ตามรอยขุนช้าง-ขุนแผน ในดินแดนสุพรรณบุรี

ภาพตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

           สุพรรณบุรี เมืองยุทธหัตถี
วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง
รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์
แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง

จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญในการทำศึกสงคราม นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องวรรณคดีอีกด้วย และเมื่อพูดถึงวรรณคดีที่ขึ้นชื่อก็คงหนีไม่พ้นวรรณคดี เรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2034 -2072 ซึ่งหลาย ๆ คน คงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว เนื้อเรื่องเป็นการนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนที่ไทยทำสงครามกับเชียงใหม่และล้านช้าง บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังให้ความรู้ที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

วรรณคดี เรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ตามประวัติแล้วนักขับเสภาในกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แต่งคนแรก เมื่อตอนเสียกรุงมีบางตอนที่สูญหายไป บางตอนยังมีต้นฉบับเหลืออยู่ เรื่องไม่ติดต่อกัน แต่เหลือมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์เพียงบางตอน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้เหล่ากวีในพระราชสำนักแต่งขึ้นใหม่ รวมทั้งพระองค์ท่านเองทรงพระราชนิพนธ์ ตอน “พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม” ตอน “ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง” และตอน “เข้าห้องแก้วกิริยาและพาวันทองหนี” รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ตอน “ขุนช้างตามวันทอง” ครูสุนทรภู่แต่งตอน “กำเนิดพลายงาม” ต่อมาครูแจ้งที่อยู่ในช่วงของรัชกาลที่ 4 แต่งตอน “กำเนิดกุมารทอง” ตอน “ขุนแผน พลายงามแก้พระท้ายน้ำ” และตอน “ขุนแผน พลายงามสะกดเจ้าเมืองเชียงใหม่”

จังหวัดสุพรรณบุรีใช้วรรณคดีขุนช้างขุนแผนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สถานที่สำคัญและน่าสนใจจากวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี คือ วัดแคและวัดป่าเลไลยก์ ทั้งสองวัดเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าวัดป่าเลไลยก์มีอายุมากถึงราว 1,200 ปี

วัดแค ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ทางเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งตามเรื่องราวในวรรณคดี ขุนแผนมาบวช และร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมที่วัดแคนี้ จึงสร้าง “คุ้มขุนแผน” ไว้เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดี แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์การเรียนรู้เกี่ยววรรณคดี เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

คุ้มขุนแผนปลูกขึ้นตามแบบเรือนไทยในสมัยโบราณที่สวยงามทรงคุณค่าประกอบกับเรื่องราวที่เล่าขานกันต่อมานับร้อยปี โดยมีลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยที่มีมุกยื่นออกมาด้านหน้า บันไดทางขึ้นกว้างเท่ากับมุกด้านหน้า ส่วนตรงกลางเป็นโถงกว้าง ด้านซ้ายและขวาเป็นเรือนลูกเชื่อมต่อออกไป ส่วนด้านหลังมีเรือนครัวซึ่งจำลองห้องครัวในอดีต

ภาพคุ้มขุนแผน ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ
ภาพคุ้มขุนแผน
ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ
ภาพคุ้มขุนแผน ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ
ภาพคุ้มขุนแผน
ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ

ภายในวัดแคยังมี ต้นมะขามยักษ์ วัดขนาดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 10 เมตร ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากท่านอาจารย์คงไว้โจมตีข้าศึกอีกด้วย

ภาพต้นมะขามยักษ์ ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ
ภาพต้นมะขามยักษ์
ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ

สถานที่ต่อมา คือ วัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดป่า” และภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ ที่ผู้คนต่างพลาดไม่ได้ที่จะมาสักการะ ภายในวัดวัดป่าเลไลยก์ เมื่อเดินออกจากวิหารหลวงพ่อโตไปทางโบสถ์หลังใหม่ มีการสร้างบ้านขุนช้างไว้ให้เข้าชมด้วย ซึ่งตามเรื่องราวในวรรณคดีนั้น บ้านขุนช้าง จะอยู่ไม่ไกลจากคุ้มขุนแผน

บ้านขุนช้าง มีลักษณะเป็นเรือนไทย 2 ชั้นแบบ สมัยโบราณสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ใต้ถุนยกสูงโล่ง มีบันไดทางขึ้นอยู่หน้าบ้าน เมื่อขึ้นบันไดไปแล้วมีโถงบันไดเป็นชานพักทำเป็นศาลาหลังเล็กๆ ก่อนเดินเข้าตัวบ้านชั้น 2 ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาภายในตัวบ้านตรงกลางในปัจจุบันนี้ทำเหมือนหอฉัน บนกุฏิพระมีพระพุทธรูปต่างๆ วางประดับไว้บนบ้านทั้งสองแถบ กั้นเป็นห้องเหมือนกับบ้านเรือนไทยโบราณ

ภาพบ้านขุนช้าง ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ
ภาพบ้านขุนช้าง
ภาพโดย ชลธิชา บุญประเสริฐ

หากท่านมีโอกาสได้เดินทางมาจังหวัดสุพรรณบุรี ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดชม อาทิ สามชุกตลาดร้อยปี บึงฉวาก หอคอยบรรหาร-แจ่มใส มังกรสวรรค์ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย และยังมีอีกหลากหลายรูปแบบการท่องเที่ยวให้เลือกได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาสำหรับกราบไหว้ขอพร หรือต้องการย้อนอดีตก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อยู่หลายแห่ง ดังเช่นที่เราตามรอย “ขุนช้าง-ขุนแผน” ที่คุ้มขุนแผน-บ้านขุนช้างแล้ว หากท่านจะวางแผนเที่ยวคราวหน้า ขอแนะนำให้ท่านมาเยือนเมืองสุพรรณบุรีสักครั้ง

บรรณานุกรม

รื่นฤทัย สุจจพันธุ์.  (2559). เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน. กรุงเทพฯ: แสงดาว.

สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร. (2555).  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.

suphan.biz. (2557). ประวัติเมืองสุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.suphan.biz/suphanhistory.htm

suphan.biz. (2558). ขุนช้าง-ขุนแผน. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.suphan.biz/kunchangkunpan.htm

suphan.biz. (2560). คุ้มขุนแผน  สุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก  http://www.suphan.biz/khumkhunpan.htm

นายเมืองทอง.  (2559).  บ้านขุนช้าง ที่วัดป่าเลไลยก์. ค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.welovesuphan.com/th/อำเภอเมือง/82-บ้านขุนช้าง-ที่วัดป่าเลไลยก์.html

หนุ่ม สุพรรณ. (2559). คุ้มขุนแผน ณ วัดแค สุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.welovesuphan.com/th/อำเภอเมือง/194-คุ้มขุนแผน-ณ-วัดแค-สุพรรณบุรี.html

ภาพประกอบ

ภาพโดยชลธิชา บุญประเสริฐ ถ่ายเมื่อปี 2562

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2562). ภาพตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดสุพรรณบุรี


เรียบเรียงโดย ชลธิชา  บุญประเสริฐ นักศึกษาฝึกงาน ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ภาคการศึกษาที่ 2/2562