
ประวัติความเป็นมาของประเพณีชักพระ พุทธประวัติกล่าวว่า วันที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์สู่มนุษย์โลก หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศนา โปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดุสิตตลอดพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษาทรงเสด็จลงมาตามบันไดแก้ว, บันไดทอง, บันไดเงิน บันไดทั้ง 3 ทอดลงมายังประตูนครสังกัสสะ เมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันแรม 9 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษาพอดี
พุทธบริษัททั้งหลายทราบข่าวต่างมาคอยต้อนรับเสด็จอย่างเนืองแน่น เพื่อจะคอยตักบาตร ถวายภัตตาหาร ดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งเป็นที่มาของประเพณี “ตักบาตรเทโว” ซึ่งบางคนไม่สามารถเข้าถวายภัตตาหาร เพราะมีคนอย่างล้มหลามที่จะถวายภัตตาหาร ด้วยศรัทธาแรงกล้าของผู้ที่เข้าไม่ถึงพระพุทธองค์จึงเกิดประเพณีทำขนมขึ้นชนิดหนึ่ง ห่อด้วยใบไม้ (ใบจาก ใบเตย) เรียก “ขนมต้ม” หรือห่อต้ม หรือห่อปัดก็เรียก สำหรับโยนและปาจากระยะห่างเข้าไปถวายได้ ซึ่งความจริงอาจเป็นความสะดวกในการนำพาไปทำบุญ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน และสะดวกต่อการนำพาไปกินเวลาหิวขณะลากพระ ตลอดจนการขว้างปาเล่นกัน (เรียกซัดต้ม)
ดังนั้นขนมต้มจึงถือเป็นขนมหลัก เป็นเอกลักษณ์ประจำเทศกาล ดังมีคำกล่าวว่า “เข้าษากินตอก ออกษากินต้ม” คือ ขนมประเพณีประจำเทศกาลเข้าพรรษา คือ ข้าวตอก ส่วนเทศกาลออกพรรษา คือ ขนมต้ม ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการทำบุญออกพรรษาตามปกติ บางวัดมีการตักบาตรหน้าพระลากเพิ่มเป็นพิเศษ เรียก “ตักบาตรหน้าล้อ” ในตอนกลางคืนระหว่างที่มีพิธี “คุมพระ” (ประโคมพระลาก) อีกด้วย พอถึงวันแรม 11 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา หลังจากทำบุญที่วัดตามปกติแล้วจะมีการลากพระต่ออีก 1-2 วัน อย่างสนุกสนาน มีเพลงลากพระร้องเล่นอีกด้วย
ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้มีอยู่ 2 ประการ คือ

ลากพระทางบก คือ การอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนนมพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง
ลากพระทางน้ำ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มักกระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง

ก่อนถึงวันลากพระ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมี “การคุมพระ” ที่วัด การคุมพระ คือ การตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระประมาณ 10 – 15 วัน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการลากพระ เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และเพื่อชาวบ้านจะได้มาช่วยกันเตรียมการต่าง ๆ ล่วงหน้า ผู้คุมพระได้แก่เด็กวัด และประชาชนที่อยู่ใกล้วัด การคุมพระจะมีทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกันไปจนถึงวันลากพระ
ในช่วงที่มีการคุมพระ พระสงฆ์สามเณร และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือพระ ซึ่งถ้าเป็นเรือพระบก จะหมายรวมถึง “นมพระ” หรือบุษบก ร้านไม้ และ “หัวเฆ่” หรือไม้ขนาดใหญ่ สองท่อน ในปัจจุบันมักใช้ล้อเลื่อน หรือรถแทน “หัวเฆ่” ถ้าเป็นเรือพระน้ำ จะหมายถึง “นมพระ” ร้านไม้ และลำเรือ ซึ่งอาจจะใช้ลำเดียวหรือนำมาผูกติดกัน 3 ลำ การเตรียมเรือพระ จะต้องทำให้เสร็จทันวันลากพระ
นอกจากการเตรียมเรือพระแล้ว ในส่วนของชาวบ้าน ถ้าเป็นการลากพระทางบก จะจัดเตรียมขบวนผู้คนที่จะลากพระ อาจจะจัดให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง เตรียมชุดเครื่องแต่งตัว เพื่อลากเรือพระ หรือมีชุดรำ ฟ้อนหน้าเรือพระ แต่ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำ ชาวบ้านจะเตรียมการตกแต่งเรือพาย สรรหาฝีพาย ซ้อมเรือแข่งและเตรียมเครื่องแต่งตัวตามที่ตกลงกัน
นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกครอบครัว จะต้องทำ คือ การเตรียม “แทงต้ม” หรือ “ทำต้ม” หรือ “ขนมต้ม” โดยต้องเตรียมหายอดกระพ้อไว้ให้พร้อมก่อนถึงวันลากพระ 2-3 วัน นำข้าวสารเหนียวแช่ให้อ่อนตัว แล้วผัดด้วยน้ำกระทิให้พอเกือบสุก จึงนำมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูป 3 มุม คล้ายฝักกระจับ แต่ละลูกมีขนาดโต-เล็ก ตามแต่ต้องการและตามขนาดของใบกะพ้อ เมื่อห่อเสร็จนำไปนึ่งให้สุกอีกทีหนึ่ง การทำต้มดังกล่าว เพื่อใช้ใส่บาตรหรือแขวนเรือพระเป็นพุทธบูชา
การลากพระเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา และเริ่มลากพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัดเพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร ที่จัดเรียงไว้ตรงหน้าพระลาก บางทีจะอาราธนาพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ หรือบางทีรอให้พระฉันภัตตาหารเช้าเสียก่อนจึงอาราธนาก็ได้ การตักบาตรตอนเช้าตรู่วันนี้ บางท้องที่ เรียกว่า “ตักบาตรหน้าล้อ” ในบางท้องที่ที่วัดส่วนใหญ่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ทางวัดจะเตรียมรับภัตตาหารด้วยการสร้างศาลาเล็ก ๆ เสาเดียวไว้ริมน้ำหน้าวัด หรือถ้ามีศาลาหน้าวัดจะนำบาตรสำหรับรับอาหารไปวางไว้ เพื่อให้ประชาชนนำอาหารไปใส่บาตร ศาลาที่ตั้งบาตรเพื่อรับภัตตาหารนี้ เรียกว่า “หลาบาตร”
เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้าน จะนิมนต์ พระภิกษุในวัดนี้ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ พร้อมทั้งอุบาสก และศิษย์วัดที่จะติดตาม และประจำเครื่องประโคม โพน ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำ จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบก จะใช้คนเดินลาก
เรือพระที่ลากเกือบทุกท้องถิ่นนิยมกำหนดให้มีจุดหมาย หรือที่ชุมนุมเรือพระ ทั้งการลากพระทางบก และการลากพระทางน้ำ เรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียงกันจะไปยังที่ชุมนุมในเวลาก่อนที่พระฉันเพล เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาส “แขวนต้ม” และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุ-สามเณรได้ทั่วทุกวัด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่ชุมนุมเรือพระจึงเป็นที่รวมของประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมงาน
บรรณานุกรม
สถาพร คงขุนทศ. (2536). ประเพณีชักพระ. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร.
นานาสาระ,ประเพณีชักพระ. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://allknowledges.tripod.com/chakphra.html#otherwise
ประเพณีชักพระภาคใต้. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556,จาก http://student.nu.ac.th/chakphra/page1.html
ตุลา แก้วลำหัด. (2556). ภูมิปัญญาท้องถิ่นประเพณีชักพระ. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://dawruneetula.blogspot.com
ภาพประกอบ
ประเพณีชักพระ. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com
ชักพระทางบก. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.silpathai.net/page/12/
ชักพระทางน้ำ. ค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556, จาก http://www.oknation.net/
เรียบเรียงโดย : ปารวี ผลหิรัญ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศศึกษา ภาคการศึกษา 1/2556