วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี

ภาพเปรตที่ได้รับบาปกรรมเมื่อตกนรก ที่มา : http://bit.ly/2HBqumv

“วัดไผ่โรงวัว” หรือ “วัดโพธาราม” ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามประวัติของกรมศาสนา วัดไผ่โรงวัวเริ่มก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2469 ริมคลองพระยาบันลือ ซึ่งเป็นคลองที่ขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน วัดไผ่โรงวัวเริ่มต้นด้วยการสร้างในเนื้อที่ 20 ไร่ เดิมเป็นที่ดอน มีกอไผ่ขึ้นเต็มพื้นที่ เมื่อถึงฤดูน้ำ ชาวบ้านจะเอาวัวควายมาเลี้ยงบนที่ดอนนี้โดยปลูกโรงวัวให้อาศัย ต่อมาคิดสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น ให้ชื่อว่าสำนักสงฆ์ไผ่โรงวัว จนกระทั่งเป็นวัด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดโพธารามแต่ไม่ค่อยมีใครเรียก แม้แต่ชาวต่างจังหวัดก็เรียกว่าวัดไผ่โรงวัว ทางวัดจึงเปลี่ยนชื่อกลับมาใช้เป็น “วัดไผ่โรงวัว” อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลาสมเด็จพระพุทธโคดม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 10.25 เมตร ความสูงรวมบัลลังค์ 26 เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 สร้างด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์หนัก 50 ตัน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี

ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลา ที่มา : http://www.suphan.biz/WatPairogwour.htm
ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลา
ที่มา : http://www.suphan.biz/WatPairogwour.htm
ภาพพระพุทธโคดม ที่มา : http://bit.ly/28ObHaY
ภาพพระพุทธโคดม
ที่มา : http://bit.ly/28ObHaY

ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา อาทิ “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน กับงานประติมากรรมหรือภาพปั้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ รวมทั้งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก “ฆ้องและบาตร” ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และ “พระวิหารร้อยยอด” รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย

ภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่มา : http://bit.ly/2oq4CBB
ภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล
ที่มา : http://www.thongthailand.com/articles/42006369/igetweb-วัดไผ่โรงวัว ต้นตำนานเปรตและนรกภูมิ โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ.html
ภาพสมเด็จพระกะกุสันโธ ที่มา : http://m.daravadi.com/show/LT560001/LR560505.html
ภาพสมเด็จพระกะกุสันโธ
ที่มา : http://m.daravadi.com/show/LT560001/LR560505.html
ภาพฆ้องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มา : https://pantip.com/topic/36302928
ภาพฆ้องที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่มา : https://pantip.com/topic/36302928
ภาพวิหารร้อยยอด ที่มา : https://pantip.com/topic/36302928
ภาพวิหารร้อยยอด
ที่มา : https://pantip.com/topic/36302928

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ของสถานที่แห่งนี้ คือ เมืองนรกภูมิ แดนแห่งเปรตและอสูรกาย ซึ่งภายในวัดไผ่โรงวัวได้จำลองสถานที่ความเชื่อเรื่องบาปกรรมเมื่อตายไปต้องตกนรก เพื่อให้เป็นคติสอนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งในนรกภูมินั้นเป็นหุ่นปูนปั้นตามนรกขุมต่างๆ อาทิ ปีนต้นงิ้ว กระทะทองแทง อีกาจิกฯ

ตามความเชื่อของคนไทย เปรต คือ ผู้ที่ทำบาปกรรมมาชนิดหนึ่ง ยกตัวอย่างผู้ใดคิดร้ายกับพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณกับตัวเอง ด่าทอพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ หมอทำแท้ง ข้าราชการที่โกงกิน เมื่อตายไปแล้วจะเกิดในเปรตวิสัยซึ่งเป็น 1 ใน 4 อบายภูมิ (4 อบายภูมิ ประกอบด้วย 1. นรกภูมิ 2. เปรตภูมิ 3. อสุรกายภูมิ 4. ดิรัจฉานภูมิ) มีรูปร่างสูงเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ผิวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญ ซึ่งต้องรับกรรมด้วยความทุกข์ทรมาน หิวโหยอดอยาก ร้อนหรือหนาวอย่างที่สุด เจ็บปวดอย่างที่สุด และรับความทุกข์ทรมานอย่างที่สุด

ภาพเปรตที่ได้รับบาปกรรมเมื่อตกนรก ที่มา : http://bit.ly/2HBqumv
ภาพเปรตที่ได้รับบาปกรรมเมื่อตกนรก
ที่มา : http://bit.ly/2HBqumv (www.flickr.com)

การเดินทางมาที่วัดไผ่โรงวัว สามารถขับรถส่วนตัวจากบางบัวทอง วิ่งมาตามถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (สาย 340) ราว 28 กิโลเมตร ตรงยาวไปตลอด ผ่านแยกนพวงศ์ ตรงต่อไปเจอทางแยกซ้ายไปอำเภอสองพี่น้อง ให้เลี้ยวซ้ายต่อไปตามถนนสาย 3422 ตรงต่อไปราว 14 กิโลเมตร วัดไผ่โรงวัวจะอยู่ทางขวามือ หรือนั่งรถเมล์ประจำทางสายรถร่วม (บขส.) 68 สองพี่น้อง-บางลี่ เส้นทางจากสายใต้ใหม่-ตลาดบางลี่ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07:00 – 18:00 น. หรือติดต่อได้ที่เบอร์ 035 584090-1

วัดไผ่โรงวัวนับได้ว่าเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะชื่นชมความงามของสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา เพราะวัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาที่หลากหลาย รวมไปถึงเมืองนรกภูมิ แดนแห่งเปรตและอสูรกาย ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่สำคัญของวัดไผ่โรงวัว เพราะรูปปั้นเปรตเหล่านั้นสามารถเป็นสิ่งเตือนใจให้กับผู้คนที่พบเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทำแต่ความดีและละเว้นการทำบาป

บรรณานุกรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2556). ทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย ชุดภาคกลางและภาคตะวันออก. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.

มนัส โอภากุล. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ. กรุงเทพฯ: มติชน.

suphan.biz. (2560, 2 สิงหาคม). วัดไผ่โรงวัว สุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.suphan.biz/WatPairogwour.htm

zthailand.com. (ม.ป.ป). วัดไผ่โรงวัว สุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.zthailand.com/place/wat-phai-rong-wua-suphan-buri/

ภาพประกอบ
ป่าน ศรนารายณ์. (2555, 31 กรกฎาคม). ภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก http://thongthailand.com/articles/42006369/
igetweb-วัดไผ่โรงวัว ต้นตำนานเปรตและนรกภูมิ โดยป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ.html

สมาชิกหมายเลข 1337676. (2560, 4 เมษายน). ภาพวิหารร้อยยอด, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก https://pantip.com/topic/36302928

สมาชิกหมายเลข 1337676. (2560, 4 เมษายน). ภาพฆ้องที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก https://pantip.com/topic/36302928

m.daravadi.com. (ม.ป.ป). ภาพสมเด็จพระกะกุสันโธ, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก http://m.daravadi.com/show/LT560001/LR560505.html

shin–k. (2555, 30 พฤศจิกายน). ภาพเปรตที่ได้รับบาปกรรมเมื่อตกนรก, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก http://bit.ly/2HBqumv (www.flickr.com)

suphan.biz. (ม.ป.ป). ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลา, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก http://www.suphan.biz/WatPairogwour.htm

thailandtemples.org. (ม.ป.ป). ภาพพระพุทธโคดม, ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561. จาก http://www.thailandtemples.org/watpairogwour/index.html


เรียบเรียงโดย หัสญา ปันณะ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยบรูพา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ภาคการศึกษา 2/2560