วันปีใหม่ 1 มกราคม

วันปีใหม่ 1 มกราคม

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ เราได้นับถือคติของพราหมณ์ คือ ใช้วันที่ขึ้น  1  ค่ำ เดือน  5  เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี  พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน  5  ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ. 2483  และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17  ธันวาคม พ.ศ. 2483  รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9  เดือนเท่านั้น คือ เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่  24  ธันวาคม พ.ศ. 2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก แต่อะไรทั้งหมดก็ไม่สำคัญเท่าที่เราจะได้ฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของไทยเราเองแต่โบราณกาล ซึ่งเราได้ละทิ้งเสียโดยอิทธิพลของพราหมณ์นั้น กลับขึ้นมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยทั้งในส่วนเกี่วยข้องกับชาติของเราเอง และในทางสัมพันธ์กับชาติที่เจริญแล้วทั้งหลาย ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่  1  มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนรวมทั้งข้าราชการ จะมีการจัดงานรื่นเริงและมหรสพ ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึงวันที่ 1 มกราคม มีการจัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่ มีการแลกบัตรอวยพรและของขวัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน และบุคคลสำคัญ ในช่วงเช้าของวันที่ มกราคม ประชาชนก็จะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่รับพร และอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อความสุขความเจริญ มีการจัดกิจกรรมเพื่อการกุศลที่จัดให้มีขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน หลาย ๆ บริษัทก็จะถือเอาโอกาสนี้แจกโบนัสและประกาศเลื่อนขั้นพนักงาน

บรรณานุกรม

ชลิยา ศรีสุกใส. (มปป.). วันสำคัญ ประเพณี การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พีบีซี.
สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร.  (2526). บันทึกเรื่องเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์.

ภาพประกอบ

http://www.thisisthelife.com/

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน ปีการศึกษา 2548 งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด