นมพืช ทางเลือกใหม่สำหรับคนแพ้นมวัว

ภาพนมสด ภาพโดย mochatea_2018. (2561). ค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.bluemochatea.com/2018/06/21/สูตรนมและโกโก้-ฉบับบลูม
คนเราโดยทั่วไปสาเหตุหนึ่งของการไม่รับประทานอาหารจากนมวัว คือ อาการแพ้นมวัว ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีต่อโปรตีนในน้ำนมนั่นเอง อาการที่พบได้แก่ ผื่นบนผิวหนัง การหายใจขัดข้อง อาเจียน ลมพิษ อาการแพ้นมวัว นับว่ามีความรุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในกลุ่มความสามารถในการย่อยน้ำนมต่ำ ในรายที่มีอาการรุนแรง เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่การไม่ดื่มนมเลย อาจทำให้เราสูญเสียสารอาหารอย่างแคลเซียมและวิตามินดีเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต วันนี้เราจึงลองมาดูนมชนิดอื่นๆ ที่มาจากพืชซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นลองมาดูกัน

นมถั่วเหลือง

 ภาพนมถั่วเหลือง ภาพโดย bigfatcat ที่มา : https://pixabay.com/photos/soy-milk-soy-soybean-soy-milk-2263942/
ภาพนมถั่วเหลือง ภาพโดย bigfatcat
ที่มา : https://pixabay.com/

นมถั่วเหลือง คนน่าจะรู้จักเป็นอันดับสองรองจากนมวัว นอกจากหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อแล้วยังหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดโดยใช้ชื่อว่า “น้ำเต้าหู้” นั่นเอง ประโยชน์ของนมถั่วเหลืองมีมากมายทั้งอุดมไปด้วยไขมันดีและโปรตีนสูง กินแล้วช่วยให้อิ่มได้ไว ทั้งยังมีไฟเบอร์สูง จึงเหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนัก เพราะทำให้ความอยากอาหารน้อยลง นอกจากนั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถต้านมะเร็งได้โดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ถึงจะเห็นว่านมถั่วเหลืองมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ถึงอย่างไรหากรับประทานเกินความพอดีก็ย่อมทำให้เกิดโทษได้ เพราะอาจทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ การดื่มนมถั่วเหลืองวันละ 1 กล่อง ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายและไม่เกิดผลเสียแต่อย่างใด

นมอัลมอนด์

ภาพนมอัลมอนด์ ภาพโดย rawpixel ที่มา : https://pixabay.com/photos/almond-almond-milk-bottle-bowl-3699730/
ภาพนมอัลมอนด์ ภาพโดย rawpixel
ที่มา : https://pixabay.com/

นมที่ได้จากเมล็ดอัลมอนด์ดิบล้วนนำมาปั่นละเอียดและกรองเอาน้ำนมออก มีจุดเด่นที่กลิ่นหอมนำของอัลมอนด์ นมอัลมอนด์เป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่เหมาะกับคนทุกวัย ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก และยังไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงไม่ส่งผลต่อระบบฮอร์โมนเหมือนนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์มีประโยชน์มากมายทั้งบำรุงผิวพรรณ อุดมไปด้วยวิตามินอีและโอเมก้า 3 ทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์และเต่งตึง ทั้งยังช่วยแก้อาการท้องผูก เพราะอัลมอนด์เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าการทานนมอัลมอนด์ช่วยในการลดน้ำหนัก นั่นอาจเป็นเพราะนมอัลมอนด์มีแคลอรี่ต่ำมากและยังอยู่ท้องนาน และมีไขมันดีอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีวิตามินที่มีส่วนช่วยในระบบเผาผลาญ

นมข้าวโพด

ภาพนมข้าวโพด ภาพโดย J.Suwancharoen ที่มา : https://www.ifit4health.com/2017/05/09/น้ำนมข้าวโพด-สรรพคุณและ/
ภาพนมข้าวโพด ภาพโดย J.Suwancharoen
ที่มา : https://www.ifit4health.com/

นมข้าวโพดเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินมากมาย ที่สำคัญคือรสชาติอร่อย ดื่มง่าย ย่อยง่าย ที่สำคัญคือช่วยบำรุงสายตา เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอ ลดอัตราเสื่อมของลูกตา ป้องกันการเป็นโรคต้อกระจกตา และยังมีสารเบต้าแคโรทีน ป้องกันผิวไหม้จากแสงแดดต่อต้านมะเร็งปอด และเส้นไยของข้าวโพดยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีจึงลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

นมข้าว

 

ภาพนมข้าว ภาพโดย MOLLY SHERIDAN ที่มา : https://www.seriouseats.com/2012/12/diy-how-to-make-rice-milk.html
ภาพนมข้าว ภาพโดย MOLLY SHERIDAN
ที่มา : https://www.seriouseats.com/

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักที่คนไทยกินเป็นประจำแทบทุกวันอยู่แล้ว ข้าวยังสามารถแปรรูปเป็น “นมข้าว” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำนมวัวได้ด้วย โดยนมข้าวจะมีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่า และมีโปรตีนต่ำกว่านมวัว แต่การดื่มนมข้าวจะทำให้ร่างกายย่อยและดูดซึมได้ง่าย ทั้งยังไม่มีคลอเรสเตอรอล เพราะไม่ได้มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ แต่มีส่วนประกอบของไขมันพืชอยู่มาก ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนคุมน้ำหนัก

นมมะพร้าว

ภาพนมมะพร้าว ภาพโดย LisaRedfern ที่มา : https://pixabay.com/en/coconut-milk-milk-coconut-non-dairy-1623611/
ภาพนมมะพร้าว ภาพโดย LisaRedfern
ที่มา : https://pixabay.com/

น้ำนมมะพร้าวได้มาจากการสกัดมาจากเนื้อมะพร้าว เผาผลาญได้ง่าย ดูดซึมได้ดี อุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากกรดไขมัน 7 ชนิดเหมือนในน้ำนมแม่ และนมมะพร้าวยังมีประโยชน์ในการช่วยชะลอวัย และมีแคลอรี่ต่ำมาก บางคนอาจจะสงสัยว่านมมะพร้าวนี่รสชาติเหมือนกะทิหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วนมมะพร้าวมีรสสัมผัสและรสชาติดีกว่ากะทิ

ถึงแม้คุณหรือคนในครอบครัวจะมีอาการแพ้โปรตีนนมวัว ก็ไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ ยังมีทางเลือกอื่นให้คุณได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดหาย และได้คุณประโยชน์ไม่แพ้นมวัวอยู่เช่นกัน แม้โปรตีนที่มาจากสัตว์นั้นจะได้จากส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์ และส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากตัวสัตว์ ซึ่งได้แก่ นม และไข่ สำหรับโปรตีนที่ได้มาจากพืชนั้นจะได้จากธัญพืช และเมล็ดพืช ก็ให้คุณประโยชน์เพียงพอที่จะใช้ทดแทนเนื้อสัตว์และนมได้เลยทีเดียว


บรรณานุกรม

การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวจากต้นข้าวอ่อนและรวงข้าวอ่อนอบแห้ง. (2550). กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

วิธีเลือกอาหารปลอดภัยไร้สารพิษ = Food safety a guide to prevents contaminants and toxins.  (2550). กรุงเทพฯ: ต้นธรรม.

ครีน. (2560). ทำความรู้จัก นม 5 ชนิด ที่ไม่ได้มาจากคุณวัว. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.mangozero.com/type-of-milk-that-not-from-cow/

ทางเลือกดีๆ สำหรับผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากนมวัว. (2560). ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.sanitariumthailand.com/sanitariumtips/ทางเลือกผู้ที่-แพ้นมวัว/

ภัทรศยา เชาว์รัศมีกุล. (2561). นมวัว VS นมพืช ดื่มแบบไหนได้ประโยชน์สูงสุด. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://thestandard.co/plant-based-milk-vs-cow-milk-what-difference/

ภาพประกอบ

Bigfatcat.  (2560).  ภาพนมถั่วเหลือง.  ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://pixabay.com/photos/soy-milk-soy-soybean-soy-milk-2263942/

J.Suwancharoen.  (2560).  ภาพนมข้าวโพด.  ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.ifit4health.com/2017/05/09/น้ำนมข้าวโพด-สรรพคุณและ/

LisaRedfern.  (2559).  ภาพนมมะพร้าว.  ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://pixabay.com/photos/coconut-milk-milk-coconut-non-dairy-1623611/

Mochatea_2018.  (2561).  ภาพนมสด. ค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.bluemochatea.com/2018/06/21/สูตรนมและโกโก้-ฉบับบลูม/

Molly Sheridan.  (2552).  ภาพนมข้าว.  ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.seriouseats.com/recipes/2012/12/diy-rice-milk-recipe.html

Rawpixel.  (2561).  ภาพนมอัลมอนด์.  ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://pixabay.com/photos/almond-almond-milk-bottle-bowl-3699730/


เรียบเรียงโดย เพ็ญพรรณ เพ็งพิน นักศึกษาฝึกงาน สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ภาคการศึกษาที่ 2/2562