วันมาตรฐานโลก 14 ตุลาคม

มาตรฐานเดียว ทดสอบครั้งเดียว ยอมรับทั่วโลก
มาตรฐานเดียว ทดสอบครั้งเดียว ยอมรับทั่วโลก

วันมาตรฐานโลก เป็นวันที่ระลึกถึงการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ INTERNATIONAL ORGANIZATION FOR STANDARDIZATION หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ISO ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2490 โดยมีผู้แทนจาก 25 ประเทศมาร่วมประชุม ณ กรุงลอนดอน

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นองค์การชำนาญพิเศษประเภทที่ไม่ใช้หน่วยงานของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อประโยชน์ ทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และขจัดปัญหาข้อโต้แย้งและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน ISO มีสมาชิกทั่วโลกจำนวน 124 ประเทศ สมาชิกของ ISO แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. Menber body เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่เป็นตัวแทนด้านการมาตรฐานของประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีหน่วยงานทำหน้าที่สมาชิก ISO เพียงหน่วยงานเดียว ปัจจุบันมีสมาชิก 86 ประเทศ และมากกว่าร้อยละ 70 ของสมาชิกประเภทนี้เป็นหน่วยงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายนอกนั้นเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐบาล สมาชิก Menber body มีสิทธิออกเสียงในเรื่องวิชาการมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะมนตรี ISO และสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ของ ISO ได้

2. Correspondent member เป็นหน่วยงานของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันมาตรฐานเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันมีสมาชิก 25 ประเทศ เกือบทั้งหมดเป็นหน่วยงานของรัฐบาล สมาชิกประเภทนี้ไม่มีสิทธิเข้าร่วมในงานวิชาการ แต่มีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารความเครื่อนไหวของ ISO และเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์

3. Subscriber memdership สมาชิกประเภทนี้เปิดสำหรับกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างเล็ก ให้สามารถติดต่อกับ ISO ได้ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย กัมพูชา แอนติกาและบาร์บูดา สาธารณรัฐโดมิกัน ฟิจิ เกรเนดา บุรุนดี เซนต์ลูเซีย นามิเบีย และกายอานา

ผู้บริหารของ ISO เป็นคณะมนตรี ISO ( ISO Council ) ซึ่งประกอบด้วยประธาน ISO และผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการเลือกตั้ง

คณะมนตรี ISO มีหน้าที่กำหนดโครงสร้างของ ISO อนุมัติการประกาศกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ แต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการการบริหารงานวิชาการ ( Technical Management Board ) เหรัญญิกและประธานคณะกรรมการนโยบายของ ISO

สำหรับประเทศไทยมีสำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศไทย ได้เข้าร่วมการบริหารของ ISO ในฐานะ สมาชิกประเภทร่วมทำงานคณะกรรมการวิชาการหรือ TC ( Technical Committee ) จำนวน ๕๕ คณะ และในฐานะสมาชิกประเภทสังเกตการณ์ในคณะกรรมการวิชาการ จำนวน 155 คณะ เพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานสากล ทำให้สามารถต่อรองข้อกำหนดมาตราฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และได้รับทราบความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่องานมาตรฐานของประเทศ

วันมาตรฐานโลก 14 ตุลาคม

ปัจจุบันประเทศสมาชิกของ ISO ต้องปฏิบัติตามพันธกรณ๊ในการให้ความเชื่อถือในมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค กล่าวคือ ผู้ผลิตสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดดยสามารถเสนอขายสินค้าที่ผลิตตามมาตรฐานระหว่างประเทศทั้งโลก และผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ และปลอดภัยจากทั่วโลก

บรรณานุกรม

วรนุช อุษณกร. (2543). ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

ภาพประกอบ

http://library.tisi.go.th/multim/bulletin/2545/328Oct02.pdf

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด