วันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเยาวชน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะที่สามารถรับรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๘ หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้ในวันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังเป็นยุวกษัตริย์ คือ   ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ พรรษา และ ๑๒ พรรษาเศษ เท่านั้น สาเหตุที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันเยาวชนแห่งชาติ เป็นคนละวันกับวันเด็กแห่งชาตินั้น ก็เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่าบุคคลทั้ง ๒ กลุ่มนี้ยังมีความแตกต่างกันในทางด้านร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะ ปัญหาความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังที่สังคมมีต่อบุคคลทั้ง ๒ กลุ่ม

ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติและวันเด็กแห่งชาติจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ วันเยาวชนแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นให้คนหนุ่มสาววัย ๑๕ – ๒๕ ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในอันที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ส่วนวันเด็กแห่งชาตินั้นได้มีการเฉลิมฉลองมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยกำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม ด้วยวัตถุประสงค์ที่มุ่งกระตุ้นให้ผู้มีส่วน รับผิดชอบทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก คือ ผู้ที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปี (ตามความหมายของปีเด็กสากล ๒๕๒๒ ขององค์การสหประชาชาติ) โดยให้มีการคุ้มครอง เลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และช่วยเหลือสงเคราะห์เป็นพิเศษ คำขวัญของวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นคำขวัญเดียวที่ใช้มาตลอดตั้งแต่ปีเยาวชนสากล ๒๕๒๘ คือ “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมุ่งหมายให้ เยาวชนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองในอันที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างสันติสุขของโลก

ในวันเยาวชนแห่งชาติ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยและชุมชน การบำเพ็ญประโยชน์และสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น  วันเยาวชนแห่งชาติ จึงนับว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้ค้นพบบทบาทและความสำคัญของตนเองที่มีต่อชุมชนและสังคม อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓.

ภาพประกอบ

เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง  http://www.matichon.co.th/youth/youth.php?tagsub=031100&tag950=03you30221047&show=1

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด