยานหน้าหนาว. ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556,จาก  http://www.travel.in.th/review/variety/10-สถานที่ท่องเที่ยวหน้าหนาวในประเทศไทย

เรียบเรียงโดย ภัทราพร วงษ์น้อย นักศึกษาฝึกงาน  มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ เอกสารสนเทศศึกษา ภาคการศึกษา 1/2556