เพลงชาติไทย

ภาพธงชาติไทย
ภาพธงชาติไทย
http://thaiexanthem.blogspot.com/

ประวัติเพลงชาติไทย

เพลงชาติเป็นเพลงประจำชาติที่แสดงถึงความเป็นชาติ ความเป็นเอกราชของประเทศนั้นๆ เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายประจำชาติ และนอกจากนี้แล้วเพลงชาติ ยังบ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมของชนชาตินั้นอีกด้วยสำหรับในประเทศไทยนั้นในอดีตยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเพลงชาติมากมายนัก ซึ่งการให้ความสำคัญกับเพลงชาติในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตกที่มีเพลงประจำชาติ ทำให้ไทยได้ตระหนักถึงการมีเพลงชาติเพื่อแสดงถึงความเป็นชาติไทยยิ่งขึ้น โดยเพลงชาติที่สร้างอิทธิพลให้กับไทยก็คือเพลงชาติของประเทศอังกฤษ ชื่อว่า God save the Queen (หรือบางครั้งก็เรียกว่า God save the King ขึ้นอยู่กับว่า กษัตริย์ที่ปกครองประเทศอังกฤษเป็นพระราชาหรือพระราชินี) และเป็นเพลงที่ใช้กับเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษด้วย ในปัจจุบันประเทศไทยมีเพลงชาติมาแล้วทั้งหมด 7 ฉบับ ซึ่งในแต่ละฉบับนั้นก็มีความเป็นมาทั้งสิ้น แม้ว่าในระยะต้นๆ ของการเริ่มมีเพลงประจำชาติจะเป็นเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ประวัติเพลงชาติที่จะกล่าวในที่นี้บ่งบอกว่าประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับเพลงชาติไม่น้อยกว่าชาติไหน

ประวัติเพลงชาติไทยในแต่ละสมัย

เพลงชาติไทยฉบับแรก คือ เพลงจอมราชจงเจริญ โดยใช้ทำนองของเพลง God save the Queen ซึ่งเป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร ในปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2395 โดยทหารอังกฤษ 2 คนชื่อร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas G. Knox) ที่เข้ามาเป็นครูฝึกทหารนำเข้ามา ซึ่งในขณะนั้นอังกฤษใช้เพลง God save the Queen เป็นเพลงชาติแล้ว ดังนั้นจึงใช้เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2395  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2414 ในกองทหารเรียกเพลงนี้ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่โดยใช้ทำนองเพลง God save the Queen โดยใช้ชื่อว่า จอมราชจงเจริญ

เพลงจอมราชจงเจริญ
“ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว
จงยืนพระชน…มาน นับรอบร้อย แฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร”

ภาพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
http://www.racha.coolfreepage.com/2.html

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
http://www.racha.coolfreepage.com/5.html

เพลงชาติฉบับที่สอง เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2414  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสที่สิงคโปร์ ซึ่งในขณะนั้นสิงคโปร์ยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่และกองทหารดุริยางค์สิงคโปร์บรรเลงเพลง God save the Queen ถวายความเคารพ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักว่าประเทศควรมีเพลงชาติที่เป็นของตนเอง เพื่อประกาศความเป็นเอกราช ดังนั้นเมื่อทรงเสด็จฯ กลับ ก็ทรงโปรดฯ เรียกครูดนตรีไทยเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาหาเพลงไทยมาใช้สำหรับถวายทำความเคารพและแสดงถึงความเป็นชาติ โดยคณะดนตรีไทยที่ประกอบด้วย ครูมรกฎ พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) และพระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) ได้ลงความเห็นเลือกเพลงทรงพระสุบิน หรือเพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นเพลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพและใช้เป็นเพลงประจำชาติอีกด้วย เรียกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี โดบเรียบเรียงเป็นทำนองสากล และใน พ.ศ. 2414 ถึงปี พ.ศ. 2431 มีการสันนิษฐานว่าได้ใช้เพลงทรงพระสุบิน (ทางฝรั่ง) เป็นเพลงชาติ

เนื้อเพลงบุหลันลอยเลื่อน

“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา
ครั้นล่วงเข้ายามดึกสงัด
สงบเงียบเสียงสัตว์ทุกภาษา
วังเวงวิเวกวิญญาณ์
พระนิทราหลับไปในราตรีฯ”

เพลงชาติฉบับที่สาม เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431  มีการเปลี่ยนแปลงทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่ประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ นักประพันธ์ชาวรัสเซียส่วนคำร้องนั้นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งถือได้ว่าเพลงชาติฉบับที่ 3 นี้ก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมี(ฉบับปัจจุบัน)โดยใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ.2431-2475

เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน)

ข้าวรพุทธเจ้า
เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล
บุญญดิเรก
เอกบรมจักริน
พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา
ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด
จงสฤษฏ์ดัง
หวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย
ชโย

ภาพเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณอยุธยา)ภาพเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณอยุธยา)
http://www.mc41.com/data/thai00.htm

เพลงชาติฉบับที่สี่ นั้นคือเพลงชาติมหาชัย ใช้ทำนอง เพลงมหาชัย แต่งเนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้เพลงนี้เป็นเพลงขับร้องบรรเลงปลุกเร้าใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติ และความสามัคคีในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระหว่างช่วงการปฏิวัติและการรอเพลงชาติฉบับของพระเจนดุริยางค์ด้วย

เนื้อเพลงชาติมหาชัย

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

ภาพขุนวิจิตรมาตราภาพขุนวิจิตรมาตรา
http://tcmc.nisit.kps.ku.ac.th/tcmc/modules.php?
op=modload&name=News&file=article&sid=41

ภาพนายฉันท์ ขันวิไล
ภาพนายฉันท์ ขันวิไล
http://blog.sanook.com/DesktopModules/MIH/Blog/BlogView.aspx?
tabID=0&alias=panadistid&ItemID=179428&mid=562303

เพลงชาติฉบับที่ห้า ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันซึ่งเริ่มมีในช่วงการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่ยังไม่สมบูรณ์มากนักประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ และคำร้องฉบับแรกประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งมีคำร้อง 2 บท ด้วยกัน ใช้ในระหว่าง พ.ศ. 2475 – 2477

ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องของเพลงชาติอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการมีมติให้ใช้ทำนองเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์เป็นเพลงชาติทำนองสากล และให้จางวางทั่ว พาทยโกศล ประพันธ์ทำนองเพลงชาติทางไทย แต่ต่อมาคณะกรรมการจึงเห็นว่าเพลงชาติเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรจะมีเพลงเดียว จึงใช้ทำนองเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์เพียงทำนองเดียว

เนื้อร้องเพลงชาติฉบับของขุนวิจิตรมาตรา

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครอง ตั้งประเทศ เขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์ โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคี ทวีไทย
บางสมัย ศัตรู จู่โจมตี
ไทยพลี ชีวิตร่วม รวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัย โบราณรอด ตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหล คือว่าเลือด ของเชื้อข้า
เอกราชคือ เจดีย์ ที่เราบูชา
เราจะสามัคคี ร่วมมีใจ
รักษาชาติ ประเทศ เอกราชจงดี
ใครย่ำยี เราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้น แผ่นดินไทย
สถาปนา สยามให้ เทิดไทย ไชโย”

เพลงชาติฉบับที่หก เป็นเพลงชาติที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการจัดให้มีการประกวดเนื้อร้อง โดยมีผู้ส่งประกวดเข้ามามากมายแต่คัดเลือกมา 2 ฉบับ คือของขุนวิจิตรมาตรา (ฉบับแก้ไข) 2 บท และของนายฉันท์ ขำวิไล อีก 2 บท จึงได้รวมเนื้อเพลงชาติเป็น 4 บทด้วยกัน โดยประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 แต่ต่อมา ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพันเอก พหลพลพยุหเสนา ได้ลงนามประกาศระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ โดยแบ่งการบรรเลงออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (ยาวตามปกติพร้อมเนื้อร้องทั้ง 4 ตอน) และการบรรเลงแบบสังเขป (ตัดทอนสั้นลง) เนื่องจากเพลงชาติมีความยาวมากเกินไป โดยใช้เป็นเพลงชาติใน พ.ศ. 2477 – 2482 ซึ่งเป็น

เพลงชาติฉบับราชการฉบับแรก
เนื้อร้องเพลงชาติฉบับของนายฉันท์ ขำวิไล

เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย

     ภาพหลวงสารานุประพันธ์
ภาพหลวงสารานุประพันธ์
http://www.suan84.com/modules.php?
name=News&file=article&sid=125

ภาพพระเจนดุริยางค์
ภาพพระเจนดุริยางค์
http://angsila.compsci.buu.ac.th/~it450084/
music/music_app/thai_composer/jane.htm

เพลงชาติฉบับที่เจ็ด หรือฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2477 รัฐบาลของจอมแปลก พิบูลสงคราม ที่ได้ประกาศให้มีการประกวดเนื้อร้องของเพลงชาติขึ้นมาใหม่ ผลการประกวดเพลงชาติปรากฏว่าเนื้อร้องฉบับของ พ.อ. หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งในนามกองทัพบกทางสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศยกเลิกเนื้อเพลงชาติฉบับของ ขุนวิจิตรมาตรา และของนายฉันท์ ขำวิไล โดยให้ใช้เนื้อร้องที่ชนะการประกวดและทำนองประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์ ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมพ.ศ. 2482 เป็นต้นไป

เนื้อร้องเพลงชาติปัจจุบัน

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยชโย

บรรณานุกรม
พิทยา ว่องกุล . ( 2550). วิเคราะห์ประวัติศาสตร์สยามใหม่. กรุงเทพฯ:สถาบันวิถีทรรศน์.
สุกรี เจริญสุข. (2532). เพลงชาติ. กรุงเทพมหานคร. เรือนแก้วการพิมพ์.

ภาพ
“ราชวงศ์จักรี” http://www.racha.coolfreepage.com/2.html
“ราชวงศ์จักรี” http://www.racha.coolfreepage.com/5.html

รวบรวมข้อมูลโดย : น.ส. โศธิดา ศิริอำนวยศิลป์ นักศึกษาช่วยงาน ปีงบประมาณ 2551 งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ