
http://www.thungyai.org
ช้างไทยในสงครามประวัติศาสตร์
ในสมัยโบราณมีการใช้ช้างในการทำสงคราม ซึ่งถือว่าช้างนั้นเป็นกำลังสำคัญในการสู้ศึกเพื่อเอกราชของไทยเลยก็ว่าได้การใช้ช้างในการทำสงครามนั้น ได้มีการกล่าววิธีการต่อสู้เอาไว้ว่าพระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพก็จะใช้อาวุธของ้าวต่อสู้กันบนหลังช้างส่วนช้างที่ใช้ต่อสู้นั้นก็จะต่อสู้กับช้างของศัตรูช้างผู้ใดที่มีกำลังมากและสามารถสู้งัดช้างของศัตรู ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะจะทำให้แม่ทัพนั้นสามารถใช้ของ้าวฟันคู่ต่อสู้ได้อย่างสะดวกและได้ชัยชนะซึ่งการรับชัยชนะนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของช้างและแม่ทัพด้วย ช้างศึกในสมัยโบราณนั้นมีมากมายหลายรัชสมัยโดยเริ่มจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยนี้พระองค์ได้รับช้างเผือกมาตัวหนึ่งซึ่งถือเป็นช้างเผือกแรกของกรุงศรีอยุธยา เลยก็ว่าได้จนพระองค์ได้รับพระราชสมัญญาอีกพระนามหนึ่งว่า “พระเจ้าช้างเผือกและในสมัยพระมหาจักรพรรดิทรงใช้ช้างต่อสู้กับกองทัพของพม่าและได้เกิดตำนานพระศรีสุริโยทัยขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีการรบบนหลังช้างที่สำคัญกับคนไทยมากที่สุดซึ่งถือเป็นการกู้เอกราชให้กับประเทศไทยเลยก็ว่าได้นั่นคือในสมัยสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชซึ่งเป็นการรบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีโดยช้างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการทำศึกครั้งนี้ คือเจ้าพระยาไชยานุภาพและเมื่อได้รับชัยชนะก็ได้สมญานามว่า เจ้าพระยาปราบหงสาส่วนช้างที่พระสมเด็จพระเอกาทศรถผู้น้องทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร และต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้งที่ประชาชนเกิดความแตกแยกข้าศึกเข้าโจมตี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นกำลังรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่นโดยทรงใช้ช้างในการรบด้วยเช่นกัน
ช้างไทยในพระราชพิธี

http://www.thailandelephant.org
ประเทศไทยเป็นชาติหนึ่งที่มีประเพณีที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลซึ่งในประเพณีเหล่านี้ก็เกิดจากความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยในประเพณี หรือพระราชพิธีต่างๆนี้ก็ได้มีการนำช้างเข้ามาประกอบพิธีเพื่อเป็นมิ่งมงคล ในประเพณีของไทยแต่เดิมช้างเผือกเป็นช้างที่สำคัญในงานพระราชพิธี ซึ่งพระราชพิธีเหล่านี้ได้แก่ งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชพิธีฉัตรมงคล การนำช้างเผือกขึ้นยืนที่แท่นเกยช้างด้านตะวันตกพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบ เกียรติยศจะต้องแต่งเครื่องคชาภรณ์ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการปรากฏถึงการนำช้างพระที่นั่งยืนแท่นในการรับแขกเมืองไว้ในพระราชพงศาวดารดาวกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ในรัชกาลที่ 4 ที่กล่าวถึงในพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงช้างพระที่นั่งชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพพร้อมกันนี้ยังมีปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 กล่าวถึง การนำพระวิมลรัตนกิริณีช้างเผือกในรัชกาลที่ 4 แต่งด้วยเครื่องคชาภรณ์ออกยืนแท่นพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการขอความสมบูรณ์ให้กับต้นข้าวพืชพันธุ์ของประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ช้างที่นำมาใช้งานในพระราชพิธีเช่นนี้จะต้องมีการสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญก่อนซึ่งพระราชพิธีนี้แบ่งออกเป็น 2 ภร คือพิธีสมโภชขึ้นระวางพระราชทานนามช้าง งานสมโภชช้างนั้นจะจัดเป็นเวลาเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละสมัยซึ่งในรัชกาลที่ 9 มีงาน 2 วัน

ช้างไทยในจิตรกรรมทางพระพุทธศาสนา
จิตรกรรมภาพวาดของไทยที่ปรากฏในทุกสถานที่ที่สำคัญของเมืองไทยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนาความเชื่อที่ผู้คนในแต่ละพื้นที่มี งานจิตรกรรมส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เริ่มจากเรื่องราวของพระนางสิริมหามายาสุบินนิมิตเห็นพระเศวตกุญชร ซึ่งเป็นช้างเผือกขาวในเรื่องนี้ก็ได้มีการทำจิตรกรรมฝาผนังเกิดขึ้นและในประเทศไทยได้ปรากฏอยู่ตามโบราณสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอาทิเช่นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระนคร ในอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ที่หอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเหตุการณ์ของช้างชื่อนาฬาคิรี ช้างคิรีเมขล์ ช้างปาลิไลยะ
ช้างนาฬาคิรี เป็นช้างที่มีรูปสูงใหญ่ วิ่งเร็ว ดุร้าย เป็นช้างที่พระเทวทัตใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายพระพุทธเจ้าแต่เมื่อนาฬาคิรีมาเข้าใกล้พระพุทธเจ้าเพื่อทำร้ายแต่กลับกลาย เป็นว่าพระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาจนนาฬาคิรีสงบจิตรกรรมในเรื่องนี้ได้มีที่จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ในอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านจันเสน นครสวรรค์ จิตรกรรมฝาผนังในอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านจันเสน นครสวรรค์ แสดงภาพพระพุทธเจ้าทรมานช้างนาฬาคีรี

ช้างคิรีเมขล์ เป็นช้างสูงใหญ่มีกำลังมากเป็นช้างพาหนะของพญามารที่แปลงกายเพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า จิตรกรรมในเรื่องนี้มีอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ในอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ในวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ในอุโบสถวัดดุสิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในอุโบสถวัดหนองสูง จังหวัดสระบุรี ในอุโบสถวัดเทพอุปการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดหนองยาวสูง สระบุรี แสดงภาพมารผจญ

ช้างปาลิไลยกะเป็นช้างที่รับใช้พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่หมู่บ้านปาลิไลยกะ จิตรกรรมในเรื่องนี้มีอยู่ในอุโบสถวัดจรรย์และในอุโบสถวัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดจรรย์ จังหวัดสพรรณบุรี แสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับ ณ ป่ารักขิตวัน มีช้างปาเลไลย์และลิงเฝ้าปรนนิบัติ


ช้างในวรรณคดีและวรรณกรรมไทย
- ช้างเอราวัณ
เป็นช้างที่มีชื่ออยู่ในวรรณคดีบาลีกล่าวกันว่าเป็นช้างพาหนะของพระอินทร์
เรื่องราวของช้างเอราวัณที่ได้ พูดถึงกันนั้นจะเกี่ยวข้องกับประวัติของท้าวสักกะหรือพระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งเทพชั้นดาวดึงส์ - ช้างไอราวัณ
เป็นช้างที่มีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายผ่องดูสดใส
เป็นช้างที่มีพลังอำนาจมาก ช้างไอราวัณมีหน้าที่
เป็นช้างพาหนะของพระอินทร์ โดยมีหน้าที่หลายอย่างอาทิเช่น
การนำพระอินทร์ออกรบ การทำฝน
ช้างเอราวัณหรือไอราวัณนี้ปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง - ช้างพลายมงคล
เป็นช้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช้างที่พระเจ้าเชียงใหม่ถวายเป็นบรรณาการแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีโสกันต์ แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในเวลานั้นยังทรงพระเยาว์ พร้อมกับประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังซึ่งจะทรงเลี้ยงช้างก็ไม่สะดวกนัก จึงประทานให้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ซึ่งเป็นพระอภิบาลเลี้ยงช้างและคอยกราบทูลถวายรายงานที่เกี่ยวกับพลายมงคล ช้างพลายมงคลมาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศรฯ หรือที่เรียกกันว่าวังบ้านหม้อซึ่งมีบริเวณกว้างขวางมีทางเดินขนาดใหญ่ พร้อมกันนี้ก็เป็นบ้านที่มีคนอยู่มากมาย พลายมงคลเมื่อมาอยู่บ้านนี้ก็รู้สึกครึกครื้นเป็นช้างชอบเล่นและเป็นที่ชื่นชอบแก่เด็กๆ รวมทั้งลูกๆ หลานๆ ของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ด้วย พลายมงคลเป็นช้างที่ฉลาดจึงทำให้เจ้าพระยาเทเวศรฯ รักประดุจลูกพลายมงคลมีคนดูแลชื่อว่า ตาภู่ ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้จึงเปรียบเหมือนเป็นพ่อของพลายมงคลเลยก็ว่าได้

ช้างไทยในแต่ละรัชสมัย
ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ปกครองมานานหลายรัชสมัย ซึ่งในการปกครองแต่ละรัชสมัยนั้นก็ได้มีช้างเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในการปกครองตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบันช้างถือว่าเป็นสัตว์ที่ช่วยเสริมบารมีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเสวยราชย์เป็นพระยาช้างที่มีบุญบารมีมากว่า 500 ชาติจึงถือได้ว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยเลยก็ว่าได้
กรุงสุโขทัย
ในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวว่า “พระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด” และยังมีอีกตอนที่กล่าวถึงช้างเผือกตัวโปรดของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชที่ชื่อรุจาครี ซึ่งช้างเผือกตัวนี้ทรงให้แต่งด้วยเครื่องคชาภรณ์ แล้วทรงนำราษฎรออกบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในอรัญญิกเมื่อครั้งที่ทรงครองกรุงสุโขทัย
กรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีช้างเผือกที่มีลักษณะพิเศษที่นำมาเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล
- ในสมัย สมเด็จพระอินทราชาที่ 2 ได้ช้างเผือกมา 1 เชือก
- ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ปรากฏช้างเผือกที่ชื่อพระฉัททันต์ขึ้น
- ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัชสมัยเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับช้างเผือกมากที่สุด พร้อมทั้งยังมีช้างเผือกประจำรัชกาลนี้ถึง 7 เชือก คือ พระคเชนทโรดม พระรัตนากาศ พระแก้วทรงบาศ ช้างเผือกพังแม่และพังลูก พระบรมไกรสร พระสุริยกุญชร
- ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ได้ช้างเผือกมา 2 เชือก คือ พระอินทร์ไอยราวรรณ และเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์
- ในสมัยสมเด็จพระมหาบุรุษ(พระเพทราชา) ได้ช้างเผือกมา 2 เชือก คือ พระอินทรไอราพต และ พระบรมรัตนากาศ
- ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ได้ช้างเผือกชื่อ พระบรมไตรจักร
- ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระบรมโกศ) ได้ช้างเผือกมา 6 เชือก คือ พระวิเชียรหัสดิน พระบรมราชนาเคนทร พระบรมวิไชยคเชนทร พระบรมกุญชร พระบรมจักรพาลหัตถี พระบรมคชลักษณ์
กรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ช้างพังเผือก ได้เมื่อครั้งนำกองทัพกรุงไปล้อมเมืองฝาง เจ้าฝางหนีพาช้างไปด้วย กองทัพติดตามได้ลูกช้างนำมาถวาย
กรุงรัตนโกสินทร์
- รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ช้าง 10 เชือก คือ พระบรมไกรสร ( บวรสุประดิษฐ) พระบรมไกรสร (บวรบุษปทันต์ ) พระอินทรไอยรา พระเทพกุญชร พระบรมฉัททันต์ พระบรมนัขมณี พระบรมคชลักษณ์ (อรรคคเชนทร์) พระบรมนาเคนทร์ พระบรมคชลักษณ์ (อรรคชาติดามพหัตถี) พระบรมเมฆเอกทนต์
- รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีช้าง 6 เชือก คือ พระยาเศวตกุญชร พระบรมนาเคนทร์ พระบรมหัศดิน พระบรมนาเคนทร์ (คเชนทรธราธาร) พระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตคชลักษณ์
- รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีช้างเผือกอยู่ 20 เชือก คือ พระบรมคชลักษณ์ พระบรมไอยรา พระบรมนาเคนทร์ พระบรมเอกทันต์ พระยามงคลหัสดิน พระยามงคลนาคินทร์ พระบรมไกรสร พระบรมกุญชร พังหงษาสวรรค์ พระนัขนาเคนทร์ พระบรมไอยเรศ พระบรมสังขทันต์ พระบรมคชลักษณ์ (ศักดิสารจุมประสาท) พระบรมนขาคเชนทร์ พระนาเคนทรนขา พระบรมทัศนขา ช้างพลายสีประหลาด พระบรมศุภราช พระยามงคลคชพงศ์ ช้างพลายกระจุดดำ
- รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีช้าง 15 เชือก คือ พระบรมนัขสมบัติ พระวิมลรัตนกิริณี พระบรมคชรัตน พระวิสูตรรัตนกิริณี พระพิไชยนิลนัข พระพิไชยกฤษณาวรรณ พระศรีสกลกฤษณ์ พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ช้างพังเผือกเอก พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ ช้างพังเผือกเอก พระเทวสยามมหาพิฆเนศวร ช้างสีประหลาด เจ้าพระยาปราบไตรจักร พระยาไชยานุภาพ

จาก http://www.csd.go.th

จาก http://www.csd.go.th/
- รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีช้าง 19 เชือก คือ พระเศวตวรวรรณ พระมหารพีพรรณคชพงษ์ พระเศวตสุวภาพรรณ พระเทพคชรัตนกิริณี พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ พระบรมทันตวรลักษณ์ พระเศวตวรลักษณ์ พระเศวตวรสรรพางค์ พระเศวตวิสุทธิเทพา พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ พระเศวตสกลวโรภาศ พระเศวตรุจิราภาพรรณ พระเศวตวรนาเคนทร์ ช้างพลายเผือกเอก พระศรีเศวตวรรณิภา พระเศวตอุดมวารณ์ ช้างพลายสีประหลาด 2 เชือก เจ้าพระยาไชยานุภาพ
- รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ช้าง พระเศวตวชิรพาหะ
- รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ช้าง พระเศวตคชเดชน์ดิลก

จาก http://www.csd.go.th/
- รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีช้างเผือก 10 เชือก คือ พระเศวตอดุลยเดชพาหน พระเศวตวรรัตนกรี พระเศวตสุรคชาธาร พระศรีเศวตศุภลักษณ์ พระเศวตศุทธวิลาศ พระวิมลรัตนกิริณี พระศรีนรารัฐราชกิริณี พระเศวตภาสุรคเชนทร์ พระเทพรัตนกิริณี พระบรมนขทัศ

จาก http://www.csd.go.th/
***************************************
🐘 รวมเรื่อง ช้าง (Elephants) ที่เกี่ยวข้อง
ชีววิทยาของช้าง | ช้างเอเซีย | ช้างไทยในประวัติศาสตร์ | ช้างประจำรัชกาลที่ 9 | วันช้างไทย 13 มีนาคม
บรรณานุกรม
สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. (2530). ช้างไทย. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
อมรา ศรีสุชาติ. (2550). ช้างในพุทธวรรณกรรมและพุทธศิลปกรรม. กรุงเทพมหานคร: รุ่งศิลป์การพิมพ์
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 17. (2537). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์.
ภาพประกอบ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 17. (2537). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์.
อมรา ศรีสุชาติ. (2550). ช้างในพุทธวรรณกรรมและพุทธศิลปกรรม. กรุงเทพมหานคร: รุ่งศิลป์การพิมพ์.
เจ้าพระยาไชยานุภาพ. (2551). http://www.thungyai.org/thai/activities/48/kingnaresuan/king07.htm
ช้างเผือก. (2551). http://www.thailandelephant.org/elephant1.php3
ช้างต้น. (2551). http://www.kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK17/chapter1/t17-1-s.htm
ช้างเอราวัณ. (2551). http://www.businesscenterbkk.com/arawan.jpg
ช้างเผือก. (2551).http://www.dnp.go.th/multi_prov_forest/pic/66.jpg
ช้างต้น. (2551).http://www.csd.go.th/news/31012007/
รวบรวมข้อมูลโดย : น.ส. โศธิดา ศิริอำนวยศิลป์ นักศึกษาช่วยงาน ปีงบประมาณ 2551 งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ