25 พฤศจิกา พระมหาธีรราชเจ้า

นางสาววัลฤดี  โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา

ภาพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหาธีรราชเจ้า)
ภาพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหาธีรราชเจ้า)
หมายเหตุ. จาก วิถีแห่งจอมปราชญ์ ตามรอยพระยุคลบาทพระมหาธีรราชเจ้า = Footsteps of the Great Philosopher-King Vajiravudh (หน้าปก), โดย ชัชพล ไชยพรม, 2556, กรุงเทพฯ : มุลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์.

“คนจะเป็นปราชญ์ได้ต้องมีศิลปะ” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างเด่นชัดทั้งในด้านวรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ ทรงใช้ความสามารถด้านคีตศิลป์กล่อมเกลาจิตใจคนให้อ่อนโยน ใช้พระปรีชาสามารถทางด้านทัศนศิลป์และประณีตศิลป์สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย และยังทรงมุ่งมั่นสร้างความรู้สึกรักชาติผ่านทางบทประพันธ์ และพระราชดำรัสต่าง ๆ ให้กับคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเพศใด หรือชนชั้นใด

ระยะเวลาตลอด 15 ปี ที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนถึง 1,236 เรื่อง ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง สารคดี บันเทิงคดี บทละคร บทโขน นิทาน และอื่น ๆ อีกมากมาย นับว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่งในทางสาขาวรรณศิลป์

เมื่อปี พ.ศ. 2447 พระองค์ทรงตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” และ “โรงละครทวีปัญญา” สำหรับการแสดงละครพูด และได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครไว้ให้สโมสรและคณะละครต่าง ๆ ที่ทรงตั้งขึ้นได้เล่น บทละครพูดที่ทรงพระราชนิพนธ์แบ่งตามแนวเนื้อเรื่องได้อย่างกว้าง ๆ 6 แนว ได้แก่ 1) แนวรักชาติ เช่น หัวใจนักรบ 2) แนวแสดงปัญญาและทรรศนะทางการเมืองการปกครอง เช่น ฉวยอำนาจ 3) แนวการงานและการเมืองเรื่องรัก เช่น กุศโบาย 4) แนวชีวิต เช่น เห็นแก่ลูก 5) แนวชวนหัว เช่น ชิงนาง 6) แนวนักสืบ เช่น ผู้ร้ายแผลง อีกทั้งพระองค์ทรงร่วมแสดงละครพูด เรื่องพระร่วง ทรงรับแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว ในละครพูดเรื่องนั้นอีกด้วย

“เสียชีพอย่าเสียสัตย์” คือ คำขวัญของเสือป่า หมายความว่า ยอมตายเสียยังดีกว่าที่จะบอกความลับแก่ข้าศึกอันเป็นภัยต่อประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันประเทศไม่ให้เป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก มีพระราชประสงค์ที่จะฝึกพลเรือนชาย ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่เป็นข้าราชการ ให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหารเพื่อเป็นกำลังในการช่วยชาติบ้านเมือง ทรงใช้พระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ฝึกการรบของเสือป่าในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี

นอกจากพระอัจฉริยภาพทางด้านวรรณศิลป์และทางการทหารแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านอื่นอีก เช่น ในด้านเชิดชูประชาธิปไตย ทรงมองว่า ประชาธิปไตยในใจตนเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้บุคคลเป็นนักปราชญ์ที่ดีได้ เพราะเมื่อมีน้ำใจเป็นประชาธิปไตยแล้วก็จะต้องยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ ไม่ดื้อดึง แต่ก็ไม่มองข้ามเสียงส่วนน้อย เพื่อให้รู้จักปรับปรุงงานของตนให้พัฒนาได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไม่รู้จักหยุดหย่อน หากมัวคิดว่าตนดีแล้ววิเศษแล้ว จึงปิดใจไม่ยอมฟังเสียงใคร ก็มีแต่จะถอยหลังเข้าคลองไปทุกที (ชัชพล ไชยพร, 2556, หน้า 17)

ใน พ.ศ. 2461 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้าง “ดุสิตธานี” เป็นเมืองทดลองประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบที่บริเวณพระราชวังดุสิต ทรงวางระบบเมืองในแนวทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในแทบทุกเรื่อง ทั้งนี้ทรงรับบทบาทเป็นเพียงราษฎรคนหนึ่ง ในนาม “นายราม ณ กรุงเทพ” มีอาชีพเป็นทนายความ

ทางด้านการศึกษาพระองค์ก็ทรงใส่พระราชหฤทัย ทรงมองว่าการศึกษาเป็นอาภรณ์คู่บ้านคู่เมืองจึงทรงตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น และต่อมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2457 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปณาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

ด้วยพระปรีชาสามารถทั้งหมดเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ได้รับการถวายพระนามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” แห่งสยามประเทศ

“…ฉันหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอ ที่จะได้เห็นประเทศสยามได้เข้าร่วมในหมู่ชาติต่าง ๆ
โดยได้รับเกียรติ และความเสมอภาคอย่างจริง ๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ…”

พระราชปรารถในพระมหาธีรราชเจ้า

ภาพ Infographic สนเทศน่ารู้ เรื่อง 25 พฤศจิกา พระมหาธีรราชเจ้า (ขนาดเล็ก)
คลิกดาวน์โหลด ภาพ Infographic สนเทศน่ารู้ เรื่อง 25 พฤศจิกา พระมหาธีรราชเจ้า

บรรณานุกรม

นุสมล สุขเสริม. (2529). สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทย.

ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2515). พระมหาธีรราชเจ้า. นครหลวง : สยาม.

ชัชพล ไชยพร. (2556). วิถีแห่งจอมปราชญ์ ตามรอยพระยุคลบาทพระมหาธีรราชเจ้า = Footsteps of the Great   Philosopher-King Vajiravudh. กรุงเทพฯ : มุลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์.

ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2555). วชิราวุธราชปราชญ์ : รวมบทความบรรยายทางวิชาการ เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าของภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. นครปฐม : ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ภาพชื่อผู้จัดทำ และหน่วยงานที่จัดทำ
ภาพชื่อผู้จัดทำ และหน่วยงานที่จัดทำ

จัดทำข้อมูลและภาพโดย นางสาววัลฤดี  โมอ่อน บรรณารักษ์ปฏิบัติการ หน่วยเทคโนโลยีส่งเสริมการศึกษา (โทร. 0-2310-8647)