วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษา (นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาจนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ครบ 3 เดือนพอดี) หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน พระสงฆ์จาริกไปแรมคืนที่อื่นได้ เพื่อเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตามความประสงค์ โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาค้างแรม ณ วัดที่ตนสังกัด วันออกพรรษานี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา หมายถึง การที่พระภิกษุสงฆ์เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันกล่าวตักเตือนได้ ปวารณา เป็นพิธีกรรมของสงฆ์ ที่ท่านทำปวารณาต่อกันในวันออกพรรษา ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส

ประเพณีตักบาตรเทโว หลังจากวันออกพรรษา แล้ว 1 วัน แรม 1 ค่ำ เดือน 11
ประเพณีตักบาตรเทโว หลังจากวันออกพรรษา แล้ว 1 วัน แรม 1 ค่ำ เดือน 11

ประวัติความเป็นมา

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาด้วยสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี มีภิกษุพวกหนึ่งจำนวนหลายรูปจำพรรษาอยู่ในวัดแห่งแคว้นโกศล ประสงค์จะป้องกันการวิวาทมิให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน จึงตั้งกติกาไม่พูดกัน ใครมีกิจอย่างไรก็ทำไปตามหน้าที่ วิธีนี้เรียกว่า มูควัตร คือปฏิบัติเหมือนคนใบ้ ครั้นออกพรรษาแล้วพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลมูควัตรที่ตนปฏิบัติให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงตำหนิว่า ความประพฤติเช่นนั้นเหมือนสัตว์เดียรัจฉาน ธรรมดาสัตว์แม้จะอยู่ด้วยกันก็ไม่ถามถึงทุกข์สุขกัน แล้วตรัสห้ามภิกษุมิให้ปฏิบัติดังนั้นต่อไป ถ้าปฏิบัติจะปรับโทษเป็นอาบัติทุกกฎ จากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบสามเดือนปวารณาแก่กัน คือว่ากล่าวตักเตือนข้อผิดพลั้งตามที่ได้เห็นหรือได้ยิน คำปวารณามีใจความว่า “ท่านทั้งหลายข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ด้วยได้เห็นเองก็ดี ด้วยได้ฟังมาก็ดี ด้วยสงสัยก็ดีขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสำนึกได้จัดทำการแก้ตัวเสีย” ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงถือบุคคลเป็นใหญ่ แต่พระองค์ทรงถือพระธรรม คือ ความถูกความควรเป็นสำคัญ เมื่อรู้เห็น ความไม่ดีไม่งามของกันและกันแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ก็เพื่อความบริสุทธิ์ในหมู่สงฆ์และเป็นความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุนี้ วันอออกพรรษาเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษาตามเวลาที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนด จึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งของไทย

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

1. บำเพ็ญกุศล อาทิ ทำบุญใส่บาตร จัดดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาพระที่วัด ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร ฟังพระธรรมเทศนา และมีการตักบาตรเทโวในวันรุ่งขึ้น
2. ร่วมกุศลกรรม “ตักบาตรเทโว”
3. จัดนิทรรศการ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่เกี่ยวกับวันออกพรรษา
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติ

ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา ที่นิยมปฎิบัติกันมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ประเพณีตักบาตรเทโว
2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ


วันปวารณาออกพรรษา | ประเพณีตักบาตรเทโว | ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ