การละเล่นพื้นเมืองไทย

ชักเย่อ
ชักเย่อ ที่มา:http://www.kanchanapisek.or.th
กีฬาพื้นเมืองของไทย

ประวัติความเป็นมา

กีฬาพื้นเมืองไทยเป็นกิจกรรมที่มีการเล่นสืบทอดต่อกันมาแต่สมัยโบราณตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยประมาณ พ.ศ. 1781 ถึง พ.ศ.1912 การเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกฝนการต่อสู้ป้องกันตัวทั้งในลักษณะมือเปล่าและการใช้อาวุธโบราณ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงคราม นอกจากนี้ ยังเล่นเพื่อเป็นการสนุกสนานรื่นเริงในงานประเพณีต่างๆ โอกาสที่เล่นมักเป็นการสมโภชงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้ทรงโปรดให้มีการเล่นขึ้นนอกจากนั้นจะเล่นกันในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ และเล่นในยามว่างจากงานสมัยกรุงสุโขทัย เรียกการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยว่า “การเล่น” ซึ่งเป็นคำเรียกรวมไปกับการเล่นร้องรำทำเพลงและขับระบำฟ้อนต่างๆ

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ประมาณ พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 จุดมุ่งหมายในการเล่นยังคงเป็นการเล่นเพื่อฝึกฝนการต่อสู้ป้องกันตัว เตรียมพร้อมไว้ในสงคราม เล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและความสามัคคีในงานเทศกาลและงานประเพณีต่างๆ และเล่นเพื่อความเพลิดเพลินในยามว่างงานโอกาสที่เล่นมักเล่นเป็นการฉลองในงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดให้มีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ เช่น พระราชพิธีโสกัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเล่นในงานรื่นเริงตามประเพณีของชาวบ้าน และเล่นในยามว่างจากงานประจำ สมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยว่า “การมหรสพ” ซึ่งมีความหมายรวมถึงการเล่นร้องรำทำเพลงและขับระบำรำฟ้อนต่างๆ

สมัยกรุงธนบุรี

พ.ศ. 2310 ถึง พ.ศ.2324 มีช่วงระยะเวลาสั้นมากการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยเป็นการเล่นที่สืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน การเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงสมัยราชกาลที่ 1 พ.ศ. 2325 ถึงราชกาลที่ 4 พ.ศ. 2511 นับได้ว่าเป็นช่วงสืบทอดการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยจากสมัยก่อน การเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยยังคงมีจุดมุ่งหมายในการเล่น และโอกาสที่เล่นคล้ายกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสภาพบ้านเมืองยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ แต่มีความสงบมากกว่าจึงมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยเพื่อเป็นการเพลิดเพลินในยามว่างมากชนิดขึ้นกีฬาพื้นเมืองไทยบางชนิดยังคงเล่นสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา บางชนิดก็มีการเล่นเพิ่มเติมขึ้นจากสมัยก่อน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411 ถึง ช่วงเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นับได้ว่าเป็นช่วงฟื้นฟูและพัฒนาการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยอย่างแท้จริง เพราะกีฬาพื้นเมืองไทยนิยมเล่นกันทั้งประเทศ จุดมุ่งหมายในการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยช่วงนี้มิได้มุ่งเน้นที่การต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อการสงครามตามุ่งเน้นเพื่อเป็นการเล่นออกกำลังกาย เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินและเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานเป็นสำคัญ โอกาสที่เล่นในช่วงนี้มักเล่นในงานเทศกาลตามประเพณีของชาวบ้านโดยทั่วไปแทบทุกจังหวัด เช่น เล่นในงานเทศกาล ตรุษสงกรานต์ งานบุญต่างๆ งานประจำปี และงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ในช่วงนี้ แม้ว่ากีฬาของชาวต่างประเทศจะเข้ามาแพร่หลาย เล่นกันในประเทศไทยมากแล้วก็ตาม แต่ด้วยความรักในขนบธรรมเนียม ประเพณี การเล่นแบบไทย และความเฉลียวฉลาดของคนไทยในสมัยนั้น ก็รู้จักปรับปรุงดัดแปลงการเล่นแบบไทยให้สอดคล้องกับแบบสากล และปรับปรุงการเล่นแบบสากลมาเป็นแบบไทยจึงทำให้กีฬาพื้นเมืองไทยยังคงนิยมเล่นอยู่โดยทั่วไป และมักจะเรียกการเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยว่าเป็น

“การเล่นออกกำลังกาย” ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแม้ประเทศจะมีการพัฒนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นแต่การเล่นกีฬาพื้นเมืองไทยกลับซบเซาลง ปัจจุบันกีฬาพื้นเมืองไทยบางชนิดเหลืออยู่แต่ชื่อ ไม่สามารถค้นหาลักษณะรูปแบบและวิธีการเล่นได้ กีฬาพื้นเมืองไทยที่ยังพอมีเล่นอยู่ก็มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปแบบและวิธีการเล่นไปมากมายและยังคงมีเล่นกันอยู่ก็แต่เฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้นกีฬาพื้นเมืองของไทยมีทุกภาคทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้แต่รูปแบบ มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน