วันสารทเดือนสิบ
วันสารทเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “วันชิงเปรต” นั้น ในเดือนสิบ (กันยายน) คือ การทำบุญกลางเดือนสิบ เพื่อนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน ประเพณีนี้เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนของชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี และจะต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ เปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีในงานบุญสารทเดือนสิบ
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ
ในวันแรม 13 ค่ำเดือนสิบ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กะละมัง เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองบรรจุพืชผัก ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบซึ่งขนมแต่ล่ะชนิดจะมีความหมาย ได้แก่ ขนมลา : เปรียบเสมือนเสื้อผ้าเพื่อให้บรรพบุรุษได้ใช้นุ่งห่ม, ขนมบ้า : เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับไว้ใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์, ขนมพอง : เปรียบเสมือนแพให้ผู้ตายใช้เป็นพาหนะข้ามห้วยแห่งทุกข์และบาปหรือเวร, ขนมดีซำ : เป็นเสมือนเงินตราไว้ใช้สอย และ ขนมกง : เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้สำหรับตกแต่งร่างกาย
![]() node/5232
|
![]() ภาคใต้/ขนมหวาน/ขนมบ้า/
|

ในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะยกสำรับที่จัดไปวัดและนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย เสร็จจากการฉลองสำรับและถวายภัตตาหารแล้วชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติที่ไม่มาร่วมทำบุญให้ เรียกว่า “การตั้งเปรต” เมื่อแผ่ส่วนบุญกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มและเด็กๆ ก็จะเฮโลกัน เข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต แย่งกันอย่างอุตลุด เพราะถือว่าการที่ได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้นเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัวอย่างยิ่ง ลักษณะการแย่งกันไปเอาขนมเรียกว่า “การชิงเปรต”

ที่มา:http://lovely-momay.blogspot.com/p/blog-page_7952.html

ที่มา:http://www.bankhonrakluktung.com/board/index.php?topic=1025.0
ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านจะชวนกันนำอาหารต่าง ๆ ไปถวายพระอีกหนึ่งวันที่มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองสำรับที่จัดไว้ ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “วันฉลองสำรับ” มีการทำบุญเลี้ยงพระบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
งานเดือนสิบเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นในโอกาสประเพณีสารทเดือนสิบซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีทำบุญที่สำคัญ เชื่อกันว่าเป็นการทำบุญให้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งยังได้พบปะกับญาติที่อยู่ห่างไกล เราควรอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองสืบไป
บรรณานุกรม
พิมุติ รุจิรากุล. (2554). ประเพณีและพิธีกรรม 4 ภาคของไทย. กรุงเทพฯ:ครีเอทบุ๊คส์.
วิเชียร ณ นคร,สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์และปรีชา นุ่มสุข. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.
จันทรา ทองสมัคร. “ประเพณีท้องถิ่นนครศรีธรรมราช”. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://www.culture-ns.go.th/www/10month.html
วิมล หนูแก้ว. “ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวนครศรีธรรมราช”. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://thainews.prd.go.th
ภาพประกอบ
ภาพตัวเปรต. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://krujun111.wordpress.com
วราภรณ์ สืบ. (2557,สิงหาคม).
–ภาพขนมลา. ดัดแปลงจาก แจ้ว. (2553, กันยายน 22). ขนมลาภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://www.bansuanporpeang.com/node/5232
–ภาพขนมพอง. ดัดแปลงจาก ภาพขนมพอง. ค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2557, จาก www.bansuanporpeang.com/node/5232
–ภาพขนมบ้า. ดัดแปลงจาก ภาพขนมบ้า. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://butsakorn52.wordpress.com/ภาคใต้/ขนมหวาน/ขนมบ้า
–ภาพขนมกง. ดัดแปลงจาก ภาพขนมกง. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557, จาก http://www.oocities.org/thaibesteating/kong.html
ภาพขนมดีซำ. ดัดแปลงจาก ภาพขนมดีซำ. ค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2557,จาก http://khanom10.blogspot.com/2013/02/1_756.html
ภาพตั้งเปรต. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2557, จาก http://lovely-momay.blogspot.com/p/blog-page_7952.html
ไพโรจรน์ ป๋อง (2555, ตุลาคม 21 ). ภาพชิงเปรต. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2557, จาก http://www.bankhonrakluktung.com
เรียบเรียงโดย วราภรณ์ สืบ นักศึกษาฝึกงาน ภาควิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณรักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภาคการศึกษา 1/2557