ลูกปัดโบราณ มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งใด? และแหล่งต้นกำเนิดเกิดขึ้นที่ใด? ยังไม่แน่ชัดสำหรับคำตอบ แต่จากหลักฐานการขุดค้นพบต่างๆ พอจะทราบได้ว่า แรกเริ่มเดิมทีเมื่อราวสี่หมื่นปีนั้น ลูกปัดเริ่มด้วยการทำมาจากกระดูกสัตว์ ปะการัง พัฒนามาเป็นหินสี เรื่อยมาจนถึงยุคเหล็ก ยุคสำริด มีการหลอมโลหะชนิดต่างๆ มาทำเป็นลูกปัดจนมาถึงยุคปัจจุบันที่ทำจากพลาสติก ลูกปัดที่ได้รับความนิยมมาตลอดเป็นเวลาอันยาวนานนั้น คือ บรรดาลูกปัดหิน และลูกปัดแก้ว แหล่งที่มีการค้นพบลูกปัดโบราณ เช่น ลูกปัดหิน และลูกปัดแก้วหลายสีหลายขนาด ฯลฯ ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีพบการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์ และพบวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในประเทศไทย คือ บริเวณชุมชนโบราณควนลูกปัด (คลองท่อม)

ที่มา : https://chickenthree94.wordpress.com
แหล่งโบราณคดีคลองท่อม อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ติดถนนเพชรเกษมช่วงกระบี่ – ตรัง ห่างจากที่ว่าการอำเภอคลองท่อมไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่แหล่งโบราณคดีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ด้านตะวันออกและพื้นที่ด้านตะวันตกของคลองท่อม พื้นที่ด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นควนหรือเนิน ชาวบ้านเรียกกันว่า “ควนลูกปัด” ส่วนทางตะวันตกมีลักษณะเป็นเนินเตี้ยๆ อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม
จากการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ และมีการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงโบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของเอกชนบางส่วนสันนิษฐานได้ว่า แหล่งโบราณคดีคลองท่อมนี้มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และมีความเจริญจากการติดต่อค้าขายกับชุมชนโพ้นทะเล ในราวพุทธศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา โดยมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 และน่าจะมีบทบาทเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้ารวมถึงเป็นแหล่งลูกปัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีในยุคที่มีการขุดค้นพบลูกปัดโบราณคลองท่อม ณ บริเวณควนลูกปัด ท่าน “พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาส กนฺตสํวโร)” อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคลองท่อมในฐานะแหล่งลูกปัดโบราณ ท่านจึงได้เริ่มรวบรวมลูกปัดโบราณควบคู่ไปกับโบราณวัตถุต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2509 ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้น ควนลูกปัดได้ถูกขุดทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก เพื่อนำลูกปัดไปขายให้กับนักนิยมของเก่า พระครูอาทรสังวรกิจจึงได้ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัดด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านเอง เพื่ออนุรักษ์สมบัติของแผ่นดิน และเพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ โดยท่านเริ่มก่อตั้ง “พิพิธภัณฑสถานพระครูอาทรสังวรกิจ” ขึ้นภายในวัดคลองท่อมในปี พ.ศ. 2525

ที่มา : http://www.manager.co.th
จากนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม” ดำรงฐานะเป็นแหล่งรวบรวมจัดแสดงลูกปัดโบราณและศิลปวัตถุต่างๆ ของชุมชนคลองท่อม ในปี พ.ศ. 2555 มีการดำเนินการปรับปรุงอาคารและการจัดแสดงภายในอาคารให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม จังหวัดกระบี่” โดยโอนมาให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเทศบาลตำบลคลองท่อมใต้

ที่มา : http://www.asianbead.com
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคาร 2 ชั้นทาสีขาวทั้งหลัง ผนังด้านนอกได้จำลองลูกปัดสุริยเทพขนาดใหญ่มาประดับไว้เป็นที่สะดุดตา เมื่อเข้ามาภายในอาคารพบจุดแรก คือ จุดประชาสัมพันธ์และเก็บค่าบริการในการเข้าชม และจุดที่สอง คือ จุดสำหรับบรรยายแก่ผู้ที่มาเป็นหมู่คณะ โดยชั้นที่ 1 ของอาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นโซนต่างๆ ได้ดังนี้
โซนที่ 1 ประวัติวัดคลองท่อม และประวัติของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

ที่มา : https://khlongthomcity.go.th
โซนที่ 2 ลูกปัดภาคใต้บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายู ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ภาคใต้ของประเทศที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเล ดังนั้นตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลอ่าวไทยจึงปรากฏแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายทางทะเลอยู่เป็นระยะ
โซนที่ 3 ลูกปัดภาคใต้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัยพบลูกปัดแก้วสีต่างๆ ลูกปัดหินมีค่า เช่น หินอาเกต หินควอทซ์ คาร์เนเลียน และลูกปัดทองคำ เป็นต้น
โซนที่ 4 การดำเนินงานทางโบราณคดีที่ควนลูกปัด บอกเล่าลำดับเวลาการดำเนินงานทางโบราณคดีที่ควนลูกปัดแห่งนี้ ตั้งแต่กรมศิลปากรเข้ามาสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี

ที่มา : https://sites.google.com
โซนที่ 5 ลูกปัดประเภทต่างๆ ลูกปัด คือ วัตถุขนาดเล็กที่ถูกนำมาเจาะรูสำหรับร้อย ใช้เป็นเครื่องรางหรือเครื่องประดับ สมัยแรกๆ ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ตั้งแต่ดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ฟัน เมล็ดพืช ไม้ ก้อนหิน จนมีการเสาะแสวงหาวัสดุที่มีความคงทนมากกว่า เช่น ทองคำ แร่ พลอย และอัญมณีต่างๆ เป็นต้น ส่วนลูกปัดที่มีชื่อเสียงที่สุดของคลองท่อม คือ ลูกปัดแก้วโมเสกรูปใบหน้าคน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์จึงนิยมเรียกว่า “ลูกปัดสุริยเทพ” และลูกปัดชนิดต่างๆ เช่น ลูกปัดมงคล ลูกปัดแก้วโมเสก ลูกปัดนกแสงตะวัน เป็นต้น

ที่มา : https://www.matichon.co.th
โซนที่ 6 วิธีการทำลูกปัด โซนนี้บอกขั้นตอนและวิธีการทำลูกปัดชนิดต่างๆ
ชั้นที่ 2 จัดแสดงภาพบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมพิพิธภัณฑสถานคลองท่อมถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ทางพิพิธภัณฑ์ได้นำหนังสือที่ลงนามและโต๊ะพระที่นั่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยประทับนั่งมาจัดแสดงด้วย

สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมพิพิธภัณฑ์
ที่มา : https://khlongthomcity.go.th
พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. โดยมีอัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ชาวไทย 20 บาท เด็กชาวไทย 10 บาท ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 100 บาท เด็กชาวต่างชาติ 50 บาท เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ ผู้พิการและผู้ทุพลภาพ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองการศึกษา เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้ โทรศัพท์ 0 7569 9223 ต่อ 105 และ 111
บรรณานุกรม
พรชัย สุจิตต์. (2546). ลูกปัดในอดีต -ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ และ เขมิกา หวังสุข. (2558). ลูกปัดโบราณภาคใต้: ฝั่งทะเลอันดามัน. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
ปิ่น บุตรี. (2558, 14 พฤษภาคม). “คลองท่อม” นามระบือลูกปัด…อัศจรรย์ “สุริยเทพ” แห่งกระบี่. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000055168
นิสา เชยกลิ่น. (2560, 30 มิถุนายน). พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม ณ วัดคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://sac.or.th/databases/archaeology/พิพิธภัณฑสถานคลองท่อม-ณ-วัดคลองท่อม-อคลองท่อม-จกระบี่
นิภาพร ทับหุ่น. (2558, 8 พฤศจิกายน). มหัศจรรย์ “ลูกปัดโบราณ” แห่งคลองท่อม. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/672906
ภาพประกอบ
chickenthree. (2558, 10 พฤศจิกายน). ภาพลูกปัดแก้วและลูกปัดหิน. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://chickenthree94.wordpress.com/พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่/
ปิ่น บุตรี. (2558, 14 พฤษภาคม). ภาพพระครูอาทรสังวรกิจที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000055168
่่joji. (2557, 19 กรกฎาคม). ภาพอาคารพิพิธภัณฑ์หลังปรับปรุงใหม่. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.asianbead.com/index.php?topic=2041.0
เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้. (ม.ป.ป.). ภาพโซนประวัติพิพิธภัณฑ์คลองท่อม. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://khlongthomcity.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/2/menu/138
สิ่งมหัศจรรย์คลองท่อม. (ม.ป.ป.). ภาพโซนลูกปัดภาคใต้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://sites.google.com/site/singmhascrrykhlxngthxm/home/sra-mrkt/naphu-rxn-khem/phiphithphanthsthan-wad-khlxngthxm
เทศบาลตำบลคลองท่อมใต้. (ม.ป.ป.). ภาพโซนแสดงบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมพิพิธภัณฑ์. ค้นเมื่อ 05 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://khlongthomcity.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/2/menu/138
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2560, 20 กุมภาพันธ์). ลูกปัดสุริยเทพ. สืบค้นเมื่อ 06 กุมภาพันธ์ 2561, จาก https://www.matichon.co.th/news/470631
เรียบเรียงโดย ฟิลดาวซ์ สายู นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ ภาคการศึกษา 2/2560