กาแฟ

coffee
ถ้วยกาแฟ ที่มา :: http://www.smart-today.com/board/ home/space.php?uid=101&do=blog&id=105

ประวัติของกาแฟ

กาแฟเป็นพืชพื้นเมืองของอาบีซีเนีย และอาราเบีย ซึ่งได้ค้นพบเมื่อศตวรรษที่ 5 ที่ประเทศอาราเบียสมัยนั้น ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจนัก จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 9 มีคนเลี้ยงแพะชาวอาราเบียคนหนึ่งชื่อ คาลดี (Kaldi) นำแพะออกไปเลี้ยง และแพะได้กินผลไม้และใบกาแฟเข้าแล้วเกิดความคึกคะนองผิดปกติไป จึงได้นำเรื่องไปเล่าให้พระมอสเล็มองค์หนึ่งฟัง พระมอสเล็มองค์นั้นจึงได้เก็บผลกาแฟมากะเทาะเปลือกเอาเมล็ดกาแฟไปคั่วแล้วต้มในน้ำร้อนดื่ม เห็นว่ามีความกระปรี้กระเปร่า จึงได้เล่าให้ผู้อื่นฟังต่อไป ชาวอาราเบียจึงได้เริ่มรู้จักต้นกาแฟมากขึ้น จึงทำให้กาแฟแพร่หลายเพิ่มขึ้น จากประเทศอาราเบีย เข้าสู่ชนชาวอิตาเลีย ดัทช์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และขบวนการผลิตกาแฟก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อมา

สำหรับประเทศไทย ตามบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธ์ (นายเจรินี ชาวอิตาลี) เมื่อปี พ.ศ. 2393 ส่วนพันธ์โรบัสต้านั้นมีชาวไทยอิสลามผู้หนึ่ง ชื่อนายตีหมุน เป็นผู้นำมาปลูกคนแรกที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2447 แล้วแพร่ขยายไปตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันกาแฟนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของโลก กาแฟถูกจัดอยู่ในจำพวกพืชเศรษฐกิจที่เป็นโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งมีอยู่ 5 ชนิด คือ กาแฟ ยาสูบ ยางพารา ชา และโกโก้ แต่ละปีมีการผลิตเมล็ดกาแฟออกสู่ตลาดมากกว่า 5 ล้านตัน ประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้เป็นผู้ผลิตกาแฟได้มากที่สุด บางปีผลิตได้มากกว่าร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด

ในประเทศไทยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีการปลูกกาแฟมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการปลูกกาแฟกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มีการปลูกกาแฟในบริเวณกรุงเทพฯ เลยทีเดียว สำหรับร้านขายกาแฟร้านแรกในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 ช่วงรัชกาลที่ 6 บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี หลังจากนั้นก็มีผู้นิยมตั้งร้านกาแฟมากขึ้นเป็นลำดับ

 

การดื่มกาแฟ

ผลของการวิจัยหลายชิ้นที่พบข้อดีข้อเสียของการดื่มกาแฟ เช่น กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ เบาหวาน พาร์กินสัน ในขณะเดียวกันก็พบว่าการดื่มกาแฟสองแก้วหรือมากกว่านั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สารก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจในเวลาต่อมา
โดยนักวิจัยเป็นผู้วิเคราะห์ผล พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟวันละไม่ต่ำกว่า 200 ซีซี (มากกว่าหนึ่งถ้วยนิดหน่อยซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ถือว่าดื่มปานกลาง โดยหนึ่งถ้วยกาแฟมีคาเฟอีน 28 มิลลิกรัม ผู้ดื่มอาจดื่มกาแฟสำเร็จรูปบ้าง กาแฟคั่วบ้าง จะเป็นคาปูชิโนหรือเอสเปรสโซ่ หรือชนิดใดก็ตามซึ่งมีคาเฟอีนปริมาณต่างกัน ผู้วิจัยจะนำมาคำนวณความต่างตรงนี้ด้วย) พบมีร่องรอยการอักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ

สตรีที่มีปัญหาตั้งครรภ์ยากนั้น เป็นไปได้ว่า โอกาสในการตั้งครรภ์อาจลดลงหากพวกเธอดื่มดาแฟวันละหลายถ้วย หรือสม่ำเสมอทั้งวัน (แม้ว่าคาเฟอีนจะเป็นตัวทำลายความสมบูรณ์ได้ไม่มากเท่ากับแอลกอฮอลก็ตาม)

บทบาทของกาแฟในสังคมมนุษย์

ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์นิยมดื่มกันมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติหลายประการ คุณสมบัติประการแรก ได้แก่ กลิ่นและรสชาติของกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่กลิ่นและรสชาติของกาแฟแม้จะถูกใจมนุษย์เพียงใดก็คงไม่ทำให้มีผู้ดื่มได้มากเท่าที่เป็นอยู่ หากไม่มีปัจจัยอื่นๆ สนับสนุน คุณสมบัติประการที่สอ คือ กาแฟมีสารประกอบอินทรีย์ประเภทแอลคาลอยด์ ที่เรียกว่า กาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์ ทำให้ผู้ดื่มกาแฟตื่นตัว ไม่ง่วงซึม ทำให้นิยมดื่มกันมาก

นอกจากนี้กาเฟอีนยังมีคุณสมบัติคล้ายยาเสพติดอย่างอ่อน ผู้ที่ดื่มกาแฟจึงมักต้องการดื่มเป็นประจำอย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ติดกาแฟ” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ดื่มกาแฟกันมาก ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดื่มกาแฟ และน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ เมื่อเกิดสถานที่ขายกาแฟ หรือร้านกาแฟที่ชงกาแฟบริการลูกค้าให้นั่งดื่มที่ร้านได้ ก็เกิดความนิยมอย่างรวดเร็วในทวีปยุโรป ร้านกาแฟแห่งแรกตั้งขึ้นที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2167 ในอังกฤษ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2195

ต่อมาอีก 23 ปี คือ ปี พ.ศ. 2218 ก็เกิดร้านกาแฟอีกมากมาย เฉพาะในกรุงลอนดอนก็มีกว่า 3,000 ร้านแล้ว ความน่าสนใจมิใช่จำนวนร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่เป็นพฤติกรรมของผู้ดื่มกาแฟที่ชอบจับกลุ่มพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ กันอย่างกว้างขวางและเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องการบ้านการเมือง อย่างที่เรียกในสำนวนไทยว่าเป็น “สภากาแฟ” นั่นเอง

คุณสมบัติกาแฟในฐานะสมุนไพร

สรรพคุณด้านยาสมุนไพรของกาแฟ ส่วนใหญ่เป็นผลจากสารกาเฟอีนซึ่งมีอยู่ในเมล็ดกาแฟประมาณร้อยละ 0.8-1.7 ตำรับยาสมุนไพรของไทยไม่มีการใช้กาแฟรักษาโรคโดยตรงดังเช่นพืชสมุนไพรตัวอื่นๆ แต่ก็มีรวบรวมเอาไว้ในประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิดของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ระบุสรรพคุณของกาแฟว่าทำให้ตาแข็ง บำรุงหัวใจ แก้ปวดศีรษะเนื่องจากเส้นประสาท แก้อาการหอบหืด

ปัจจุบันชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักแต่กาแฟผงสำเร็จรูปซึ่งสามารถชงกับน้ำร้อนได้ทันที แต่ในอดีตย้อนกลับไปสัก 30 ปี คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแต่เมล็ดกาแฟคั่วเป็นผงหยาบๆ การชงกาแฟใช้ถุงผ้าทรงกรวยปลายแหลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว เป็นอุปกรณ์สำคัญ คือ ใช้กรองผงกาแฟออกจากกาแฟที่ชงน้ำร้อนแล้ว

กาแฟได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยจนสามารถกลายเป็นสำนวนในภาษาไทย ยิ่งปัจจุบันกาแฟได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น คำว่า “คอฟฟี่เบรก” อันหมายถึง ช่วงพักระหว่างทำงานหรือการประชุมเพื่อดื่มกาแฟ (หรือทำกิจกรรมอื่นๆ) นั้นกลายเป็นถ้อยคำสำนวนที่รับรู้กันมากขึ้นในหมู่คนไทย

ไม่ว่าจะมองในด้านใดก็ตาม กาแฟคงจะอยู่คู่กับมนุษย์และสังคมไทยไปอีกนาน ในขณะที่มีคนดื่มกาแฟมากขึ้น จะมีสักกี่คนที่ใส่ใจกับแหล่งที่มาของกาแฟที่กำลังดื่มอยู่ ว่าเกษตรกรผู้ปลูกต้นกาแฟกำลังลำบากยากจนและทุกข์ยากอย่างไร บริษัทยักษ์ใหญ่กำลังมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างไร และกาแฟสำเร็จรูปที่กำลังดื่มอยู่นั้นมีรสชาติต่างจากกาแฟแท้อย่างไร ฯลฯ

ข้อดีของการดื่มกาแฟ

  • ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือปวดไมเกรน
  • ช่วยขจัดอาการเซื่องซึมและอ่อนล้าได้
  • เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
  • ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็ง

ข้อเสียของการดื่มกาแฟ

  • เพียงถ้วยเดียวก็สามารถเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้
  • หลายถ้วยต่อวัน สามารถลดความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายได้ โดยเฉพาะสตรี
  • แคลเซี่ยมในร่างกายถูกชะล้างด้วยคาเฟอืน เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้
  • คาเฟอีนจะแทรกแซงการหลับด้วยคลื่นรบกวนช้าๆ แต่ว่าลึกๆ ซึ่งทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที
  • คาเฟอีนทำให้อาการวิตกกังวล หรือตื่นตกใจแย่ลง

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ชาวโลกปัจจุบันรู้จักและนิยมดื่มกันมากที่สุด และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลก และยังมีบทบาทต่อสังคมมนุษย์อย่างสำนวนไทยที่ว่า สภากาแฟ คอฟฟี่เบรก และกาแฟคงจะอยู่คู่กับมนุษย์และสังคมไทยไปอีกนาน ขณะที่มีคนดื่มกาแฟมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการดื่มกาแฟนั้นก็มีทั้งประโยชน์และโทษหากดื่มมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุเกิดโรคหัวใจได้ ลองถามตัวเองซิคะว่าเราดื่มกาแฟมากไปหรือไม่ต่อหนึ่งวัน

บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจฐานเกษตรกรรม. (2530). กาแฟ. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน, สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. (2551). กาแฟ : ความขมที่ชาวโลกนิยม. ค้นเมื่อ 14 กันยายน2552, จาก http://www.doctor.or.th/node/3291.
maduze บล็อก (2552). ข้อดีข้อเสียของการดื่มกาแฟ . ค้นเมื่อ 8 กันยายน 2552, จาก http://www.smart-today.com/board/home/space.php?uid=101&do=blog&id=105.

รวบรวมและเรียบเรียงโดย : นางสาวเตือนจิต ทองแก้ว นักศึกษาช่วยงานฝ่ายสารสนเทศห้องสมุด งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ