การละเล่นพื้นเมืองไทย

กีฬาพื้นเมืองของภาคเหนือ

ภาคเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นเทือกเขาเต็มไปด้วยป่าทึบและป่าโปร่งมีที่ราบใหญ่น้อยระหว่างเขา ทำให้มีสายน้ำลำธารไหลผ่าน อันได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ผู้คนสามารถมาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองได้ ซึ่งจะมีลักษณะรวมตัวกันในระหว่างเขาเดียวกัน เป็นกระจุกตามแหล่งน้ำลำห้วยที่มีความอุดมสมบูรณ์ภาคเหนือมีพื้นที่ติดต่อกับชนชาติอื่นอย่างหลากหลาย เช่น พม่า มอญ กะเหรี่ยง ละว้า ไทยใหญ่ และลาว เป็นต้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทั้งด้านภาษา ความเชื่อ ค่านิยม การแต่งกาย รวมถึงงานนักขัตฤกษ์ งานเทศกาล งานประเพณีต่างๆ การละเล่น เกมกีฬาพื้นเมือง และอื่นๆ ที่มีลักษณะตามแบบถิ่นเหนืออย่างหลากหลายด้วย เช่น

ปั่นหนังว้อง
ปั่นหนังว้อง ที่มา : http://www.prapayneethai.com/th/ amusement/north/view.asp?id=0350

ชื่อ ปั่นหนังว้อง

ภาค ภาคเหนือ

อุปกรณ์

การปั่นหนังว้อง คือ การปั่นยางวงที่ใช้รัดของ เป็นการเล่นของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เล่นโดยการจับคู่เล่นบนพื้นราบที่ไม่สกปรก เช่น พื้นเรือน หรือบนโต๊ะ อุปกรณ์ที่ใช้ คือ ยางรัดของจำนวนมากน้อย เท่าที่หาได้กติกาการเล่นมีอยู่ว่า หากผู้เล่นฝ่ายใดสามารถคลายยางรัดของออกจากกันเป็นเส้นปกติได้ ก็จะได้ยางรัดนั้นเป็นกรรมสิทธิ์

วิธีเล่น

เริ่มจากการนำยางรัดของมาคนละเส้น ประกบกันแล้วให้ฝ่ายหนึ่งใช้ส้นมือถูยางรัดของ ที่ประกบกันนั้นโดยแรงให้ยางรัดทั้งสองเส้นบิดตัวพันกันจนแน่น แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งพยายามแกะให้คลายออกจากกัน ถ้าทำได้สำเร็จจะได้ยางรัดของไปเป็นของตน ถ้าทำไม่สำเร็จจะต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทำแทน ผลัดกันเช่นนี้ไปจนกว่าจะมีผู้ทำสำเร็จ เมื่อเสร็จแล้วก็เริ่มต้นใหม่ไปเรื่อยๆ

โอกาสที่เล่น

เป็นการละเล่นที่ใช้เล่นในยามว่าง

คุณค่า / แนวคิด / สาระ

การเล่นปั่นหนังว้อง เล่นได้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง พ่อแม่สามารถให้ลูกเล่นในบ้านและคอยสังเกตพฤติกรรม นิสัยใจคอของลูก หากพบความผิดปกติจะแก้ไขได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังเป็นการเก็บรักษายางรัดของไว้ใช้ในโอกาสต่อไปอีกทางหนึ่งด้วย

ซิกโก๋งเก๋ง
ซิกโก๋งเก๋งที่มา : http://www.openbase.in.th/taxonomy/term/78?page=16

ชื่อ ซิกโก๋งเก๋ง

ภาค ภาคเหนือ

อุปกรณ์

โก๋งเก๋งทำจากไม้ไผ่ ท่อนปลายของไม้รวก หรือไม้ซาง ตัดให้สูง ประมาณ ๒-๒.๕ เมตร ใช้มีดตัดเจาะกิ่งไผ่ที่เป็นปมอยู่ข้อตาไผ่ออกให้หมด แต่ต้องเหลือไว้ตรงข้อแรกของไม้ไผ่ให้เป็นปมอยู่ เหลาข้ออื่นๆ ให้เรียบเพื่อสะดวกในการจับถือ หาปล้องไม้ไผ่ที่ใหญ่กว่า ๒ ท่อนแรก ตัดให้เหลือข้อปล้องไว้ด้านหนึ่งยาวประมาณ ๑๕-๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน เจาะรู ๒ ด้าน เสร็จแล้วนำไปสวมเข้ากับไม้ ๒ ท่อนแรก โดยให้ไม้ที่สวมนั้นไปค้างติดอยู่กับข้อตาไผ่ที่เหลือไว้ แล้วใช้ผ้าพันตรงไม้ ๒ ท่อน ประกบกันให้แน่น

วิธีการเล่น

ใช้มือถือไม้โก๋งเก๋งตั้งขึ้นให้ตรง แล้วค่อยก้าวเท้าใดเท้าหนึ่ง ขึ้นเหยียบบนไม้โก๋งเก๋ง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เท้าซ้ายขึ้นก่อน แล้วก้าวเท้าขวาตามตั้งตัวให้สมดุลแล้วค่อยๆ ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งออกไป ถ้าล้มก็ขึ้นใหม่เดินใหม่จนคล่อง

โอกาสที่เล่น

การซิกโก๋งเก๋ง เป็นการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ที่เล่นกันเพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันการซิกโก๋งเก๋งจะเหลือน้อย นอกจากจะเป็นการแสดงหรือสาธิต และเป็นกีฬาของชาวเขาที่ใช้ทำการแข่งขันอยู่ซิกโก๋งเก๋ง เกิดขึ้นในชนบท ซึ่งในสมัยก่อนถนนหนทางไม่สะดวกเป็นโคลนเป็นฝุ่น เมื่อเดินด้วยเท้าธรรมดา จะทำให้เกิดโรคเท้าขึ้น ชาวล้านนาเรียกว่า หอกินตีน ชาวชนบทล้านนาถึงคิดหาวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เท้าเปื้อนโคลนฝุ่นและเชื้อโรค จึงคิดทำโก๋งเก๋งออกมาเพื่อใช้เดิน

คุณค่า / แนวคิด / สาระ

ช่วยส่งเสริมคุณค่าทางด้านร่างกายความเข็งแรงระบบประสาทกับระบบกล้ามเนื้อทำงานได้เป็นอย่างดี เกิดความเชื่อมั่นในตนเองผู้เล่นรู้สึกสนุกสนานช่วยผ่อนคลาย