ก้าว..กระดาษ

นางสาววัลฤดี  โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา
ภาพชื่อเรื่อง ก้าว..กระดาษ
ภาพชื่อเรื่อง ก้าว..กระดาษ

การก้าวเดินของเวลาทำให้ได้เห็นถึงวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์มากมายผ่านการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของคนในอดีต แล้วอะไรคือสิ่งที่บันทึกเรื่องราว ความรู้ในแต่ละด้าน จนทำให้มนุษยชาติมีการเจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้ กระดาษก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบของคำถามนี้เช่นกัน

กว่าจะเป็นกระดาษที่เห็นกันในปัจจุบันได้ผ่านการพัฒนามาจากการใช้วัสดุธรรมชาติเพียงอย่างเดียวมาเป็นการใช้สารเคมีเป็นส่วนผสมในการทำกระดาษแต่ละแผ่น ก้าวแรกของกระดาษคือ Papyrus”

ภาพหัวข้อย่อย Papyrus (กระดาษปาปิรุส)
ภาพหัวข้อย่อย Papyrus (กระดาษปาปิรุส)

Papyrus

Papyrus เป็นกระดาษใบแรกที่เกิดขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 2400 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณได้ค้นพบวิธีการจดบันทึกเรื่องราว บนแผ่นวัสดุที่ทำจากพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Papyrus โดยจะนำส่วนลำต้นของปาปิรุสฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตามความยาวของลำต้นแล้วนำมาเรียงซ้อนในลักษณะขวางกันแล้วนำไปทุบให้เป็นแผ่นบางแล้วเคลือบผิวด้วยกาว (ภูวรา ธนกุลราเชนทร์, 2558, หน้า 9)

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยพบว่า สมุดไทย และ คัมภีร์ใบลาน ถูกใช้ในครั้งแรกเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาหรืออาจจะนานกว่านั้น จนมาถึงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการใช้กระดาษแบบตะวันตกก็เข้ามาแทนที่ จนทำให้สมุดไทยและคัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในปัจจุบัน สมุดไทย และ คัมภีร์ใบลาน มีความแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอก เนื้อหา และวิธีการทำ

ภาพหัวข้อย่อย สมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน
ภาพหัวข้อย่อย สมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน

สมุดไทย

สมุดไทย มี 2 ประเภท คือ สมุดไทยดำ และ สมุดไทยขาว แตกต่างกันที่วัสดุที่ใช้ในการทำ เป็นการเขียนตัวหนังสือลงบนเปลือกไม้เพื่อใช้บันทึกเรื่องราว สมุดไทยถือเป็นเอกสารโบราณที่บันทึกเนื้อหาหลายประเภท อาทิเช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เป็นต้น ปัจจุบัน สมุดไทยถูกจัดไว้ในประเภทเอกสารโบราณหายากควรค่าแก่การรักษาและประเมินค่าไม่ได้

คัมภีร์ใบลาน

คัมภีร์ใบลาน เป็นการจารตัวหนังสือลงบนใบลาน เรียกโดยทั่วไปว่า “หนังสือใบลาน” มักจะบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ จึงนิยมเรียกหนังสือใบลานว่า “คัมภีร์ใบลาน” (สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2556, หน้า 7) นอกจากนี้คัมภีร์ใบลานยังมีการบันทึกเนื้อหาในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น สภาพสังคม และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือจากการจารบนใบลาน

ภาพหัวข้อย่อย กระดาษ (Paper)
ภาพหัวข้อย่อย กระดาษ (Paper)

กระดาษ (Paper)

กระดาษ (paper) หมายถึง แผ่นวัสดุบาง ซึ่งทํามาจากเส้นใย (fiber) ผสมกับสารเติมแต่ง (additive) ต่าง ๆ ตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไป ซึ่งสารเติมแต่งนี้อาจเติมก่อนการขึ้นเป็นแผ่น (sheet format) หรืออาจเติมภายหลังการขึ้นแผ่นก็ได้ (วิจิตร สนหอม, 2554, หน้า 7) ในปี ค.ศ. 1789 Nicolas Louis Robert ได้ผลิตเครื่องจักรผลิตกระดาษได้สำเร็จ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจึงได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับตระกูล Fourdrinier และพัฒนาการผลิตกระดาษจนถึงทุกวันนี้

ในปัจจุบันกระดาษเป็นวัสดุสิ้นเปลือง จึงมีการนำกระดาษกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาพับถุงกระดาษ หรือกระดาษขนาด a4 นำมาทำสมุดอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดได้ เมื่อหมดสภาพแล้ว ก็นำไปเข้าโรงงานแปรรูปเป็นสินค้าประเภทลังกระดาษ

ถึงแม้ตอนนี้ในสังคมปัจจุบันจะยังคงใช้กระดาษ แต่ยังมีเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า e-Book เกิดขึ้นมา เพื่อลดการใช้กระดาษและเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงสารสนเทศในสาขาต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ภาพหัวข้อย่อย e-Book
ภาพหัวข้อย่อย e-Book

e-Book

e-Book ย่อมาจากคำว่า Electronic Book หมายถึง หนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยปกติมักจะเป็นแฟ้มข้อมูลที่สามารถอ่านเอกสารผ่านทางหน้า
จอคอมพิวเตอร์ ทั้งในระบบออฟไลน์ และออนไลน์

แต่ละการก้าวเดินของเวลาที่สะท้อนถึงวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ในการผลิตกระดาษ เพื่อที่จะบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นฐานความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ก็เพื่อที่จะพัฒนาสังคมของมนุษยชาติให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น จนในปัจจุบันรูปแบบการจดบันทึกเปลี่ยนจากกระดาษที่มีส่วนผสมของพืชมาเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม

ภาพ Infographic สนเทศน่ารู้ เรื่อง ก้าว..กระดาษ (ขนาดเล็ก)
คลิกดาวน์โหลด ภาพ Infographic สนเทศน่ารู้ เรื่อง ก้าว..กระดาษ

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2563). สมุดไทย : บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม.
กรุงเทพฯ: กลุ่มสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สถาบัน
วัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. (2546). คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัย
รัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร.

วิจิตร สนหอม. (2554). การพัฒนากระดาษกกเพื่อใช้ในงานศิลปประดิษฐ์ (วิทยานิพนธ์ ปริญญา
มหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภูวรา ธนกุลราเชนทร์. (2558). การผลิตกระดาษจากเปลือกหน่อไม้ไผ่บงหวานและการใช้ประโยชน์ =
The production and use of sweet bamboo bark paper (วิทยานิพนธ์ ปริญญา
มหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2560). E-BOOK DIGITALMBS Digital Book 2017.
มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2564, จาก
http://ebook.msu.ac.th/uploads/ebook/1493366756/mobile/index.html#p=8

ภาพชื่อผู้จัดทำ (นางสาววัลฤดี โมอ่อน) และหน่วยงานที่จัดทำ (หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา) โทร. 0-2310-88647
ภาพชื่อผู้จัดทำ และหน่วยงานที่จัดทำ

จัดทำข้อมูลและภาพโดย นางสาววัลฤดี  โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา (โทร. 0-2310-8647)