ความเป็นมาของผู้สูงอายุ
ในสมัย จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบาย ที่สำคัญประการหนึ่ง ในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยาก ประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
- เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตนแต่มีความต้องการ บริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ
- เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
- เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม และให้สามารถอยู่ในสังคม ได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ
- เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
- เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้ว ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะคุณเลี้ยงดู ต่อไปกรมประชาสงเคราะห์ได้ดำเนินการ ให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามนโยบายดังกล่าวข้างต้นตลอดมา
ประวัติและความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ
ในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ” ผู้สูงอายุ “ ไว้ดังนี้
ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญว่า Add life to years เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลก ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า ” ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน “
รัฐบาลในสมัยนั้น (พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุและได้เลือก ” ดอกลำดวน “ เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
สาเหตุที่เลือกดอกไม้นี้ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไ ว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ.

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Sphaerocoryne clavipes.
ชื่อสามัญ : Melodorum fruticosum Lour.
วงศ์ : Annonaceae.
ชื่อไทยพื้นเมือง : หอมหวล
การขยายพันธุ์ : โดยเมล็ดและจากการตอนกิ่ง
ต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8 – 20 เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดรูปกรวยต่ำทึบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ใบมน รี ใบดอกออกเดี่ยว ๆ มีสีเขียวเข้ม หลังใบมีสีนวล ดอกสีนวล กลีบดอกมีสองชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม แผ่แบนออก กลีบชั้นในมีลักษณะเป็นคลื่นหุ้ เข้าหากัน มีกลิ่นหอมเย็นเริ่มส่งกลิ่นหอมตั้งแต่เย็น จนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ดอกออกตลอดปี ผลเมื่อสุกแล้วจะมีสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน.
อ้างอิง
บุญลือ วันทายนต์. (2537). ข้อมูลวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
พรรณไม้ในสวนหลวง ร.9 . (2539). กรุงเทพฯ : จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการฝ่ายหาทุนมูลนิธิสวนหลวง ร.9.
” ประวัติวันผู้สูงอายุ ” ว.กสค. ( เม.ย. 2535 ) 7.
รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร