ศีลล้างบาป จุดเริ่มต้นของการเป็นคาทอลิก

ภาพพิธีล้างบาปในความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คนที่เกิดมาทุกคนจะต้องมีบาปกำเนิด อันเนื่องมาจากการกระทำผิดของอาดัมและเอวาในสวนเอเดน ดังนั้น การจะเข้าเป็นหนึ่งในคริสตชน ต้องรับศีลล้างบาปเพื่อทำร่างกายและจิตวิญญาณให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยมีความจำเป็นต้องรับศีลล้างบาปตามกฏหมายของพระศาสนาจักร

แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้พูดถึงนิยาม “ศีลล้างบาป” โดยคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม  ว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สำคัญประการหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่ต้องมี สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายภายนอกที่สำคัญ  คือ การเทน้ำบนศีรษะของผู้รับศีล และประกอบกับบทภาวนาว่า “ข้าพระเจ้าล้างท่าน เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต”  การกระทำดังกล่าว เป็นเครื่องหมายของการชำระล้าง เพราะน้ำ คือ สิ่งที่ใช้ชำระล้างความสกปรกให้หมดไป นั่นหมายถึง การชำระชีวิตทั้งกายและวิญญาณทำให้ผู้รับศีลปราศจากบาปและความผิดต่างๆ ที่จะทำให้มีชีวิตรอดพ้นความตายจากฝ่ายวิญญาณ (แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ม.ป.ป. : ออนไลน์)

พิธีรับศีลล้างบาป
Baptism ที่มา : https://pixabay.com/

พิธีศีลล้างบาปนี้ประกอบไปด้วย

  • ผู้โปรดศีลล้างบาป คือ บาทหลวง
  • ผู้รับศีลล้างบาป คือ ผู้ที่มาขอรับศีลล้างบาป โดยแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ เด็กทารก และผู้ใหญ่ ซึ่งในชาวคาทอลิกจะเรียกกันว่า “คริสตังนอน” และ “คริสตังยืน” เพราะนำเอาลักษณะ ช่วงวัยของการรับศีลล้างบาปมาเรียก
  • พ่อ-แม่อุปถัมภ์ (พ่อแม่ทูนหัว) จะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกัน มีเพศเดียวกับผู้รับศีลล้างบาป อายุมากกว่าผู้รับศีลล้างบาปพอสมควร เพราะพระศาสนจักรกำหนดให้มีพ่อแม่ทูนหัวเพื่อจะได้ช่วยอบรมและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกทูนหัวได้
  • ชื่อนักบุญประจำตัว เพื่อการนำนักบุญเป็นแบบอย่างในชีวิต พระศาสนาจักรได้กำหนดให้เลือกชื่อนักบุญที่สนใจ โดยต้องทราบประวัติของนักบุญองค์นี้พอสมควร ก่อนจะเลือกนำมาเป็นชื่อนักบุญประจำตัว
  • ทะเบียนล้างบาป คือ ทะเบียนที่ใช้บันทึกการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงวัยต่างๆ ของศาสนาศริสต์
  • พิธีอื่นๆ ที่แทนศีลล้างบาป คือ สามารถแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) การล้างบาปด้วยเลือด เป็นการยืนยันความเชื่อของบรรดามรณสักขี ที่ถูกทำร้ายและตายด้วยการยืนยันความเชื่อ และ 2) การล้างบาปด้วยความปรารถนา คือ ยืนยันความเชื่อด้วยความรักและความศรัทธา อย่างมั่นคง ซึ่งยังไม่มีโอกาสล้างบาป แต่อยู่ในสถานะกำลังจะตาย โดยในขณะนั้นหาผู้มาโปรดศีลล้างบาปให้ไม่ได้

ศีลล้างบาป เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นศริสตชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทางเข้าเพื่อมาพบเจอกับศีลศักดิ์สิทธิ์ประการอื่นๆ และได้รับพระพรจากพระเป็นเจ้าอย่างมากมาย โดยอาศัยความเชื่อและความศรัทธาที่มีอยู่ในตนเอง

บรรณานุกรม

กีรติ บุญเจือ. (2530). ชุดศาสนศึกษาหลักปฏิบัติของชาวคริสต์คาทอลิก (คริสตศาสนาภาคหลัง). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

บาทหลวง เปโตร ประชาชาติ ปรีชาวุฒิ. ศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ. ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2558, จาก sites.google.com/site/arc213site/sil-sakdisiththi-7-prakar-1

แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. ศีลล้างบาป. ค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2558, จาก http://www.kamsonbkk.com/index.php/catholic-catechism/7-sacraments/2641-0071946

ภาพประกอบ

(2014, พฤศจิกายน 30). ภาพพิธีล้างบาป. ค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2558, จาก https://pixabay.com/static/uploads/photo/2015/02/21/14/07/baptism-644267_640.jpg

(2009, มกราคม 24). Baptism. ค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2558, จาก https://pixabay.com/en/baptism-christianity-believe-baby-331633/

เรียบเรียงโดย 

กัญญณัช กิจบำรุง นิสิตฝึกงานมหาวิทยาลัยบูรพา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสารสนเทศศึกษา ภาคฤดูร้อน/2557