วันพ่อขุนเม็งราย 26 มกราคม

วันพ่อขุนเม็งราย 26 มกราคม

“พ่อขุนเม็งราย” เป็นโอรสของ “พระเจ้าลาวเมง” แห่งราชวงค์ลวจักราชผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับ “พระนางอั้วมิ่งจอมเมือง” หรือ พระนางเทพคำขยาย ราชธิดาของเท้ารุ่งแก่นชาย เจ้าเมืองเชียงรุ้งพระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม  9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช  601  ตรงกับ พ.ศ. 1781 ในปี พ.ศ. 1819  พ่อขุนเม็งรายได้ยกทัพไปประชิดเมืองพะเยา พ่อขุนงำเมือง  ผู้ครองเมืองพะเยาออกมารับเสด็จด้วยไมตรีแล้วยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พ่อขุนเม็งรายแล้วปฏิญาณเป็นมิตรกัน

ต่อมาอีกราว 4 ปี พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนงำเมืองและพ่อขุนเม็งราย  ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นพระสหายกัน  โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมกับน้ำสัตย์เสวยทั้งสามพระองค์  สัญญาว่าไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต

และในปี พ.ศ. 1834 พ่อขุนเม็งรายได้เสด็จไปสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ใช้เวลาสร้างนาน  5  ปี ในปี พ.ศ.1839 จึงเสด็จและสถาปนานครแห่งนี้ว่า  “เชียงใหม่”  พ่อขุนเม็งรายทรงประสูติมาเพื่อเป็นผู้กอบกู้และรวบรวมชาวไทยให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน  เพื่อระงับทุกข์เข็ญต่าง ๆ  ในแผ่นดินและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในแคว้นลานนาเป็นเอนกประการ

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์โดยสังเขปมีดังนี้

  1. ทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง 3 เมืองได้แก่ เมืองเชียงราย  เมื่อ  พ.ศ. 1805    เมืองกุมกาม  ( ปัจจุบันคืออำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ )  พ.ศ. 1829  เมืองเชียงใหม่  พ.ศ. 1834 นอกจากนั้นพระองค์ได้ทรงบูรณะเมืองหิรัญนครเงินยาง  ในปี  พ.ศ. 1811 ได้บูรณะเมืองฝาง เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมไพร่พลของพระองค์  (ซึ่งแต่เดิมเมืองฝางตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน)  และโปรดให้ขุนอ้ายเครือคำลก หรือขุนเครื่อง ราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองฝาง
  2. ทรงแผ่พระเดชาในทางการรบ กล่าวคือ หลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำไปแล้วในปี พ.ศ. 1824 ตีเมืองหิริภุญชัยจากพระยายีบาได้สำเร็จดินแดนภาคเหนือทั้งหมด พ่อขุนเม็งรายได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรลานนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกล ดังนี้

ทิศเหนือ          จดสิบสองปันนา

ทิศใต้              จดอาณาจักรสุโขทัย

ทิศตะวันออก   จดแคว้นลาว

ทิศตะวันตก     จดแม่น้ำสาละวิน

3. ทรงนำความเจริญในด้านศิลปกรรรม และพาณิชยกรรมมาสู่แคว้นลานนา โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่าง ๆ  เช่น ช่างฆ้องช้าง ช่างทอง  และช่างเหล็ก  ชาวพุกามเข้ามาฝึกสอนชาวลานนาไทย เพื่อให้เข้าใจในศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ  ทรงจัดหาทำเลที่เหมาะสมในการเกษตรและการค้าเพื่อให้มีอาชีพทั่วหน้า พระองค์ทรงพระปรีชาในด้านการปกครองด้วยเช่นกัน  ได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎที่ทรงตั้งขึ้นไว้เป็นพระธรรมศาสตร์ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน  เรียกว่า  “กฎหมายมังรายศาสตร์”  เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาในการพิพากษาผู้กระทำผิด สมควรแก่โทษานุโทษ

4. ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถ และประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง พ่อขุนเม็งรายทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเป็นองค์ศาสนูปถัมภก และทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองราษฎรของพระองค์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมีศีลธรรมอันดี มีความโอบอ้อมอารีย์  แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้าแต่การใดที่เป็นทางนำไปสู่ความหายนะเป็นเหตุให้เสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน พระองค์ทรงหลีกเลี่ยง  ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงรับไมตรีจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ  และการกระทำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสามกษัตริย์

“เจ้าขุนคราม” หรือ “พระเจ้าไชยสงคราม”  พระราชโอรสของพญามังรายได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่  หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคต เจ้าขุนครามได้โปรดให้สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระบิดาไว้  ณ  บนดอยงำเมือง  นอกจากบนวัดงำเมืองจะมีกู่พ่อขุนเม็งรายแล้ว  ยังมีอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชขนาดเท่าครึ่งตัว ประทับนั่งบนบัลลังก์  ทรงเครื่องทรงแบบเดียวกับอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชบริเวณห้าแยก  ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ทั้งสองข้าง วางบนพระเพลา ทั้งสองสิ่งนี้เป็นที่นับถือของประชาชนชาวเชียงราย และผู้นับถือท่านอีกแห่งหนึ่งด้วย

อ้างอิง
http://www.chiangrai.ru.ac.th/
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด