วันสิ้นปี 31 ธันวาคม

นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย 2013
นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย 2013

วันสิ้นปี คือ วันสุดท้ายของปีซึ่งตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม ตามปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian Calendar) ซึ่งดัดแปลงมาจากปฏิทินจูเลียน ใช้กันแพร่หลายในประเทศตะวันตก ประกาศใช้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) ทางการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ คืนวันนี้จะมีการจัดงานนับถอยหลัง(countdown) เพื่อเข้าสู่วันปีใหม่ในเวลาเที่ยงคืนตามเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยมักมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง

 

เมืองที่เข้าสู่ปีใหม่เรียงตามลำดับเวลา

(ข้อมูลแปลงจากเขตเวลา) ในวงเล็บเป็นเวลาประเทศไทยซึ่งตรงกับเวลาเที่ยงคืนของแต่ละเมือง
ซิดนีย์เป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่ฉลองการเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 20.00 น.)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 22.00 น.)
ฮ่องกง (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 23.00 น.)
กรุงเทพฯ ประเทศไทย (วันที่ 1 มกราคม เวลา 00.00 น.)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส / เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (วันที่ 1 มกราคม เวลา 6.00 น.)
ลอนดอน สหราชอาณาจักร (วันที่ 1 มกราคม เวลา 7.00 น.)
รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล (วันที่ 1 มกราคม เวลา 9.00 น.)
นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา / โทรอนโต ประเทศแคนาดา (วันที่ 1 มกราคม เวลา 12.00 น.)

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติ โดยในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ได้นับปีตามปีมหาศักราชตามที่ปรากฏในศิลาจารึก จนกระทั่งถึงสมัยพญาลิไท/ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เปลี่ยนมาใช้จุลศักราช โดยใช้วันเถลิงศก (วันพระญาวัน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติอยู่ ถึงแม้ว่าปฏิทินราชการจะใช้จันทรคติ แต่ทางคณะสงฆ์ยังนิยมใช้เทียบปีในรูปแบบพุทธศักราชอยู่

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ยังคงให้มีวันเปลี่ยนปีขึ้นจุลศักราชใหม่ตามปฏิทินสุริยคติแบบสุริยยาตรด้วยวันเถลิงศก ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนในสมัยนั้น ส่วนปีนักษัตรให้นับเปลี่ยนปีตามปฏิทินจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แทน และระหว่างวันเปลี่ยนปีนักษัตร (จันทรคติ) กับวันขึ้นปีจุลศักราช(สุริยคติ) นี้จะเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนปีนักษัตรแล้วแต่ปีจุลศักราชยังเป็นปีเก่าอยู่จึงให้เพิ่มคำว่า “ยังเป็น” อีกด้วย

กระทั่งในปี จุลศักราช 1240 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2431 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียนแทนที่ โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งชื่อเดือน ได้แก่ เดือนแรก ของปี คือ เดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปี คือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้ รัตนโกสินทรศก เป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ 1 เมษายน ร.ศ. 108 แทนที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ 131 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้ คือ ปี พ.ศ. 2456

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งตัดสามเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ. 2483 ออก ทำให้เดือน มกราคม พ.ศ. 2483, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 และมีนาคม พ.ศ. 2483 หายไป


บรรณานุกรม
วันสิ้นปี. ค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2556, จาก http://www.thaigoodview.com/node/20864
ปฏิทินเกรกอเรียน. ค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2556, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิทินเกรกอเรียน
ปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian Calendar). ค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2556, จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=ace-blueworld&month=02-2011&date=24&group=4&gblog=1

ภาพประกอบ
นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย 2013. ค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2556, จาก http://news.tlcthai.com/wp-content/uploads/2013/01/1_001_6.jpg

เรียบเรียงโดย หน่วยพัฒนาเว็บไซต์ งานเทคโนโลยีสารสนเทศ