นางสาววัลฤดี โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา
ตอบแบบสอบถามความพึงพอใจ บทความเรื่องนี้ [ คลิกที่นี่ ]

ในอดีตประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลยังไม่ถูกรุกราน จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม ทั้งการส่งนอแรด งาช้าง และของป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ชีวิตสัตว์ป่าเริ่มถูกรุกรานทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย
วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยมีการกำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2503 สมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมณตรีในขณะนั้น ได้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ปัจจุบันมีฉบับล่าสุด คือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงนามในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ระบุสาเหตุที่จะต้องมีพระราชบัญญัติฉบับบนี้ก็เพื่อให้มีการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และการบริหารจัดการสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน
“สัตว์ป่า” หมายความว่า สัตว์ทุกชนิดซึ่งโดยทั่วไปย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ อย่างเป็นอิสระ และให้หมายความรวมถึงไข่และตัวอ่อนของสัตว์เหล่านั้นด้วย (นัยนา เกิดวิชัย, 2552, หน้า 128) ซึ่งประเภทของสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ
- สัตว์ป่าสงวน คือ สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่า ที่ใกล้สูญพันธจำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ ไว้อย่างเข้มงวด
- สัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าชนิดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดนั้นมี แนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
- สัตว์ป่าคุ้มครองเพาะพันธ์ได้ คือ สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ ทางเศรษฐกิจสมควรส่งเสริมให้มีการเพาะขยายพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้
- สัตว์ป่าควบคุม คือ สัตว์ป่าชนิดที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES และสัตว์ป่าอื่นที่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการรักษาจำนวนประชากรของสัตว์ป่าอื่นนั้น

การที่สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีกฎหมายคุ้มครองก็เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารให้สมบูรณ์และสมดุล เพราะบทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศคือการกินต่อกัน สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก กินต่อกันเป็นลูกโซ่ จึงเรียกการกินต่อกันนี้ว่า “โซ่อาหารโดยการกินต่อกัน (grazing food chain หรือ food chain )” (อู่แก้ว ประกอบไวทยกิจ บีเวอร์, 2531, หน้า 107) พืชและสัตว์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และต่างจะขาดซึ่งกันและกันเสียมิได้ ดังนั้นการสงวนและรักษาพันธ์สัตว์ป่าจึงเป็นการรักษาระบบนิเวศและชีวิตของสัตว์ป่าควบคู่กันไปด้วย
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเปรียบเสมือนเกราะที่คุ้มครองชีวิตของสัตว์ป่า และระบบนิเวศ ที่ครอบคลุม ผู้ใดที่ฝ่าฝืนย่อมมีความผิดทางอาญา ดังนั้น การศึกษาพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ และการกระทำบางอย่างเกี่ยวกับสัตว์ป่าสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาต และมีหนังสือรับรองจากส่วนราชการ ตัวอย่างเช่น ห้ามมีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว ไว้ในครอบครอง เว้นแต่เป็นการครอบครองโดยผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์ตามมาตรา 33 หรือสวนสัตว์ที่หน่วยงานของรัฐจัดตั้งตามหน้าที่ หรือเป็นการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ของผู้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 28 ที่มีไว้เพื่อการเพาะพันธุ์หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว (มาตรา 17)
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ การที่มีวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติเกิดขึ้นก็เพื่อรักษาชีวิตและสายพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ไว้ เพื่อดำรงซึ่งสายพันธุ์ รักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้


บรรณานุกรม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (ม.ป.ป.). พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562. ค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2564, จาก https://portal.dnp.go.th/Content/LegalAffairs?contentId=22540.
ธีระพล อรุณะกสิกร. (2537). พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
นัยนา เกิดวิชัย. (2552). รวมพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา 30 พระราชบัญญัติ. นครปฐม : นิตินัย.
อาจ แจ่มเมฆ. (2529). สัตววิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น : รวมสาส์น.
อู่แก้ว ประกอบไวทยกิจ บีเวอร์. (2525). นิเวศวิทยา. เชียงใหม่ : ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จัดทำข้อมูลและภาพโดย นางสาววัลฤดี โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา (โทร. 0-2310-8647)