“เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้” คำขวัญจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยว และอาหารที่น่าสนใจมากมาย ประชากรส่วนมากในจังหวัดปัตตานีเป็นชาวมุสลิม ต้องรับประทานอาหารฮาลาลหรืออาหารมุสลิม ซึ่งเป็นอาหารของชนผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่เฉพาะคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ยังมีคนนับถือศาสนาอื่นๆ ในโลกนี้ร่วมรับประทานได้ เพราะปรุงสุกอย่างสะอาด รสชาติอร่อย ถูกสุขลักษณะตามบทบัญญัติของอิสลาม เรามารู้จักกับอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานีที่มีชื่อว่า “กือโป๊ะ หรือ กระโป๊ะ”
“กือโป๊ะ หรือ กระโป๊ะ” เป็นข้าวเกรียบสดนิดหนึ่ง มีรูปร่างหน้าตาน่ารับประทาน เป็นของกินเล่นที่อร่อยมาก นิยมกินกันมากในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้เป็นแหล่งผลิตหลักด้วย กือโป๊ะเป็นข้าวเกรียบสดที่มีส่วนผสมที่หาง่ายและวิธีทำก็ง่าย ใครๆ ก็สามารถที่จะทำกินเองเล่นๆ ที่บ้านได้ ส่วนผสมมาจากปลาทูสด ที่ไม่ได้ขนาด ขายไม่ได้ และราคาถูก และถือได้ว่าเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ดี เพราะปัจจุบันมีคนนิยมกินกันมากขึ้น ไม่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่อื่นๆ ก็นิยมกินเช่นกัน เป็นของดีและมีชื่อเสียงอีกอย่างของจังหวัดปัตตานี

จากการสอบถามถึง ส่วนผสมและวิธีการทำ จากคุณมาเรีย เจ๊ะแว จะเห็นได้ว่าส่วนผสมของกือโป๊ะ จะเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ใกล้ๆ ตัว และหาได้ง่ายในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส วิธีการทำไม่ได้ยุ่งยาก สามารถที่จะทำเองภายในครอบครัวได้
ส่วนผสม
ปลาทู แป้งมันสำปะหลัง เกลือ และน้ำตาลทราย

วิธีทำ
แกะเอาแต่เนื้อปลามาผสมกับแป้งมันสำปะหลัง นำเกลือ น้ำตาลมาคลุุกเคล้าให้เข้ากัน บดจนละเอียด
นำมาแบ่งหรือปั้นเป็นก้อนๆ นำลงไปต้มในน้ำเดือนประมาน 10-15 นาที เอามาหั่นแล้วนำไปทอดประมาณ 3 นาที พร้อมเสิร์ฟกับน้ำจิ้มหวาน

การทำอาหารชนิดนี้แปรเปลี่ยนเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเป็นขุมทรัพย์จากการที่บรรพบุรุษของชาวดาโต๊ะรู้จักวิธีการทำข้าวเกรียบกือโป๊ะมาตั้งแต่อดีต และได้สืบทอดภูมิปัญญานี้ส่งผ่านมาหลายๆ รุ่นจนถึงรุ่นลูกหลาน ในยุคปัจจุบันมีการทำข้าวเกรียบกือโป๊ะไว้กินกันในครัวเรือน และแบ่งขายกันบ้างภายในหมู่บ้านจนขายดี จึงขยายตลาดไปยังภายนอกหมู่บ้าน มีการเพิ่มการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่ตำบล อำเภอ และจังหวัดอื่นๆ จากการผลิตข้าวเกรียบกือโป๊ะของชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่เป็นผู้ผลิตข้าวเกรียบ ประมาณ 3,000– 5,000 บาท/คน/เดือน นับเป็นขุมทรัพย์ที่เกิดจากภูมิปัญญาโดยแท้ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีงานประจำได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และยังมีรายได้เข้ามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย
บรรณนาณุกรม
อบเชย อิ่มสบาย. (2547). อาหารมุสลิม : 114 ตำรับโอชะจากครัวไทยมุสลิม สายอินเดีย-ปากีสถาน มุสลิมปักษ์ใต้ มลายู-ชวา เปอร์เชีย-อาหรับ. กรุงเทพฯ: แสงแดด.
วิทยาลัยชุมชนปัตตานี. (2555). ข้าวเกรียบกือโป๊ะของดีปัตตานี. ค้นเมื่อ 20 มกราคม 2559, จาก: http://www.pncc.ac.th/pncc/joomlapncc/..
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ มาเรีย เจ๊ะแว
ภาพประกอบ
พิมพ์อร จระกา. (2559, มกราคม 20). กือโปะทอด.
มาเรีย เจ๊ะแว. (2558, ธันวาคม 15 ). ข้าวเกรียบสด.
อมรรัตน์ เข็มขาว. (2552, พฤษภาคม 15). เส้นทางทำมาหากิน. ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2559, จาก http://www.komchadluek.net/
เรียบเรียงโดย ฮัสนะห์ กูเดดาเก็ง นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชา การจัดการสารสนเทศ ภาควิชา บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2558