กำเนิดธงชาติไทย

2556-07-26 004

ตามหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าตั้งแต่สมัยโบราณไทยเรายังไม่มีธงชาติ โดยเฉพาะเมื่อเวลาจัดกองทัพไปทำสงคราม จะใช้ธงสีต่างๆ ประจำทัพเป็นเครื่องหมายทัพละสี ต่อมาเมื่อมีการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ธงสีแดงติดเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือสินค้าของไทย

ก่อนที่จะใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมายในเรือสินค้าของไทยนั้น ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุของฝรั่งเศสว่า เรือสินค้าของไทยที่เดินทางไปต่างประเทศชักธงของฮอลันดา แต่เนื่องจากฮอลันดาและฝรั่งเศสเป็นอริกัน ฝรั่งเศสจึงยิงเรือของไทยเสียหายด้วยความเข้าใจผิด แม้กระนั้นก็ดี เรือของไทยก็ยังนิยมชักธงฮอลันดาอยู่ เพราะเป็นที่รู้จักกว้างขวางว่าเป็นเรือค้าขาย จนกระทั่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเรือชื่อเลอโวตูร์ของฝรั่งเศสจะแล่นผ่านป้อมเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตามธรรมเนียมเรือที่เข้ามาต้องยิงสลุตคำนับธงที่ชักอยู่ที่ป้อม ปรากฏว่าฝ่ายไทยชักธงฮอลันดาขึ้นรับเรือฝรั่งเศส เพราะไม่มีธงชาติของตนเอง แต่เรือฝรั่งเศสไม่ยอมสลุตธงฮอลันดา เพราะเคยเป็นอริกันมาก่อนและถือว่าไม่ใช่ธงชาติไทย ฝ่ายไทยจึงแก้ไขโดยนำธงแดงขึ้นชักแทงธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมสลุตคำนับ ตั้งแต่นั้นมาธงสีแดงจึงกลายเป็นธงชาติของไทยเรื่อยมา  (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ธงชาติสมัยแรก ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2325 (ธงเรือหลวง) พ.ศ. 2175 - พ.ศ. 2398 (ธงเรือเอกชน)ภาพที่ 1 ธงชาติสมัยแรก
ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2325 (ธงเรือหลวง) พ.ศ. 2175 – พ.ศ. 2398 (ธงเรือเอกชน)

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฏรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยงกันอยู่ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ธงสยาม (รัตนโกสินทร์ตอนต้น) พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชภาพที่ 2 ธงสยาม (รัตนโกสินทร์ตอนต้น)
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ช้างเผือกสามเชือกมาสู่พระบารมี ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงด้วย สมัยนี้ธงเรือสินค้าของราษฎรก็ยังใช้ธงแดง (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ธงสยาม (สมัยรัชกาลที่ 2) พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยภาพที่ 3 ธงสยาม (สมัยรัชกาลที่ 2)
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกใน พ.ศ. 2398  มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้นและมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านั้นล้วนชักธงชาติของตนขึ้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ยากแก่การสังเกตไม่สมควรใช้อีกต่อไป ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรออกเสียเพราะเป็นเครื่องหมายเฉพราะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง (ภาพที่ 4) ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างหลายครั้ง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 118 ทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติพื้นแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องหันหน้าเข้าเสาทั้งสิ้น1

ภาพที่ 4 ธงช้างเผือก (สมัยรัชกาลที่ 4 - 5) พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110, พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 118ภาพที่ 4 ธงช้างเผือก (สมัยรัชกาลที่ 4 – 5)
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110,
พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 และพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 118

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกลจะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 แก้ไขลักษณะธงชาติ (ธงราชการ) ให้ “เปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าเสา” (ภาพที่ 5) รวมทั้งเพิ่มเติมธงขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง คือ “ธงค้าขาย” ซึ่งมีลักษณะ “รูปเหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง 1 ส่วน ยาว 1 1/2 ส่วน มีแถบขาว 2 ผืน กว้าง 1/6 ของส่วนกว้างของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างแลบน ของธง 1/6 ของส่วนกว้างของธง” 2

ภาพที่ 5 ธงชาติ พ.ศ. 2459 (สมัยรัชกาลที่ 6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129ภาพที่ 5 ธงชาติ พ.ศ. 2459 (สมัยรัชกาลที่ 6)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
ให้ออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เนื่องจากในสมัยนั้นไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศสัมพันธมิตร ซี่งส่วนใหญ่ธงจะมีสามสี ธงชาติไทยในสมัยนั้นจึงเป็นรูปรี ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถวสีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของความกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ และเรียกว่า “ธงไตรรงค์” และพระองค์ทรงให้กำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า

  • สีแดง  หมายถึง ชาติ คือประชาชน
  • สีขาว  หมายถึง ศาสนา (มิได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
  • สีน้ำเงิน  หมายถึง พระมหากษัตริย์ (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 6 ธงไตรรงค์ พ.ศ. 2560 (สมัยรัชกาลที่ 6) พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460ภาพที่ 6 ธงไตรรงค์ พ.ศ. 2460 (สมัยรัชกาลที่ 6)
พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2479 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ โดยอธิบายลักษณะธงชาติว่า ธงชาติรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วนตรงกลางเป็นสีขาบต่อจากสีขาบออกไปทั้งสองข้างๆ ละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 7 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 (รัชกาลที่ 8) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479ภาพที่ 7 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 (รัชกาลที่ 8)
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479

ปัจจุบันลักษณะของธงชาติไทยปรากฏตามความในหมวด 1 มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 กำหนดไว้ว่าธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน3


1ฉวีงาม มาเจริญ. (2545). ธงไทย เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, หน้า 7 – 8.
2กฤษดา ไพรวรรณ์. (2553). “พัฒนาการของธงชาติไทยไทย”. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 79.
3สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. (2553). คู่มือ ธงไตรรงค์ ธำรงไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. หน้า 6 – 7.

บรรณานุกรม

กฤษดา ไพรวรรณ์. (2553). “พัฒนาการของธงชาติไทยไทย”. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ฉวีงาม มาเจริญ. (2545). ธงไทย เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. (2553). คู่มือ ธงไตรรงค์ ธำรงไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

ภาพประกอบ

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. (2553). คู่มือ ธงไตรรงค์ ธำรงไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. หน้า 3 – 7 (ภาพที่ 1 – 7).

เรียบเรียงโดย ณิชชาณัฏฐ์ วุฒิเขตศิริสกุล นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศศึกษา  ภาคการศึกษา 1/2556

ปรับปรุงเนื้อหาและภาพประกอบ โดย เยาวลักษณ์ เทมเพิลมันน์ (เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560)