วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล 25 พฤศจิกายน

womenAgain

 

25 พฤศจิกายน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”

 

รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ทำไมจึงต้องเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ?

เหตุผลเพราะองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์สังหาร นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน 3 คน คือ Patria, Maria and Minerva Mirable ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1961 อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองในยุคการปกครองของนาย Rafael (ค.ศ. 1930 – 1961) ซึ่ง 20 ปี ให้หลัง จากเหตุการณ์ดังกล่าว นักเรียกร้องสิทธิสตรีใช้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันรณรงค์และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อสตรีตลอดมา และในที่สุดองค์การสหประชาชาติ มีมติให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1999

wrd2011-update-hume2
ที่มา : http://www.whiteribbon.org.au/update/violence-against-women-hume-says-no

ความเป็นมา

เมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ที่ประเทศแคนาดา ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน 14 คน โดยกลุ่มที่ทำการรณรงค์ครั้งแรกเป็นกลุ่มนักศึกษาชายจำนวน 1 แสนคน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี รวมทั้งแสดงตนว่าจะไม่ทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้าย หรือนิ่งเฉย ต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

whiteRibbon

“ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ถูกนำมาเป็นสัญญลักษณ์แห่งการรณรงค์

สัญญลักษณ์ “ริบบิ้นสีขาว” หมายถึงอะไร?

ต่อมาในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน “ขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” และในประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการการณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมได้ตระหนัก และร่วมป้องกันขจัดความรุนแรงต่อเด็กสตรีให้หมดสิ้นไป สำหรับความหมายของสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดเพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” ทุกรูปแบบ แต่ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย

view_resizing_images
ที่มา : http://www.khaosod.co.th

ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี มีอะไรบ้าง? 

เมื่อกล่าวถึงความรุนแรงต่อเด็กลแะสตรี ภาพที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือเหตุการณ์การทำร้ายร่างกาย หรือการข่มขืน แต่ความจริงแล้ว ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่ามีรูปแบบการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ เช่น การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ การทำความรุนแรงทางวาจา ความรุนแรงในที่ทำงาน รวมไปถึงการบังคับ กักขัง หน่วงเหนี่ยวอิสระภาพ เป็นต้น

ความสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย มากกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเหล่านี้เป็นคนไม่ดี เพราะโดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่คนที่ใช้ความรุนแรงนั้นมักจะมีประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็ก หรือค่านิยมดั้งเดิมที่ปลูกฝังว่า การใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจที่จะใช้ควบคุมหรือบังคับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่ามีหลายรูปแบบ เช่น การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และความรุนแรงที่แสดงออกทางพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้มักไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน จึงทำให้ปัญหาความรุนแรงยังคงสะสมอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นการรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวจึงเป็นการรณรงค์สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ชายทุกคนได้ปรับเปลี่ยนเจตคติและมีส่วนร่วมในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรี โดยเห็นว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญสมควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน สังคม และชุมชน จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

บรรณานุกรม

25 พ.ย. วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล. ค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2556, http://www.gender.go.th/template.php?vname=event/endforce.html.
ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี. ค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2556, http://www.thaigov.go.th/th/governmental/item/81515-พม-ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน-ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรีฯ-วันที่-25-พย-นี้.html.

ภาพประกอบ

ริบบิ้นสีขาว. ค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2557, จาก http://www.khaosod.co.th.
white ribbon. ค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2557, จาก http://www.whiteribbon.org.au/update/violence-against-women-hume-says-no.
Logo “หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” , ค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2557, จาก https://www.facebook.com/StopVAC.
Logo “White Ribbon Day” 25 November, ค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2557, จาก http://www.whiteribbon.org.au.

เรียบเรียงโดย หน่วยพัฒนาเว็บไซต์ งานเทคโนโลยีสารสนเทศ