บารมีพ่อขุนปกเกล้า ชาวราม

ภาพบารมีพ่อขุน ปกเกล้าชาวราม

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 ในขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่จะเข้ารับการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยสมัยนั้นมีสถานที่เรียนจำกัด และไม่สามารถรับผู้ที่จะศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งหมด จากความจำเป็นดังกล่าวจึงเกิดมีแนวคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในลักษณะที่เป็นตลาดวิชาขึ้น

มหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา

คือ มหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครนักศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน และไม่มีการสอบคัดเลือก มีการจัดการเรียนการสอน แต่ไม่บังคับให้มาเข้าชั้นเรียน โดยถือว่าผู้ที่เข้าชั้นเรียน และไม่เข้าชั้นเรียน ก็มีสิทธิ์ในการสอบไล่ได้เหมือนกัน ปรากฏว่าแนวคิดเช่นนี้ มีกระแสผู้ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากเพราะตรงกับความต้องการของสังคม แต่ก็มีผู้มีความคิดเห็นคัดค้านเป็นจำนวนไม่น้อย โดยให้เหตุผลต่างๆ เช่น “การจัดตั้งมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ถ้าคำนึงถึงภูมิปัญญาของผู้ที่ศึกษาจริงๆ ก็น่าจะอนุโมทนา แต่ถ้าสักแต่ว่าทำพอให้เป็นที่มั่วสุม ตลาดวิชาทำนองนี้ก็จะเป็น เพียง ที่รวมของเด็กที่ผิดหวังทั้งหลาย” (หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย 2515, 16)

อย่างไรก็ตาม นายประมวล กุลมาตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลสมัยนั้น เห็นความจำเป็นที่จะต้อง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้น จึงได้ทำการเคลื่อนไหวร่วมกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกจำนวนหนึ่ง เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2512 (ขณะนั้นยังไม่มีชื่อมหาวิทยาลัย) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการในที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 17/2512 วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2512 และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา จำนวน 15 คน ได้แก่ นายศักดิ์ ผาสุกนิรันต์ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ นายประมวล กุลมาตย์ พลโทแสวง เสนาณรงค์ เป็นต้น

คณะกรรมการได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วเสร็จ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2513 และได้นำเสนอตามขั้นตอน จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ ในการประชุมสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 8/2514 วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 จึงได้ประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 มีนาคม 2514 โดยมีหลักการ และเหตุผลสำคัญ ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ในมาตรา ที่ 5 ว่า “มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมวิชาการชั้นสูงและทำนุบำรุงวัฒนธรรม” (พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2514, 2)

เหตุใดจึงชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนจะได้ชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ที่พิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยไม่น้อยไปกว่า หลักการหรืออุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย ได้มีการเสนอ และถกเถียงถึงชื่อของมหาวิทยาลัยนี้อย่างหลากหลาย เช่น ชื่อ มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยราษฎรไทย มหาวิทยาลัยปวงชนชาวไทย เป็นต้น สุดท้ายจึงได้ชื่อ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากพระนามาภิไธยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ นายแคล้ว นรปติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้เสนอ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นที่ระลึกแก่พระมหากษัตริย์ผู้ประสาทอักษรภาษาไทย” (2512, 4) ประกอบกับเวลานั้น พระราชประวัติ หรือวีรกรรมของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นที่ประจักษ์ และรับรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ เช่น การจัดละครเทิดพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง การจัดสร้างเหรียญที่ระลึก ใน พ.ศ. 2510 และพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2512 จึงทำให้วีรกรรมของพระองค์เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

สถานที่ตั้งชั่วคราว

หลัง พ.ศ. 2507 พื้นที่บริเวณที่เคยเป็นที่จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ (EXPO) บริเวณ ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิแห่งนี้ ได้ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับการจัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 ก็ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำการเรียนการสอนชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2515 รัฐบาลจึงได้อนุมัติที่ดินบริเวณนี้ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่เศษ เป็นที่ตั้งถาวร และได้มีการสร้างอาคารที่ทำการและอาคารเรียนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

32 ปีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดยุคทองแห่งเสรีภาพทางการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา ให้กับปวงชนชาวไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยการสอนในระยะแรกมี 4 คณะ ประกอบด้วย คณะนิติศาสตร์ คณะ บริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2517 ได้ทำการเปิดสอนเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ที่อยู่ห่างไกลในส่วนภูมิภาค ให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทัดเทียมกับผู้ที่อยู่ในส่วนกลาง มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการจัดตั้งสาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาคขึ้น ในปี พ.ศ. 2538 และในปี พ.ศ. 2539 จึงได้น้อมเกล้าถวาย โครงการสาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาคเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ กิจกรรมการเทิดพระเกียรติ ร่วมเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษก โดยใช้ชื่อสาขาวิทยบริการนี้ว่า “มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติส่วนภูมิภาค” โดยใช้ระบบการเรียนการสอนสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียม และทำการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ภาคพิเศษ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2544) มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดสอนในส่วนภูมิภาคไปแล้ว 13 แห่ง คือ สาขาวิทยบริการ จังหวัดปราจีนบุรี อุทัยธานี นครศรีธรรมราช อำนาจเจริญ นครพนม แพร่ นครราชสีมา สุโขทัย ขอนแก่น ศรีสะเกษ ตรัง ลพบุรี และวิทยาเขตบางนา กรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เปิดสอนเพิ่มขึ้นอีก 1 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และจัดตั้งสถาบันนานาชาติ ขึ้นเพื่อเปิดหลักสูตรนานาชาติ คือ หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้จัดการเรียนการสอนเป็นแบบ Module System และได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยครบวงจร ตลอดจนมีการเตรียมจัดตั้ง สถาบันภาษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขึ้น เพื่อเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นภาษาต่างประเทศในระดับต่าง ๆ สำหรับนักศึกษาทุกระดับ อาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดจนบุคคลทั่วไป รวมทั้งเปิดสอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศด้วย

ในปีการศึกษา 2544 มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดสอนระดับปริญญาเอก หรือ ดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ 6 สาขาวิชา คือ สาขาวิชานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการศึกษา สาขาจิตวิทยาให้คำปรึกษา และสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้สร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย เหมือนสถานที่ราชการหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่ต่างก็มีสัญลักษณ์ประจำสถาบันนั้นๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ และมีพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มีตราพ่อขุนรามคำแหงเป็นสัญลักษณ์ และเพื่อให้เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์นี้มีความสง่างามและเด่นชัด จึงเห็นควรให้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น แต่เนื่องจากในขณะนั้น รัฐบาลอนุญาตให้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นการชั่วคราว จึงไม่เหมาะที่จะสร้างถาวรวัตถุใดๆ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงสร้างขึ้นเฉพาะ พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตามแบบของกรมศิลปากร เป็นโลหะทองเหลืองผสมทองแดงและรมดำ มีความสูงจากพื้นฐานถึงยอดพระมาลา 115 เซนติเมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือหนังสือ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน ประทับอยู่บนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2514

ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 เมื่อรัฐบาลได้อนุมัติที่ดินให้เป็นที่ตั้งถาวรแล้ว จึงได้มีการสร้างที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บริเวณศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ ในปี พ.ศ. 2516 พลโทแสวง เสนาณรงค์ นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดวางศิลาฤกษ์ฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง การก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนราม คำแหงมหาราชนี้ ได้รับการออกแบบให้มีห้องประชุมอยู่ข้างใต้ด้วย ส่วนใต้พระแท่นที่ประทับพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีแผ่นคำจารึกข้อความดังนี้

“พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และ พระนางเสือง เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1820 และสวรรคตประมาณ พ.ศ. 1860 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นนักรบเก่งกล้า ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถ ทรงเป็นนักปราชญ์คิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้อัญเชิญพระนามาภิไธย ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาเป็นพระนามมหาวิทยาลัย ทั้งได้สร้างพระบรมรูปประดิษฐานไว้ เพื่อเป็นเกียรติ และ เป็นที่เคารพสักการะ ของนักศึกษา และคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนี้ สถาบันแห่งนี้จงสถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่คู่กับประเทศไทย เป็นที่ประสิทธิประสาท ศิลปวิทยาการ แก่ประชาชนถ้วนทั่วทุกหมู่เหล่าตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระบรมราชานุสาวรีย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นับเป็นความภาคภูมิใจ เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูยิ่งใหญ่และสง่างาม ที่สำคัญยังเป็นศูนย์กลางความเคารพ สักการะ ของชาวรามคำแหง ตั้งแต่ผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ตลอดจนถึงบุคคลทั่วไป

“พ่อขุน” คือขวัญและกำลังใจ

หากพิจารณาถึงสภาพของ สังคมอุดมศึกษาของไทยในสมัยนั้น จะเห็นได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยมาจากการก่อตั้งของพระมหากษัตริย์ถึงสองรัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความภาคภูมิใจที่มีท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประสาทการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภาคภูมิใจในวิชาการที่เล่าเรียน เป็นวิชาชีพที่ก่อประโยชน์ให้กับชีวิตของประชาชน เป็นอาชีพอันทรงเกียรติ ซึ่งทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยปิดของรัฐ ที่ต้องใช้ความสามารถในการสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่สภาพบรรยากาศของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในขณะนั้น อยู่ท่ามกลางกระแสของความเห็นด้วยและความต่อต้าน อยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัว ทั้งยังได้รับการหมิ่นแคลนและเหยียดหยามจากผู้คนทั่วไป และสื่อมวลชนยังทำร้ายจิตใจของนักศึกษาผู้พ่ายแพ้มาจากสนามการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปิด โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หน้าที่สำคัญของผู้บริหาร คือ ปลุกปลอบขวัญและให้กำลังใจ สร้างสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และตอกย้ำให้เกิดความภาคภูมิใจจวบจนปัจจุบันว่า ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุด มีนักศึกษามากที่สุด มีน้ำพุที่สูงที่สุด เป็นต้น การปลูกฝังความภาคภูมิใจต่อคำว่า “ลูกพ่อขุน” มักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ เสียงกระหึ่มของเพลงเชียร์ที่สร้างความยิ่งใหญ่และก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ ได้แก่

“เฮ เฮ้ย.. พ่อกูขุนศรี แม่กูนางเสือง ลูกหลานเต็มเมือง รามคำแหง..เฮ” และเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายด้วยคำขวัญที่ว่า “รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ” และพุทธภาษิตที่ว่า “อตตาหิ อตตโน นาโถ” (ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน)

นั่นหมายถึงว่า ผู้ที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต้องมีความขยัน อดทน ต้องพึ่งพาตนเอง ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพ และระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ จึงจะสามารถเรียนได้สำเร็จ

ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น จึงนำมาซึ่งความปิติยินดี เป็นขวัญและกำลังใจ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ ดังปรากฏบทความในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ข่าวรามคำแหง” ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวสาร จากมหาวิทยาลัยไปสู่นักศึกษา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษาแรกจนถึงปัจจุบัน ว่า

“..สัญลักษณ์ของความมั่นคงถาวร คือ การวางศิลาฤกษ์ที่ประดิษฐานพระรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพระรูปมีที่ประดิษฐานถาวรแล้ว ความไม่แน่นอนของชาวมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ย่อมจะสิ้นไป เราตั้งความหวังไว้ว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่ต้องเร่ร่อน หรือถอนเสาเรือนไปหาที่ดินอื่น เรารักหัวหมาก บัดนี้หัวหมากก็รักเรา ขอให้นักศึกษามาร่วมพิธีเพื่อแสดงความกตัญญูอย่างเต็มภาคภูมิ ความภูมิใจนี้ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้สร้างจากมือของบุคคลเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการสร้างสรรค์ และร่วมแรงร่วมใจกันอย่างอดทน และสม่ำเสมอมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะเป็นปึกแผ่นมั่นคง และน่าภาคภูมิใจก็เพราะ ได้สร้างขึ้นด้วยน้ำมือ และน้ำใจของชาวมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั่วหน้า” (บทบรรณาธิการ 2516, 8)

ปัจจุบันคำขวัญที่ว่า “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” ได้พิสูจน์แล้วว่า “ลูกพ่อขุน” หลายแสนคนเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสามารถรับใช้สังคมได้ดี ชาวรามคำแหงส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเดชะพระบารมีชององค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ให้โอกาสทั้งในด้านการศึกษา ด้านหน้าที่การงานและด้านอื่นๆ

ความมั่นคงและการยอมรับจากสังคม ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษา วิชาการ และ เทคโนโลยี ไม่ได้ทำให้ความเชื่อและความศรัทธาที่ชาวรามคำแหง มีต่อพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชลดน้อยลงไป ทุกๆ ปี จะมีการประกอบพิธีกรรมสักการะอย่างเป็นทางการ และทุกๆ วันจะมีผู้คนนำ ดอกไม้ ธูปเทียน ตลอดจนสิ่งของสักการะต่างๆ มาสักการะบูชาจำนวนไม่น้อย ผู้ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือเดินทางผ่านไปมาบริเวณลานพ่อขุนฯ จะยกมือขึ้นไหว้แสดงความเคารพต่อพระบรมมราชานุสาวรีย์

วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง

แต่เดิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง กำหนดให้วันที่ 15 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย เนื่องจากตรงกับวันปฐมนิเทศของนักศึกษารุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2514 ณ สนามกีฬาแห่งชาติปทุมวัน แต่เมื่อหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมามหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นครั้งแรก เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ วันที่ 26 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหงแทน โดยมีการจัดพิธีกรรมบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานวันประสูติ หรือวันสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหง คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยจึงได้พิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช ได้ทรงค้นพบศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหง ที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 จุลศักราช 1195 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 17 มกราคม ของทุกๆ ปี เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง คือ “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ในวันดังกล่าวนี้ ชาวจังหวัดสุโขทัยได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงสักการะบูชาต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าสุโขทัยเป็นประจำทุกปี และเนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐานอยู่ ในวันนี้ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดพิธีสักการะบูชาพ่อขุนรามคำแหงอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

สารสนเทศมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยสังเขป

  1. เพลงประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาระสำคัญของเนื้อเพลง
    • พระนามรามคำแหง มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ พระนามมหาราชองค์แรกของไทยคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ดังนั้นชาวรามคำแหงจึงเทิดทูนพระนาม “รามคำแหง” เป็นอย่างยิ่ง นักศึกษาจะบอกว่าตนเป็น “ลูกพ่อขุน” ด้วยความภาคภูมิใจ ดังนั้น สาระสำคัญของเนื้อเพลงประจำมหาวิทยาลัย จึงเต็มไปด้วยพระนามรามคำแหง หรือ พ่อขุน เช่น เพลง “เด่นพระนาม”
    • ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย สุพรรณิการ์ หรือ ฝ้ายคำ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานต้นสุพรรณิการ์ หรือ ฝ้ายคำ เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 คุณสมบัติของดอกและต้นสุพรรณิการ์สอดคล้องกับชาวรามคำแหงอย่างยิ่ง (เพลงฝ้ายคำ)
  2. สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติขึ้นใน 13 จังหวัด นักศึกษาทุกสาขาต่างมีสำนึก และความภาคภูมิใจในการเป็น “ลูกพ่อขุน” เช่นเดียวกัน
  3. เทคโนโลยีในการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการนำ เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนมากที่สุด และประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เช่น การสอนทางไกลด้วยระบบโทรทัศน์สื่อสารสองทางผ่านดาวเทียมและสายใยแก้วนำแสง การใช้คอมพิวเตอร์ในการลงทะเบียน และแจ้งผลสอบ การบริการทางอินเตอร์เน็ต การบริการสืบค้นข้อมูลด้วยระบบเครือข่าย เป็นต้น
  4. ปณิธานของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในการผลิตบัณฑิต โดยมุ่งเน้นความรู้คู่คุณธรรม หมายความว่า บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะต้องเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม คือมีความรู้อย่างดียิ่งในสาขาที่ตนศึกษา ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีคุณธรรม คือ ไม่นำความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ผิด บัณฑิตจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีกตัญญูกตเวทิตา และรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง
  5. การผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมุ่งให้ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ ดังนโยบายคุณภาพมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ว่า “รามคำแหงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาและการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพรับใช้สังคมและประเทศชาติ”
  6. ลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัย ตลาดวิชาที่มีนักศึกษามากที่สุดในโลก รับนักศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องสอบคัดเลือก จึงเป็นที่รวมของคนทุกประเภท ถ้าจะเปรียบกับน้ำ ก็มีทั้งน้ำสะอาด น้ำธรรมดา และน้ำไม่สะอาด มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงเปรียบเสมือนเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่กรองน้ำใสสะอาดออกไปให้สังคมได้ดื่มกินกันต่อไป มหาวิทยาลัยจึงภาคภูมิใจกับการทำหน้าที่นี้มาตลอดเวลา 30 ปี
  7. ข้อมูลอื่นๆ
    • สีประจำมหาวิทยาลัย “สีน้ำเงิน – ทอง”
      • สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ส่วน
      • สีทอง เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรือง
    • สัญลักษณ์ เป็นพระรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรูปหลักศิลาจารึก
    • วันสถาปนามหาวิทยาลัย วันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 และของทุกๆ ปี
    • คำขวัญ
      • “บัณฑิตรามฯ ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม”
      • “รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ”
      • “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง”

บรรณานุกรม

“ชุมทางประชาธิปไตย,” ประชาธิปไตย. :16 ;2 พฤศจิกายน 2512.
ดวงใจ ดำรงค์สุทธิพงศ์. ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวรามคำแหงต่อพระ บรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542.
“ตลาดวิชาจะกลายเป็นซ่องโจร,” ประชาธิปไตย. :16 ;2 พฤศจิกายน 2512.
“บทบรรณาธิการ,” ข่าวรามคำแหง. : 8 ; 13 มกราคม 2516.
“พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง,” ราชกิจจานุเบกษา. 88(24) : 2 ; 2 มีนาคม 2514.
29 ปี มหาวิทยาลัยรามคำแหง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543.
29 ปี มหาวิทยาลัยรามคำแหง : 20 พฤศจิกา ลูกกลับมาบูชาพ่อขุน. กรุงเทพฯ : สมาคมมหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543.
อัญชลี ภูมิดิษฐ์. “17 มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ,” ข่าวสารสำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยรามคำแหง. 12(3) : 15 – 20 ; พฤศจิกายน 2532 – มกราคม 2533.

ภาพประกอบ : 
รอบรั้วรามฯ. ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. ค้นเมื่อ 14 มกราคม 2565 จาก https://www.facebook.com/aroundramuni/photos/a.4893271740743535/4893258687411507/

รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร