ช้างเอเซียจำแนกได้ 3 ชนิดย่อย (Subspecies) ได้แก่
1. ช้างเอเซียพันธุ์ศรีลังกา (Elephas maximus maximus Linn)
เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศศรีลังกาเท่านั้น มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเซียทั้งหมด ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็น ช้างสีดอ (mukna) คือ ไม่มีงา มีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) ยาวไม่พ้นปากหรืออาจยาวพ้นปากเพียงเล็กน้อย มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีลักษณะเหมือนกับช้างเอเซียพันธุ์อื่น ๆ คือไม่มีงา มีแต่ขนายเท่านั้น
2. ช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus Cuvier)
เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซีย ได้แก่ ประเทศเนปาล ภูฐาน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา แคว้นยูนนาน และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ช้างในประเทศไทยยังมีลักษณะที่น่าสังเกตุอีก ดังนี้ คือ
- หนังมีขนเส้นห่าง ๆ ปลายหางมีขนเส็นยาว ๆ งอกเป็นแนวด้านหน้าและด้านหลังของปลายหาง (ราว 2-3 นิ้ว) ขนหางยาวราว 7-8 นิ้ว โค้งไปจรดกันตรงปลาย
- ลายฟันหน้า มักมีจำนวนตามลำดับชุดของกรามดังนี้ คือ 4, 8, 12, 16, 24 แต่อาจมากน้อยกว่านี้บ้างในบางราย
- ช้างตัวผู้บางตัวมีงา เรียกว่าช้างพลาย ถ้างาใหญ่ เรียกว่า ช้างงาปลี ถ้างาเล็ก ยาวเรียว เรียกว่า ช้างงาเครือ ตัวผู้ที่ไม่มีงา เรียกว่า ช้างสีดอ (mukna)
- ช้างตัวเมีย เรียก ช้างพัง ช้างสีดอและช้างพัง ไม่มีงา มีแต่ขนายที่ใช้แทนงา
- ช้างเผือก คือ ช้างที่มีต่อมทำสีเมลานินผิดปกติ ผิวหนังและขนค่อนข้างเป็นสีหม้อใหม่ นัยน์ตาขาวๆ เหลืองๆ ส่วนอื่นๆ จะเป็นสีจาง ช้างแก่ๆ มักมีโคนงวงและใบหูตกกระเป็นสีหม้อใหม่เหมือนกัน
- ช้างป่า เรียกหน่วยนับเป็น ตัว ช้างเลี้ยง เรียกหน่วยนับเป็น เชือก
3. ช้างเอเซียพันธุ์สุมาตรา (Elephas maximus sumatranus Temmick)
เป็นช้างที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าตามธรรมชาติบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ขนาดร่างกายมักจะเล็กกว่าช้างเอเซียพันธุ์อินเดีย
ลักษณะทั่วไปของช้างเอเซีย
ช้างเอเซียเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่บนบก เท้าเป็นกีบ มีลักษณะกลม (Hoof) มีงวงยาว ความยาวของลำตัวจากหัวจรดโคนหางยาวประมาณ 400 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ใบหูกว้างประมาณ 40-50 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3,500-4,000 กิโลกรัม (3.5-4.0 ตัน) ความสูงบริเวณไหล่เฉลี่ยประมาณ 240-270 เซนติเมตร (8-9 ฟุต)
ลูกช้างเมื่อเกิดใหม่ๆ จะมีขนปกคลุมตามร่างกาย แต่ภายหลังขนจะค่อยๆ หลุดร่วงไปคงเหลือบ้างประปราย ขนตาค่อนข้างยาว และปลายหางจะมีขนเส้นใหญ่ หยาบ ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร งอกเป็นแผง 2 ด้านของหางงอโค้งไปทางด้านปลายหาง ผิวหนังเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงสีเทา บริเวณหูและงวงมีสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น หัวโต มีโหนกเป็นลอน 2 อัน ซึ่งเรียกว่า “โหนกน้ำเต้า” สมองเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของหัว คือสมองกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร สูงประมาณ 12.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม กะโหลกหัวส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโพรงอากาศคล้ายรังผึ้ง จึงทำให้กะโหลกหัวช้างมีน้ำหนักเบา สมองอยู่ในตำแหน่งกลางหัว ถ้าลากเส้นตรงจากกึ่งกลางรูหูข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งจะผ่านกลางสมองพอดี มีต่อมบรรจุของเหลวข้นคล้ายน้ำมันหมูอยู่บริเวณขมับ ระหว่างตากับรูหูข้างละ 1 ต่อม ต่อมนี้ยังไม่ทราบหน้าที่ที่แท้จริง ช้างตัวเมียมีเต้านม 2 เต้าอยู่บริเวณหน้าอกระหว่างขาหน้า 2 ข้าง ตามปกติหัวนมจะไม่พัฒนายกเว้นขณะเป็นแม่ลูกอ่อน ช้างมีตาขนาดเล็ก
ช้างมีงวง ซึ่งเป็นอวัยวะที่เจริญมาจากจมูกและริมฝีปากบน ซึ่งยืดยาวออกไปโดยมีรูจมูกอยู่ที่ปลายงวง 2 รู งวงประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อหลายชั้น ดังนั้นงวงช้างจึงมีความแข็งแรงและมีกำลังมาก บริเวณปลายงวงมีอวัยวะรับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นและสัมผัส ทำให้ช้างสามารถรับรู้กลิ่นต่างๆได้ในระยะไกล ช้างสามารถรับกลิ่นเสือหรือมนุษย์ที่อยู่เหนือลมได้ไกลถึงกว่า 1 กิโลเมตร งวงช้างนอกจากจะเป็นจมูกใช้ในการหายใจและดมกลิ่นต่างๆแล้ว ยังใช้เป็นอวัยวะจับสิ่งของต่างๆ ตลอดจนอาหาร เช่น หญ้า ใบไม้ และดูดน้ำพ่นเข้าปากกินได้ด้วย
ช้างมีตาขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัวที่ใหญ่โต แต่ช้างเป็นสัตว์ที่มีสายตาไม่ดี ในระยะ 15-20 เมตร ช้างอาจมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม หรือศัตรู
งาช้างเป็นฟันตัดที่พัฒนาเจริญงอกยาวออกไปจากขากรรไกรบนข้างละ 1 กิ่ง งาช้างตามปกติจะมีขนาดใหญ่และยาวพ้นริมฝีปาก พบเฉพาะในช้างตัวผู้เท่านั้น ส่วนช้างตัวเมียและช้างสีดอซึ่งเป็นช้างตัวผู้ที่มีงาขนาดเล็ก เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยาวไม่พ้นริมฝีปากหรือยาวพ้นริมฝีปากเพียงเล็กน้อยประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียกงาแบบนี้ว่า “ขนาย” ไม่เรียกว่า “งา” โคนงาและขนายที่ฝังอยู่ในขากรรไกรบนจะมีกระดูกอ่อนหุ้มอยู่หนาประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ลักษณะงาช้างโดยทั่วไปจะเป็นโพรงหรือรูกลวง ความลึกของโพรงขึ้นอยู่กับอายุของช้าง ช้างที่มีอายุมากส่วนโพรงจะตื้น สั้นกว่าส่วนที่ตัน ช้างที่มีอายุมากๆ อาจมีโพรงลึกเพียง 15-20 เซนติเมตรเท่านั้น ภายในโพรงของงาจะเต็มไปด้วยของกึ่งเหลวกึ่งแข็งสีน้ำตาลแดงคล้ายตับหมู ช้างจะเริ่มมีงาหรือขนายเมื่ออายุประมาณ 2-5 ปี งาช้างนอกจากจะใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวของช้างแล้ว ยังใช้สำหรับลอกเปลือกไม้ และขุดดินโป่งกินได้อีกด้วย ตามปกติงาช้างจะมีสีขาวซึ่งแตกต่างจากสีขาวธรรมดาทั่วไป จึงเรียกว่าสีงาช้าง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานว่ามีงาช้างสีดำซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมาก ปัจจุบันหาดูได้ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน
ใบหูช้างประกอบด้วยใบหูและรูหู ใบหูของช้างเป็นแผ่นใหญ่ ขอบใบหูของช้างเอเซียจะสูงไม่พ้นหัว ส่วนโคนใบหูหนาแล้วค่อยๆบางลงไปจนถึงของใบหู บริเวณปลายขอบใบหูมีลักษณะเว้าแหว่ง ยิ่งช้างที่มีอายุมากลักษณะเว้าแหว่งของใบหูยิ่งมีมากขึ้น ใบหูมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 65-85 เซนติเมตร
ช้างจะโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี และมีอายุยืนประมาณ 70 ปี
อาหารการกิน และอุปนิสัย
ช้างกินอาหารประมาณวันละมากกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กิน ได้แก่ หญ้า ใบและต้นของกล้วยป่า หน่อไม้ ไผ่ ผลไม้และยอดไม้ โดยช้างมักจะหักกิ่งไม้จากยอดไม้ลงมากินและเหลือทิ้งไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ช้างจะกินผลไม้ทุกชนิดที่หล่นตามพื้น หรืออาจใช้หัวดันต้นไม้ให้ลูกไม้ตกลงมา สัตว์กินพืชนั้นจะต้องการดินโป่งซึ่งประกอบด้วยโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอื่นๆ ช้างก็เช่นกัน มักจะกินโป่งในช่วงที่ฝนตกเพราะดินอ่อนนุ่ม ในช่วงที่ฝนไม่ตก ช้างสามารถใช้งาขุดดินโป่ง ทำให้ดินโป่งร่วน ทำให้สัตว์อื่นสามารถเข้ามาอาศัยกินดินโป่งได้
ช้างต้องการน้ำประมาณวันละ 200 ลิตร ในฤดูแล้งช้างสามารถหาน้ำกินโดยใช้เท้าและงวงขุดทรายท้องน้ำที่แห้งลงลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร ถ้าขุดลึก 30 เซนติเมตรแล้วทรายยังแห้งช้างจะเปลี่ยนที่ขุดใหม่
ช้างมักอาศัยอยู่เป็นโขลง โขลงละ 1 ครอบครัว ในโขลงมักประกอบด้วยช้างตัวเมีย และช้างตัวผู้อายุน้อย ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักหากินตามลำพัง เรียกว่า “ช้างโทน” จะเข้าโขลงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น จ่าโขลงมักเป็นตัวเมียที่มีอายุมาก ที่เรียกว่า “แม่แปรก” (อ่านว่าแม่ปะแหรก) เป็นผู้นำโขลงในการหากิน และหลบภัย
เนื่องจากช้างที่มีอายุมากจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอาหาร น้ำ และโป่ง ขณะมีการเคลื่อนย้ายโขลงลูกช้างจะถูกขนาบด้วยแม่และแม่รับเสมอ ส่วนตัวผู้จะเดินตามโขลงอยู่ห่างๆ ช้างมักยืนในร่มโบกหูไปมา ยามหลับจะโยกตัวช้า ๆ อย่างสม่ำเสมอ บางตัวอาจนอนตะแคงในช่วงเวลาสั้น ๆ ช้างจะนอนในเวลากลางคืน ประมาณวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น
ช้างสามารถว่ายน้ำได้ ในอัตราเร็วประมาณ 1.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถว่ายน้ำโดยที่เท้าไม่สัมผัสพื้นเลยได้ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ช้างมักใช้โคลนหรือฝุ่นพ่นใส่ตัวเอง อาจเพื่อเป็นการป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะในฤดูฝน
ช้างตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยบางตัวที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีจะมีช่วงการตกมัน ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ก่อนเกิดอาการตกมัน ต่อมระหว่างตากับหูจะบวมขึ้นและมีน้ำมันไหลออกมา น้ำมันนี้มีกลิ่นฉุนเหม็นสาบรุนแรง ช้างตัวผู้มักมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีน้ำเชื้อไหลออกมาด้วย 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้นช้างจึงจะมีการก้าวร้าว เจ้าของช้างหรือควาญช้างมักลดปริมาณอาหารหรืองดอาหารเพื่อให้ช้างลดความอุดมสมบูณ์ของร่างกาย การตกมันมักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ก็อาจเกิดช่วงฤดูร้อนได้ อาการจะคงอยู่ 2-3 สัปดาห์จึงสงบลง
การสืบพันธุ์
ตามปกติในรอบหนึ่งปีช้างจะผสมพันธุ์เฉพาะในช่วงฤดูหนาว โดยในช่วงฤดูหนาวช้างตัวเมียจะเป็นสัด (Heat) ส่วนช้างตัวผู้จะมีความรู้สึกทางเพศ ช้างตัวเมียที่เป็นสัดจะยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์และสิ้นสุดการสืบพันธุ์เมื่ออายุเท่าใดนั้นยังไม่มีผู้ศึกษาและบันทึกเป็นหลักฐานแน่นอน แต่มีการคาดคะเนว่าช้างตัวเมียจะโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 18-20 ปีขึ้นไป และสิ้นสุดความสามารถในการสืบพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ระยะการตั้งท้องนานประมาณ 19-21 เดือน ตามปกติช้างจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว (เชือก) การตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 ปี และในช่วงชีวิตของช้างจะมีลูกได้เฉลี่ย 3-4 ตัว (เชือก) (Khan, 1969 ; Kondo, 1972 ; Lekagul and McNeely, 1977)
จากการศึกษาในช้างเลี้ยงพบว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของช้างตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีโดยเข้าไปคลอเคลียช้างตัวเมียที่เป็นสัด ใช้งวงดมและจับเต้านมและอวัยวะเพศของช้างตัวเมีย จากนั้นจึงขึ้นทับโดยใช้ 2 ขาหน้าขึ้นวางบนหลังช้างตัวเมียแล้วจึงสอดใส่อวัยวะเพศ การขึ้นทับสามารถทำได้ทุกเวลาทั้งเวลากลางวันและกลางคืนขึ้นอยู่กับโอกาสและความพอใจ ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ตั้งแต่เกี้ยวพาราสีจนสอดใส่อวัยวะเพศได้สำเร็จประมาณ 20-40 นาที แต่การผสมพันธุ์ของช้างเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โอกาสที่จะเห็นการผสมพันธุ์ของช้างจึงมีน้อย ไม่น่าจะเนื่องจากความอายของช้างดังที่เข้าใจกัน ในขณะที่ช้างตั้งท้องนั้นท้องจะโป่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย ดูเหมือนช้างอ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น การตั้งท้องของช้างอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้
เต้านมคัดตึงผิดปกติ ยิ่งช้างท้องแก่อาจมีน้ำนมไหลซึมออกมาให้เห็น ถ้าเป็นช้างเลี้ยงมักจะเลี่ยงการทำงานหนัก และไม่ค่อยยอมหมอบตามคำสั่ง ช้างที่ท้องแก่มากจวนคลอดมักจะเดินแกว่งหางชี้ไปข้างหลังเป็นลักษณะครึ่งวงกลม เอ็นหน้าท้องระหว่างขาหน้าและโคนขาหลังจะหย่อนยานลง พฤติกรรมของช้างตัวเมียที่ตั้งท้องมักจะหาช้างตัวเมียที่สนิทกันมาช่วยดูแล เป็นพี่เลี้ยงในเวลาออกลูก เรียกว่า “ช้างแม่รับ” เมื่อช้างท้องแก่ก่อนคลอด 2-3 ชั่วโมง จะส่งเสียงร้องและมีน้ำคร่ำไหลออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะคลอดลูกจะงอขาหลังลงทั้ง 2 ข้างเพื่อให้ลูกช้างตกลงสู่พื้นไม่สูงนัก การคลอดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ลูกช้างที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีถุงบางใสหุ้มลำตัว ช้างแม่รับจะใช้เท้าหน้าและงวงฉีกถุงเยื่อหุ้มออกและป้องกันไม่ให้ลูกช้างเข้าไปหาแม่ช้าง อาจเนื่องจากแม่ช้างจะมีอาการเจ็บท้องรุนแรง ยังไม่ได้สติ อาจเผลอทำร้ายลูกได้ และช้างแม่รับจะช่วยแม่ช้างดูแลลูกช้างจนลูกช้างโตพอที่จะออกหากินเองได้
ลูกช้างแรกเกิดจะมีขนยาวปกคลุมทั่วร่างกาย งวงสั้น มีความยาวประมาณ 25-37.5 เซนติเมตร (10-15 นิ้ว) สูงประมาณ 75-90 เซนติเมตร (2.5-3 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม ลูกช้างจะกินนมแม่และอยู่กับแม่ตลอดเวลาจนกระทั่งอายุประมาณ 3 ปี
ขี้ช้าง
ขี้ช้าง มีตัวด้วง และแมลงต่างๆเข้าไปตอม แล้วหาอาหาร นอกจากนี้ยังมีเมล็ดพืช ชนิดต่างๆที่ช้างกินเข้าไป ซื่งเมล็ดพืชเหล่านี้พร้อมที่จะ เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เมื่อได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำและอากาศ
**************************************
🐘 รวมเรื่อง ช้าง (Elephants) ที่เกี่ยวข้อง
ชีววิทยาของช้าง | ช้างเอเซีย | ช้างไทยในประวัติศาสตร์ | ช้างประจำรัชกาลที่ 9 | วันช้างไทย 13 มีนาคม
อ้างอิง
ช้างไทยในความทรงจำ. พระไพศาล วิสาโล. สำนักพิมพ์ใจสบาย นนทบุรี. 2537.
กรมป่าไม้
http://animaldiversity.ummz.umich.edu/chordata/mammalia/proboscidea.html
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด