วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ปีพ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวครู ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ในวันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปีอนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- กิจกรรมทางศาสนา
- พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดหอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการโดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลาง จะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน 1,000 รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ว่าดังนี้
คาถา ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)
ข้าขอประนมกระพุ่ม | อภิวาทนาการ |
กราบคุณอดุลคุรุประทาน | หิตเทิดทวีสรร |
สิ่งสมอุดมคติประพฤติ | นรยึดประครองธรรม์ |
ครูชี้วิถีทุษอนันต์ | อนุสาสน์ประภาษสอน |
ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน | นะตระการสถาพร |
ท่านแจ้งแสดงนิติบวร | ดนุยลยุบลสาร |
โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร | ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล |
ไปเปื่อก็เพื่อดรุณชาญ | ลุฉลาดประสาทสรรพ์ |
บาปบุญก็สุนทรแถลง | ธุระแจงประจักษ์ครัน |
เพื่อศิษย์สฤษฎ์คตจรัล | มนเทิดผดุงธรรม |
ปวงข้าประดานิกรศิษ | (ษ) ยะคิดระลึกคำ |
ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ | อนุสรณ์เผดียงคุณ |
โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก | อดิเรกเพราะแรงบุญ |
ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน- | ทรศิษย์เสมอเทอญฯ |
คาถา ปญญาวุฑฺฒิกเรเตเต ทินฺโนวาเท นมามิหํ
คำประพันธ์ของพระวรเวทย์พิสิฐ (วรเวทย์ ศิวะศริยานนท์) ครูอาวุโสสวดคาถาแรกแล้วสวดคำฉันท์ในวรรคแรก นำผู้ที่มาประชุมสวดต่อจนจบ แล้วครูอาวุโสสวดคาถาท้าย
จากนั้นประธานจัดงานวันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ นำผู้ร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ ดังนี้
- ข้าจะบำเพ็ญตนในสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
- ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
- ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี โดยมอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการสุดท้าย กล่าวปราศรัย กับคณะครูที่มาประชุม
บรรณานุกรม
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. (2537). ข้อมูลวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงาน.
ภาพประกอบ
ภาพวันครู ดัดแปลงโดย เยาวลักษณ์ เทมเพิลมันน์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564
Jorgeduardo. (2020, มิถุนายน 21). ภาพครู. ค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2563, จาก https://pixabay.com/th/illustrations/ครู-ศาสตราจารย์-อาชีพ-การศึกษา-5322850/
ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. (2560). พานไหว้ครู มรภ.บุรีรัมย์, 1 กันยายน 2560. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/69062
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงานปีการศึกษา 2555 งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด