ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตนานาชนิด เช่น พืชและสัตว์ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันตามหน่วยของพันธุกรรม และสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีความหลากหลายทางพันธกรรมเป็นสายพันธุ์ ยิ่งถิ่นที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันมากเพียงใด ก็ยิ่งมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมากขึ้นเพียงนั้น
หนังสือ Red Data Books ซึ่งจัดพิมพ์โดยสหพันธ์นานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้บันทึกไว้ว่า การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้สูญเสียสิ่งมีชีวิตไปร้อยละ 73 นอกนั้นก็มีสาเหตุมาจากการนำสิ่งมีชีวิตวัชพืชในหมู่พืช มลพิษจากสารเคมีจากอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยขาดดุล เช่น การล่าสัตว์มากเกินไป การจับปลามากเกินไป การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่ามากเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสิ้น และเมื่อมีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญหายไปก็จะหายไปชั่วนิรันดร์ เช่น ไดโนเสาร์ เป็นต้น
ประวัติความเป็นมา
เรื่องความหลากหลายทางชีวิภาพจึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Unites Nation Environment Programme – UNPE) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และ UNPE ได้ตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชึวิภาพ (Intergovernmental Committee on the Convention on Biological Diver : ICCBD) เพื่อมาดำเนินการเตรียมการในการยกร่างอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งได้รับการรับรองในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ณ กรุงไนโรบี ประเทศสาธารณรัฐเคนยา
ต่อมาอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Environment Development : UNCED) หรือการประชุม The Earth Summit ที่กรุงริโอเดอเจนาโร ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ 3-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เพื่อให้ที่ประชุมดังกล่าวได้มีการพิจารณาร่วมลงนามและรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นมีประเทศที่ได้ร่วมลงนามและรับรองทั้งสิ้น 157 ประเทศ แต่ในกรณีการให้สัตยาบัน เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ที่จะมีผลบังคับในทางกฏหมายและมีพันธกรณีผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญานั้น ปรากฏว่า วันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2538 มี 120 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันเพื่อร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว
คณะผู้แทนไทยที่เข้ารวมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระหว่างวันที่ 3-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประกอบด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประชุมครั้งนั้นฝ่ายไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว แต่การให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ที่จะมีผลบังคับในทางกฏหมายและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ นั้น ขณะนี้ (พ.ศ. 2549) อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะลงนามให้สัตยาบัน
อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคตประเทศไทยคงจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ฉบับนี้ โดยการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบหนึ่งในด้านการพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 นั้น ได้มีการบรรจุเรื่องการจัดการปัญหาดูแลรักษาในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพไว้ด้วยแล้วที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้มีมติให้วันที่ 29 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity)
เพื่อให้มีการรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มมีผลบังคับใช้ ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 100 ประเทศ ได้จัดตั้งธนาคารพันธุ์พืช เพื่อเก็บรักษาพันธุ์พืชไว้ แต่ยังทำได้ในสัดส่วนที่น้อย และมีการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรมในการผลิตพืชพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า สำหรับในด้านสัตว์นั้นได้มีการวิจัยเพื่อหาเทคนิคใหม่ ๆ ในการขยายพันธุ์สัตว์หายาก หรือสัตว์ที่มีข้อจำกัดทางพันธุกรรม เช่น มีลูกน้อย หรือตั้งท้องนาน เพื่อให้ได้สัตว์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ๆ นอกจากนั้นยังมีการผสมพันธุ์สัตว์และดูแลลูกจนแข็งแรวก่อนที่จะนำไปปล่อยในป่า หรือการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ หรือการสร้างอุทยานให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในระดับหนึ่ง
จากการเล็งเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ดังกล่าว ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน และธนาคารโลกก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โครงการที่สำคัญที่สุด คือ Global Environment Facility ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานแห่งชาติหิมาลัย ซึ่งครอบคลมพื้นที่ 765 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น ในวันที่ 29 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ชาวโลกควรจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ เพราะความหลากหลายที่พบในพันธุ์พืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด อาจเป็นบ่อเกิดหรือฐานแห่งการผลิตอาหาร และการเกษตรทั่วโลกได้ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องหามาตรการการบำรุงรักษา หรือหาแนวทางอนุรักษ์ให้ยั่งยืนสืบไป
คัดลอก, อ้างอิง
วรนุช อุษณกร.ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์, 2543.
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด