วันมหิดล 24 กันยายน

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 การศึกษาในเบื้องต้น ได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมัน จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรังไม่ทรงสามารถรับราชการหนักเช่นการทหารเรือได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุขและปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้อย่างมากมาย อาทิเช่น

  1. เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์
  2. ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช
  3. ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อยู่อาศัย
  4. ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนสำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ
  5. ประทานเงินเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการให้แก่โรงพยาบาล
  6. เป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิรอคกี้เฟลเอเล่อร์ สาขาเอเซียบูรพา ในการปรับปรุงการศึกษา และวางมาตราฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้
  7. ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกสวรรคตเมื่อ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้  ณ    โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง และมีศาสตราจารย์ศิลป พีรพศรี เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493

ในวันที่ 24 กันยายน 2493 อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

บรรณานุกรม

วรนุช อุษณกร. (2543). ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

ภาพประกอบ

http://www.si.mahidol.ac.th/

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด