
ใคร ๆ ก็ดื่มชา ผู้คนทุกมุมโลกที่แตกต่างกันด้วยเรื่องชาติ สีผิว ขนบธรรมเนียมประเพณี ฐานะ ต่างพากันสนใจดื่มชา เพราะชาไม่เป็นเพียงเครื่องดื่มที่ให้ความละเมียดละไม แต่เป็นศิลปะ เป็นวัฒนธรรม เป็นรสชาติของชีวิต
“ชา” มาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) ถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนและอินเดีย มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเขียว หากปล่อยให้เติบโตเองในป่าจะให้ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอมในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อดอกชาโตเต็มที่ จะให้ผลชาที่ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ หนึ่งถึงสามเมล็ด ในการแพร่พันธุ์ ต้นชาต้องได้รับการผสมละอองเกสรกับต้นชาต้นอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนยีนและโครโมโซมซึ่งกันและกัน เมื่อชาต้นใหม่เจริญงอกงาม จะคงลักษณะที่แข็งแรงบางส่วนของพ่อแม่ ด้วยวิถีเช่นนี้ ต้นชาจึงเป็นพืชที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของมันเอง
ส่วนของต้นชาที่นำมาเป็นเครื่องดื่มจะอยู่ส่วนบนสุดของต้น อันเป็นตำแหน่งของการผลิใบอ่อน และการแตกหน่อ ซึ่งเป็นส่วนที่มีคุณภาพดีที่สุดนั่นก็คือ ชาที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ ชาที่ผลิตจากใบชาอ่อนและตานั่นเอง และเครื่องมือในการเก็บใบชาที่ดีที่สุดก็คือ มือของมนุษย์ ซึ่งปฏิบัติต่อกันมาอย่างนี้เป็นเวลานับหลายพันปี
การผลิตใบชา เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้จากประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมผ่านกาลเวลา ถ่ายทอดกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านปู่ถึงพ่อและลูกหลานเคล็ดลับของแต่ละตระกูล ล้วนเป็นความลับของครอบครัวที่ไม่ถ่ายทอดข้ามสายเลือด ใบชาที่ผลิตออกมาแต่ละไร่จึงมีรสชาติและคุณภาพที่แตกต่างกัน แต่ละขั้นตอนการผลิต เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมีส่วนร่วมในการทำงานหลายขั้นตอน แต่เคล็ดลับที่ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอยู่ที่สองมือและสมองของมนุษย์นี่เอง
“ชา” เป็นผลผลิตที่มาจากพืชชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาญี่ปุ่น ชาอังกฤษ แต่กลับปรากฏว่าการชงชาที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรม ทำให้เกิดชารูปแบบต่าง ๆ กว่า 3,000 ชนิดแตกต่างกันทั้งกรรมวิธีการผลิตใบชา การชงชาไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาติของชา
คนจีนรู้จักดื่มชามาหลายพันปีแล้ว มีตำนานเล่าว่า จักรพรรดิเสิน-หนง (Emperor Shen Nung) วันหนึ่งขณะทรงต้มน้ำร้อนได้มีใบชาปลิวตกลงในหม้อน้ำเดือด ทรงชิมดูพบว่ามีรสชาติดีและมีกลิ่นหอม จากนั้นมาชาก็เป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่วไป
สมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน น่าจะมีการดื่มชากันแล้ว แต่ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนคือจาก จดหมายเหตุ
ลาลูแบร์ราชฑูตฝรั่งเศส ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พูดถึงการดื่มชาในสยามว่าดื่มเฉพาะในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ถือเป็นมารยาทผู้ดีอันจำเป็นต้องนำน้ำชามาเลี้ยงผู้มาเยี่ยม และคำว่า “ชา” คนไทยก็เรียกกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางแล้ว

ชาในประเทศไทย
ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่จำเป็นในสังคมไทย จากการสั่งใบชาเข้ามาบริโภคในประเทศก็ริเริ่มปลูกชาพันธุ์ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมชาของไทยเริ่มอย่างจริงจังที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2480 มีนายประสิทธิ์ และนายประธาน พุ่มชูศรี ตั้งบริษัทใบชาตราภูเขาจำกัด นายพร เกี่ยวการค้า นำผู้เชี่ยวชาญชาวฮกเกี้ยนมาถ่ายทอดความรู้เรื่องชาแก่คนไทย รวมทั้ง ป๋าซุง นายทหารกองพล 93 บ้านแม่สลอง ต่อมาสองพี่น้องตระกูลพุ่มชูศรี ได้ขอสัมปทานทำสวนชา จากกรมป่าไม้ในนามของ บริษัทชาระมิงค์ ภายหลังเอกชนเริ่มให้ความสนใจอุตสาหกรรมชามากขึ้น จึงมีการขายสัมปทานสวนชาแก่บริษัทชาสยามผู้นำใบชาสดมาผลิตชาฝรั่งในนาม “ชาลิปตัน” จนกระทั่งปัจจุบัน
ชากับความเป็นอยู่และประเพณี
พระสงฆ์ฉันน้ำชามาแต่โบราณ จึงมีประเพณีถวายน้ำชาพระสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ มีหมายรับสั่งสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีพิธีสงฆ์ในงานหลวงปรากฏเป็นหลักฐานว่า “ให้แต่งน้ำชาถวายสงฆ์ทั้ง 4 เวลา…ให้หัวป่าก์พ่อครัวรับ เครื่องชา ต่อวิเสทหมากพลู ต้มถวายพระสงฆ์ให้พอ 8 คืน”
สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีทูตฝรั่งเข้ามา การต้อนรับของทางการไทยก็แข็งขันมาก นอกจากผลไม้พื้นเมืองแล้ว ก็มีใบชา กาแฟไปต้อนรับทูต
ชาเป็นเครื่องดื่มที่ชงไปนั่งคุยกันไป คนจีนเวลามีผู้มาหาสู่ถึงบ้านจะต้องยกน้ำชาออกมาต้อนรับ ถ้าไม่รักกันจริงจะไม่ยกน้ำชามานั่งดื่ม เพราะจะได้คุยให้เสร็จๆ แล้วรีบออกไปจากบ้านซะ คนไทยและจีนใส่ใบชาลงในโลงศพเพื่อใช้ประกอบพิธี บ้างว่าช่วยการดูดกลิ่น บ้างว่าไม่ให้มีน้ำเหลืองไหลออกมา
พิธีไหว้บรรพบุรุษของจีน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำชา และเหล้าเวลาทำความสะอาดหลุมศพ(เช็งเม้ง) จะต้องไหว้น้ำชาทั้งที่สุสานและที่บ้าน วันสารทจีนก็ไหว้น้ำชา แม้พิธีแต่งงานชาวจีนพิธียกน้ำชาก็มีบทบาท ใช้เคารพผู้ใหญ่ให้เมตตาคู่บ่าวสาว เพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์
ญี่ปุ่นเองก็มีพิธีชงชาแบบชาโนยุ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาของนิกายเซน ปัจจุบันมีการฝึกหัดชงชาเพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น
ร้านน้ำชา
แหล่งกำเนิดความเป็นจีน ร้านน้ำชาคือสถานที่ผู้คนทุกอาชีพ ทุกชนชั้นทางสังคมแวะเวียนมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง เพื่อพักดื่มน้ำชาสักถ้วยภายใต้ร่มเงาอันร่มรื่น คนคุ้นเคยหรือแปลกหน้าก็สามารถพูดคุย ถกปัญหา แลกเปลี่ยนข่าวสาร ตลอดถึงการตกลงทางธุรกิจได้อีกด้วย
ร้านน้ำชายังเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมจีน เช่นการแสดงงิ้ว การเล่านิทาน การสนทนารูปแบบการเล่นตลก เป็นต้น ผู้สูงอายุ บางคนจึงใช้เวลาอยู่ที่ร้านน้ำชาเกือบทั้งวัน
จากการพูดคุยพบปะกันที่ร้านน้ำชานี่เอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมจีน เช่น การรับเอาวัฒนธรรมบางอย่างจากชาติตะวันตก หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์และความคิดปฏิวัติที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีแหล่งมาจากร้านน้ำชาเช่นกัน
ก๊วนน้ำชาสวนลุมฯ ผู้มารำมวยจีน มาออกกำลังกายยามเช้าที่สวนลุมพินี เสร็จแล้วก็มาล้อมวงชงชากันต่อ มีการตั้งก๊วนชารวมกลุ่มกันนับได้เป็นสิบ ๆ ก๊วน ถือเป็นการพักเหนื่อยหลังออกกำลัง มีการลงขันปันเงินกันซื้อชา อุปกรณ์ชา ค่าฝากของ ค่าเตาปิกนิกและอื่น ๆ
ทุกเช้ามักจะมีใครสักคนในก๊วนซื้อของกินมาร่วม เช่น ปาท่องโก๋ หรือขนมเปี๊ยะ สมาชิกมีทั้งหญิงและชายจากนานาอาชีพ ตั้งแต่นักธุรกิจเจ้าของโรงงานใหญ่จนถึงซิ้มขายเฉาก๊วย และแป๊ะมีขวดมาขาย เรื่องที่คุยกันก็มีสารพันสรรมาเล่าสู่ ท่ามกลางความสดชื่นของอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า จิบชาร้อนๆ สนทนาเรื่องน่าสนใจหรือนิทานขำขันเฮฮา จนเพลงชาติขึ้นแต่ละก๊วนจึงสลายตัว พาเอาความกระฉับกระเฉงที่เติมใส่ จนเต็มแล้วแยกย้ายกันไป
นอกจากนี้ แถบย่านชุมชนจีนก็มีก๊วนน้ำชาที่เยาวราช และสำเพ็งอีกหลายแห่ง
โรงน้ำชาและหญิงโสเภณี
ประเทศไทยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ยุคที่โรงยาฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย โรงน้ำชาย่านเยาวราช สำเพ็งก็ถึงยุคเฟื่องฟู ผู้หญิงและน้ำชากลายเป็นยอดปรารถนาของชายสมัยนั้น
ศักดิ์ เสาวรัตน์ บรรยายในบทความเรื่องจิบน้ำชา – เริงนารี ย่ำบางกอกนครโสเภณี ตอนหนึ่งไว้ ดังนี้ เพียงก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าไป ลูกจ้างร้านขายของชำก็รู้สึกเหมือนตนเองเป็น ‘คนสำคัญ’ ของที่นั่น เมื่อ ‘โก’ เจ้าของร้านเชื้อชาติเดียวกันออกมาต้อนรับขับสู้ให้พักผ่อนในห้องเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยเตียงนอน ม้านั่ง และม่านบังตาสีสันสวยงาม บริกรท่าทางนอบน้อม ยกกาน้ำชาพร้อมจอกกระเบื้องและชาจีนห่อเล็ก ๆ ถาดขนมขบเคี้ยว…ไม่นานนักหญิงสาวชาวจีนรุ่นกำดัดก็จะมารับหน้าที่ต้อนรับขับสู้ และอยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาและคลายเครียด เธอเหล่านั้นมักจะใส่ชุดกี่เพ้าแบบจีน ผัดแป้งทาหน้าขาวนวล แต่ออกจะเย้ายวนอารมณ์กำดัดของชายหนุ่นยิ่งนัก (ศักดิ์ เสาวรัตน์. 2545, น. 98)
โรงน้ำชาที่ซบเซาไปจากถนนโลกีย์ในอดีต กลับไปผุดอยู่ทั่วไปย่านพระโขนง ลำสาลี สะพานควาย และไกลออกไปถึงรังสิต
สงครามและใบชา
ชาเดินทางจากจีนสู่ยุโรปครั้งแรกที่ฮอลแลนด์ ประมาณปี ค.ศ.1606 โดยเรือของบริษัทดัทช์อีสต์อินเดียของฮอลแลนด์ ในยุคนั้นใบชาเป็นของแพงและเป็นเครื่องดื่มเฉพาะในราชสำนักและชนชั้นสูง

ค.ศ.1652 ชาเข้าสู่อังกฤษ ได้รับความนิยมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ตลาดชาผูกขาดโดยบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ ท่ามกลางความต้องการสูงแต่จีนกลับขายชาคุณภาพต่ำให้อังกฤษ และกระทำผ่านตัวแทนจักรพรรดิ์จีน จะแลกเปลี่ยนใบชากับเงินเท่านั้น อังกฤษจึงนำฝิ่นมาขายในจีน เพื่อแปรเป็นเงินซื้อใบชากลับไป
แต่กลับสร้างปัญหารุนแรงจนกระทั่งกลายเป็นสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษจีน (ค.ศ.1839-1842) จีนเสียเปรียบเรื่องอาวุธและเรือรบจึงพ่ายแพ้ ต้องยอมให้เกาะฮ่องกงตกเป็นเมืองเช่าในปกครองอังกฤษ นานถึง 156 ปี จึงกลับมาเป็นของจีนอีก เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1997

การเดินทางของชายังแผ่ขยายไปเรื่อย ๆ วัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษยังติดตัวไป เมื่อครั้งอพยพไปแสวงหาดินแดนโลกใหม่คือทวีปอเมริกา รัฐสภาอังกฤษเก็บภาษีใบชาคนอเมริกันสูงมาก (ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ก่อเกิดความไม่พอใจและต่อต้าน ขนหีบชาทิ้งทะเล อันเป็นที่มาของชื่อ Boston tea Party สงครามครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับอังกฤษอีกต่อไป
คนอังกฤษกับน้ำชา
คนอังกฤษชอบดื่มชาวันละหลายเวลา สำหรับการดื่มชาบ่าย (afternoon tea ยุคนั้นไม่ได้ดื่มตอนบ่าย แต่ดื่มตอนค่ำก่อนดึก) เริ่มขึ้นปี ค.ศ. 1825 โดยดัชเชส แห่งเบดฟอร์ด (Duchess of Bedford) ในการดื่มชานั้นมีขนมหลายชนิดให้เลือก โดยเฉพาะขนมเค้กชนิดต่าง ๆ ช่วงเวลาตอนบ่ายจึงถือเป็นธรรมเนียมการดื่มชา

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ลอร์ดเนลสัน (Lord Nelson) และดยุคแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) ที่ต้องออกสนามรบกับพระเจ้านโปเลียน ก็มักจะสอบถามอยู่เสมอเกี่ยวกับเสบียงชา สำหรับดยุคนั้นมีถ้วยชาทำด้วยโลหะเงินและพกติดตัวไปด้วยเสมอ
การทำน้ำชาดื่ม คนอังกฤษถนัดต่างกับคนทั่วไป คือคนทั่วไปมักจะรินน้ำชาลงถ้วยก่อนแล้วเติมนมหรือครีมและน้ำตาล แต่คนอังกฤษจะใส่ครีมหรือนมลงไปก่อน เติมน้ำตาล แล้วจึงรินน้ำชาร้อน ๆ ลงไปเป็นอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้นเห็นใครทำน้ำชาดื่มแบบนี้ลองถาม “มาจากอังกฤษหรือคะ” มักจะได้รับคำตอบ “Yes” พร้อมความแปลกใจ “ทำไม you รู้ล่ะ”
คนออสเตรเลียกับน้ำชา
ถ้าไปเที่ยวออสเตรเลียสั่ง iced tea หรือ iced coffee จะได้ชาหรือกาแฟปั่นกับไอศครีมวานิลา ถ้าได้รับการเชิญชวนให้ดื่ม cuppa หมายถึงน้ำชา ชวนให้อยู่กิน tea (have tea with us) นั่นหมายถึงอาหารมื้อเย็น
Tea นี้มาจากไหน
ฝรั่งเรียกชาว่า “ที” (Tea) นี้มาจากไหนบ้างว่ามาจากภาษาจีนที่เรียกชาว่า “เต๊” (tay) ออกเสียงเป็น”เท” แล้วเพี้ยนกันมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ที”
กำเนิดชาดำเย็น (iced tea)
การดื่มชาใส่น้ำแข็งเริ่มขึ้นในงานมหกรรมโลกที่เซนต์หลุยส์ ปี ค.ศ. 1904 โดยหนุ่มอังกฤษ ชื่อริชาร์ด เบลชินเดรน (Richard Blechyndren) ช่วงนั้นอากาศร้อนมากเขาขายน้ำชาร้อนๆไม่ออก จึงรินน้ำชาราดลงไปบนก้อนน้ำแข็ง
ชาติแรกที่ เติมนมในชา คนฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่เติมนมสดในน้ำชา
ชาถุง (tea bag) กล่าวกันว่าชาใส่ถุงจะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค ผู้ค้นพบวิธีเอาชาใส่ถุงคือคนจีน โดยบรรจุลงถุงผ้าไหมส่งไปลอนดอนแต่เอกสารหนึ่งกล่าวว่า โทมัส ซุลละแวน (Thomas Sullivan) เป็นผู้คิดค้นถุงใส่ชาที่แสนอำนวยความสะดวกและเหมาะสมกับรสนิยมคนรุ่นใหม่
ชาบรรจุกระป๋อง เพื่อเอาใจผู้บริโภคที่เดินทางไกล หรือคนที่งานยุ่งไม่สนใจการกินอยู่ โรงงานอุตสาหกรรมได้เอาน้ำชาใส่กระป๋องเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2483 ประเทศไทยพัฒนาเป็นครั้งแรก คือ ชากระป๋องลิปตัน เมื่อ พ.ศ. 2531 ด้วยการเติมกลิ่นมะนาวลงไป เมื่อดื่มตอนเย็นจัดมีรสชาติกลมกล่อมยิ่ง
เมี่ยง เป็นผลิตภัณฑ์ชาที่ผ่านการนึ่งและหมักอย่างหนึ่งของคนไทยภาคเหนือ คนลาวและคนพม่า อาจกินเมี่ยงแบบเปรี้ยวๆ หรือโรยเกลือใส่เล็กน้อยก็จะเสริมรสชาติ เมี่ยงมีบทบาทในชีวิตจนเกิดคำพังเพยว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” ปัจจุบันเมี่ยงถูกลดบทบาท เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยลง
กากเมล็ดชา มีสารซาโปนีน (Saponin) ใช้สระผมและล้างสิ่งสกปรกออกจากเรือนผม ทำให้เส้นผมเป็นมัน ส่วนกากใบชาที่ชงแล้วนำมาพอกแผลน้ำร้อนลวกได้ น้ำมันจากเมล็ดชาทำเนยเทียมได้
กำเนิดปั้นชา ยุคแรกๆ ชาวจีนดื่มชา จะใช้หม้อต้มและเทลงดื่มในชาม ต่อมาประมาณต้นศตวรรษที่ 16 มีการค้นพบปั้นชาขึ้นใกล้เมืองอี๋ชิงมณฑลเจียงซู โดยเด็กรับใช้คุณชายตระกูลอู๋ที่กำลังจะเดินทางไปสอบจอหงวน ได้แวะพักที่วัดจินซา ที่วัดนี้มีเตาเผาเพราะพระจะปั้นภาชนะดินใช้เอง วันหนึ่งหลังการเตรียมชงน้ำชาให้คุณชายท่องหนังสือเรียบร้อยแล้ว เด็กรับใช้ชื่อ กงชุน ได้หลบมาพักผ่อนและเห็นพระปั้นภาชนะดินอยู่ จึงเข้าร่วมวง ปั้นไปปั้นมา ปั้นเอาภาชนะทรงกลมมีฝาปิดด้านบนเติมหูจับ ต่อพวยกาออกมา กลายเป็นอุปกรณ์ชงชาและกรองใบชาใบแรกของโลก และยังเป็นต้นแบบของภาชนะชงชาชุดเครื่องเงินของราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษอีกด้วย
กาน้ำชา-กากาแฟต่างกันตรงไหน
แตกต่างกันที่พวยกา กาแบบมีพวยยื่นออกมาจากตอนก้นนั้นใช้ชงชา ทั้งนี้เพราะเมื่อใส่ใบชาลงไป ใบชาจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ เมื่อรินน้ำชาก็จะไม่มีใบชาปนออกมาให้หงุดหงิดใจ ส่วนกากาแฟจะทำพวยกาพุ่งตรงออกจากส่วนบนของกา เพราะผงกาแฟที่ชงจะจมลงสู่ก้นกาโดยเร็ว เวลารินกาแฟผงกาแฟที่นอนก้นอยู่จะได้ไม่ไหลปนออกมา
ค่าน้ำร้อน – น้ำชา
สมัยโบราณ ชาเป็นเครื่องดื่มของพระสงฆ์ผู้มีฐานะดีและขุนนางข้าราชการเท่านั้น มีสำนวนไทยที่ใช้กันต่อมา คือ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ซึ่งเข้าใจว่าชาวจีนที่ไปติดต่องานกับขุนนางราชการได้ใช้ขึ้นก่อนเมื่อนำเงินไปติดสินบน
กง ฟู ฉา แปลว่า ชงชาด้วยฝีมือ (ที่มีความชำนาญ) เริ่มต้นที่เมื่อน้ำเดือดแล้ว ลวกปั้นชาที่เตรียมไว้ รวมทั้งถ้วยชา การลวกนี้ถือเป็นการเตรียมปั้นชา (เพื่อที่เวลาใช้ชงชาจริงๆ อุณหภูมิของน้ำจะไม่ลดลงมากเท่ากับเทน้ำลงในภาชนะที่เย็นๆ) แล้วตักใบชาลงในปั้นที่อุ่นไว้ใช้น้ำเดือดเทตามลงไปจนน้ำล้นออกนอกปั้นชา ปิดฝาปั้น เทน้ำลงบนฝาด้วยเพื่อป้องกันกลิ่นหอมไม่ให้หนีออกจากปั้น แล้วเทน้ำที่ได้จากการชงครั้งแรกนี้ใส่ถ้วยชาทุกใบและเททิ้ง
ขั้นตอนนี้คือการ “ปลุก” ใบชาให้ตื่นจากหลับ และล้างใบชาด้วย จากนั้นรินน้ำเดือดลงในปั้นอีกครั้ง ปิดฝาปั้น เทน้ำลงบนฝา แล้วจึงรินชาใส่ถ้วยทุกใบด้วยวิธีรินวน คือ รินถ้วยที่หนึ่งถึงสี่โดยไม่ต้องรอถ้วยแรกเติมรินวนไปมาจนเต็มทั้งสี่ถ้วย อย่างนี้แล้ว ชาถ้วยที่หนึ่งถึงสี่จะมีรสชาติเสมอกัน
ประโยชน์ของการดื่มชา
ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องดื่มชาเขียวสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ ผู้คนก็แตกตื่นหันมาดื่มชาญี่ปุ่นกันใหญ่ เพราะเข้าใจว่าชาเขียวคือชาญี่ปุ่น จริง ๆ แล้วชาเขียว คือ ชาทุกชนิดที่ผลิตโดยการเอาใบชาสดมาคั่วให้แห้ง โดยไม่ผ่านขั้นตอนการทำปฏิกิริยาของออกซิเจนกับใบชา ในชาเขียวจะมี สารคาเทชิน อยู่มากกว่าชาชนิดอื่น ดังนั้นคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งจึงอยู่ตรงนี้
ในทางการแพทย์ ใบชาจะมีคุณสมบัติทางเคมีบางประการซึ่งในจำนวนนั้นจะมี กรดแทนนิค ปริมาณ 20 – 30 % กรดแทนนิค มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบและการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีสารอัลคาลอยด์ 5% (ส่วนใหญ่จะเป็นคาเฟอีน) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและระบบเมตาบอลิซึ่ม
ชาที่มีกลิ่นหอมจะมีคุณสมบัติในการแยกองค์ประกอบของเนื้อและไขมัน ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยเรื่องการย่อยอาหาร
ในจีนจะมีสำนวนพูดกันติดปากว่า “ขาดเกลือสามวันยังดีกว่าขาดชาหนึ่งวัน”
ไม่ว่าจะเป็นชารูปแบบใด ความนิยมเรื่องดื่มชามีมากขึ้นทุกวัน เพราะรสชาตินุ่มนวลชวนฝันของชาประการหนึ่ง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าชามีสารพฤกษเคมีบางชนิดที่ออกฤทธิ์ป้องกันโรคหลายโรคได้เป็นอีกประการหนึ่ง อีกทั้งชาก็เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีชนชั้น ผู้ดื่มเท่านั้นที่รู้รสชาติของการดื่ม และผู้มีรสนิยมต่างเลือกชาและโปรดการดื่มชา
บรรณานุกรม
จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2536).ความรู้เรื่องจีน จากผู้เฒ่า. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.
ชา. (2540). พลอยแกมเพชร. 6(131), 144-145.
ชา : การปลูกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์. (2545). ศิลปวัฒนธรรม. 15(11), 89-94.
ซิสึกะ (นามแฝง). (2545). ชาเขียว วิถีแห่งคุณประโยชน์ของสมุนไพร. New Life. 2375, 26-28.
เดชา ศิริภัทร. (2536). ชา: เครื่องดื่มจากรากเหง้าวัฒนธรรมตะวันออก. หมอชาวบ้าน. 14(168), 41-43.
ศักดิ์ เสาวรัตน์. (2545). จิบน้ำชา – เริงนารี ย่ำบางกอก นครโสเภณี. ศิลปวัฒนธรรม. 15(11), 96-101.
ส. พลายน้อย (นามแฝง). (2544). รู้ร้อยแปด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สารคดี.
สุรีย์ ภูมิภมร. (2545). ชา: เครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก. ศิลปวัฒนธรรม. 15(11), 77-88.
อ๋อง(นามแฝง). (2545). ระบำชา. กรุงเทพฯ: ศรีสารา.
ร้านน้ำชาคืออะไร?. (2002, November). จาก http://www.203.144.248.21/hwwmds/detail.nsp.html
ภาพประกอบ
ภาพใบชา. (ม.ป.ป.), จาก https://pxhere.com/th/photo/926246
รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร