ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดยย่อว่า มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า ข้อ1. เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2. เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ 3. ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลขอผลัด 7 วัน ครั้นล่วงไปได้ 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น
มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง 7 อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์
ครั้งถึงครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และมโหทร
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ 13, 14, 15 เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก
ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์
มีดังนี้
- สงกรานต์ ที่แปลว่า “ก้าวขึ้น” “ย่างขึ้น” นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์
- มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง สงกรานต์ปี คือ ปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือ สงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว
- วันเนา แปลว่า “วันอยู่” คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว
- วันเถลิงศก แปลว่า “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ 3 ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้
วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. 1181 โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ 1 องศา ประกอบ กับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย
ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ 13 เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ 13 เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้ โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ 13 จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี
ปกติวันสงกรานต์จะมี 3 วัน คือ เริ่มวันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน วันแรกคือวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ 0 องศา) วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง 4 วัน คือวันที่ 13-16 เป็นวันเนาเสีย 2 วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉย ๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว
จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ
ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์
• การเตรียมงาน :
วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่” สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้
- เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน
- ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิเศษ 2 อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ
- การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง
- สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิอาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย
• การทำบุญ :
การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์
1. พิธีหลวง พระราชพิธีสงกรานต์
เริ่มกระทำในวันที่ 13 เมษายนถึงวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันเถลิงศก พระราชพิธีทำบุญเถลิงศกนี้ในสมัยกรุงสุโขทัยจะมีหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏในหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่าว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่าง เช่น เสด็จฯ ไปสรงน้ำพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชร สรงน้ำเทวรูปพระพิฆเนศร และโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เข้าไปสรงน้ำ และรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง 3 วัน กับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อพระทรายและฉลองพระทรายอีกด้วย
พระราชพิธีเดือนห้านี้แต่ก่อนเรียกว่า พระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-5 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานเถลิงศก โดยอนุโลมตามแบบอย่างที่ทำในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นบางส่วน และได้ทำการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบ้างตามความเหมาะสม
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริว่าการบำเพ็ญพระราชกุศลสิ้นปี ซึ่งเรียกกันว่า การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งได้ทำกันราวกลางเดือนมีนาคม และการพระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ ซึ่งกระทำกลางเดือนเมษายนนั้น น่าจะเลื่อนมาทำให้สืบเนื่องติดต่อกันเป็นพิธีเดียวกัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนการบำเพ็ญพระราชกุศลสิ้นปีไปทำในปลายเดือนมีนาคม และเลื่อนพระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์มาทำต้นเดือนเมษายน โดยให้วันประกอบการพระราชพิธีติดต่อสืบเนื่องกัน แล้วเปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีเสียใหม่ว่า การพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ หมายความว่า พระราชพิธีสิ้นปีและขึ้นปีใหม่
ต่อมาใน พ.ศ. 2482 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้ให้ยกเลิกการพระราชพิธีตรุษเสียทั้งหมด คงให้มีอยู่แต่พระราชพิธีทำบุญเถลิงศก และได้เปลี่ยนชื่อพระราชพิธีเสียใหม่ว่าพระราชพิธีเถลิงศก ครั้นเมื่อได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากเมษายนมาเป็นมกราคมแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ แต่พิธีการมีอยู่อย่างเดิมในปี พ.ศ. 2487 ได้ตัดทอนพิธีลงไปอีกเหลือเป็นงานวันเดียว ไม่มีการสรงน้ำพระบรมอัฐและพระอัฐ
พระราชพิธีสงกรานต์ในรัชกาลที่ 9
ครั้นถึง พ.ศ. 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงพระดำริว่า การสรงน้ำพระบรมธาตุ สรงน้ำพระพุทธปฏิมากร สรงน้ำพระบรมอัฐ และพระอัฐ สมเด็จพระบรมราชบูรพการีและพระบรมราชวงศ์นั้น เคยถือธรรมเนียมปฏิบัติกันมาช้านานในเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรจะละทิ้งธรรมเนียมอันเป็นมงคลเสีย และก็ไม่ควรจะได้มีการสรงน้ำพระ สรงน้ำพระบรมอัฐ และพระอัฐในเดือนมกราคมซึ่งเป็นฤดูหนาว ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้การประกอบการพระราชพิธีสงกรานต์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาพลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า การพระราชพิธีซ้ำกันอยู่ คือ มกราคมก็ทำหนหนึ่ง มาถึงเดือนเมษายนก็ทำอีกหนหนึ่ง น่าจะงดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่เดือนมกราคมเสีย ก็ทรงเห็นด้วย แต่ทรงมีพระราชกระแสว่าการนี้จะงดเสียเลยทีเดียวก็ไม่สมควร เพราะว่าประชาชนส่วนรวมเขาถือว่ามกราคมเป็นปีใหม่ ฉะนั้นให้งดแต่การพิธีต่าง ๆ แต่ให้มีการทรงบาตร เช่นเดียวกับที่ประชาชนนิยมตักบาตรกันในวันปีใหม่ ซึ่งก็มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทุกกระทรวงไปร่วมในการพระราชกุศลทำบุญ ตักบาตรที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังในวันที่ 31 ธันวาคมมาก ที่ทรงกำหนดให้ไปตักบาตรในวันที่ 31 ธันวาคมนั้น ก็เพราะทรงพระราชดำริว่าวันที่ 1 นั้นประชาชนตักบาตรกันที่ท้องสนามหลวง ถ้าจะทรงบาตรในวันนั้นด้วย ข้าราชการข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งจะไปตักบาตรที่สนามหลวงบ้างก็จะไปไม่ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเสียใหม่ไม่ให้พ้องกัน
ในพระราชพิธีสงกรานต์นี้ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ และพระราชทานเงินเหรียญสลึงแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เป็นราชตระกูลบรรดาที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชพิธีเพื่อเป็นที่ระลึกด้วย การพระราชทานแจกเหรียญสลึงนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ คือ เจ้านาย และราชตระกูล คือ หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวงไปจนถึงราชินีกุล เข้าไปรับพระราชทานกันเป็นตระกูล ๆ ตามลำดับ ส่วนข้าราชการที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ไม่ได้รับพระราชทาน ในรัชกาลหลัง ๆ ก็ปฏิบัติอย่างนั้นตลอดมา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริในปัจจุบันนี้กาลสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว การทำเช่นนั้น จะทำให้เห็นว่ามีการแยกพระราชทานพระมหากรุณาเฉพาะหมู่ เฉพาะเหล่า ไม่เสมอหน้ากัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดแจกเหรียญสลึงเสีย
2. พิธีราษฎร์
การทำบุญในวันสงกรานต์ อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ 2 แห่งคือ ที่วัด หรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว การตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถว และนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้
ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพร คือ พาหุง พอเสร็จก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉัน จะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
การก่อเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด
การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรน้ำผ้า 1 สำรับ คือ ผ้านุ่ง 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับ ดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้ มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม 1 สำรับ และดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือ ตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป
การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไป แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริง จัดขึ้นเพื่อเชิ่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย
การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย
การแห่นางแมว บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือ ถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน
สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์
- เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
- เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด
- เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม
- เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ
- เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป 1 ปีแล้ว และในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง
- เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว
- เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน
สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ของเทศกาลสงกรานต์ ในแต่ละปี ได้ที่ เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (https://thai.tourismthailand.org/Search-result/tagword/สงกรานต์) และเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (http://book.culture.go.th/songkran64)
บรรณานุกรม
สมชัย ใจดี,ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. (2531). ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
สุพัตรา สุภาพ. (2534). สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สงกรานต์. (2533). กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ.
“พระราชพิธีสงกรานต์” (คัดลอก) http://technology.thai.net/culture/onccthai1.html เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร