
เกาะสีชังเป็นสถานที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปีในจังหวัดชลบุรี แต่หากจะพูดถึงเกาะ หลายคนก็คงจะนึกถึงบรรยากาศที่แสนโรแมนติกหาดทรายขาว ทะเลสวยใส มีรีสอร์ทหรือโรงแรมสุดหรูตั้งอยู่ ทว่าเกาะสีชังแห่งนี้ กลับมีบรรยากาศที่เงียบสงบ อากาศบริสุทธิ์ สถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน และเกาะสีชังเหล่านี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสถานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
เกาะสีชังเป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเล ตรงข้ามกับอำเภอศรีราชา ห่างจากชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 12 กิโลเมตร) เป็นอำเภอที่ 10 ของจังหวัด ชลบุรี ในอดีตเกาะสีชังเคยอยู่ขึ้นอยู่กับจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่กับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนกระทั่งได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอในปัจจุบัน มี 1 ตำบล คือตำบลท่าเทววงษ์ และ 7 หมู่บ้าน มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวารอยู่ถึง 8 เกาะ คือ เกาะสัมปันยื้อ เกาะโปลง เกาะร้านดอกไม้ เกาะยายเท้า เกาะขามน้อย เกาะขามใหญ่ เกาะท้ายค้างคาว และเกาะตาหมื่น พื้นที่มีลักษณะเป็นโขดเขา และนอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูตรพระราชโอรส (เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ในรัชกาลที่ 6) และสร้างพระราชวังจุฑาธุช ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วย

การเดินทางสู่เกาะสีชัง
จากกรุงเทพสู่ อ.ศรีราชาและเกาะลอย
รถโดยสารประจำทาง
เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีระยะทางประมาณ 117 กิโลเมตร ลงรถที่โรบินสัน ศรีราชา และต่อรถตุ๊กๆ เข้าไปที่ท่าเรือจรินทร์ ราคาประมาณ 50 บาทหรือมอเตอร์ไซด์รับจ้างประมาณ 20 บาท ค่าโดยสารเรือ 50 บาทต่อคน ใช้เวลา 45 นาที
รถยนต์ส่วนตัว
- ใช้เส้นทางสายบางนา-ตราด ทางหลวงหมายเลข 34 เข้าสู่จังหวัดชลบุรี
- ใช้เส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา-บางปะกง
- ใช้เส้นทางสายเก่า ถนนสุขุมวิท ทางหลวงหมายเลข 3 ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ไปจนถึงแยกอำเภอบางปะกง และให้แยกเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 34 ไปจนถึงจังหวัดชลบุรี
- ใช้เส้นทางหลวงพิเศษ (MOTOR WAY) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บนเขาห่างจากท่าเรือเทววงษ์ไปทางด้านเหนือของเกาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะสีชังให้ความเคารพนับถือ ลักษณะเป็นถ้ำซึ่งดัดแปลงเป็น ศาสนสถานที่ผสมผสานด้วยสถาปัตยกรรมจีนและไทย จากบริเวณศาลมองเห็นทิวทัศน์บ้านเรือนด้านหน้าเกาะได้ชัดเจน

ท่ายายทิม
ท่ายายทิมอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสีชังโดยเส้นทางผ่านแหลมงู ถนนคอนกรีตอย่างดี เลยพระจุฑาธุชราชฐานขึ้นเขามา ตรงมาเรื่อย ๆ ข้างหลังเกาะก็จะเจอลักษณะเป็นหาดทรายเล็ก ๆ ไม่ยาวมากนัก มีทรายละเอียดขาว สวยงาม สามารถเล่นและว่ายน้ำได้ ท่ายายทิมช่วงเวลาน้ำลงจะสามารถเดินข้ามไปยังเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงข้ามได้เหมือนเป็นทะเลแหวก ทิวทัศน์สวยงาม และเงียบสงบ แต่ควรระวังหิน หรือหอยบาดเท้า

ที่มา : http://www.sichangisland.com
/thayaytim/thailand-sichang-thayaytim-history.php
พระจุฑาธุชราชฐาน
พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะสีชัง ห่างจากท่าเทววงศ์ลงมาทางใต้ของเกาะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน มีสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ตามชั้นเนินเขาที่สูงต่ำลดหลั่นกันอย่างงดงามประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ มีสวนดอกไม้ สระ ธารน้ำ น้ำพุ ถ้ำและหน้าผา ภายในบริเวณมีสภาพ ภูมิทัศน์ที่งดงามตกแต่งตามลักษณะอุทยาน
เรือนเขียว หรือ เรือนไม้ริมทะเล
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเสด็จมายังเกาะสีชังเป็นประจำโดยเรือกลไฟ และประทับแรมบนเรือ พระที่นั่งโดย มิได้สร้าง สร้างพลับพลาที่ประทับ แต่ในเวลานั้นก็มีเรือนไม้พักผ่อนริมทะเล ปลูกสร้างอยู่แล้วหลังหนึ่ง คือ “เรือนเขียว” ซึ่งปัจจุบันยังอยู่และมีสภาพที่สมบูรณ์

เรือนผ่องศรี
จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และประวัติบุคคลผู้ที่มีบทบาทสำคัญกับเกาะสีชังในอดีต

เรือนวัฒนา
จัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ในเกาะสีชังในสมัยรัชกาลที่ 5

สะพานอัษฎางค์
อยู่ในบริเวณพระตำหนัก เป็นสะพานที่รัชกาลที่ 5 ท่านทรงใช้เป็นท่าขื้นเทียบเรือหลังจากที่เสด็จประพาสฝรั่งเศส

ช่องเขาขาด
ช่องเขาขาดอยู่ทางด้านหลังเกาะ ทางทิศตะวันตก หากนั่งเรือผ่านจะเห็นเป็นช่องเขา ในบริเวณมีสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์สามารถ ชมพระอาทิตย์ ตกได้สวยงาม มีหาดหินกลม ซึ่งเต็มไปด้วยหินกลม ๆ ขนาดต่าง ๆ มากมาย ในอดีตเคยเป็น ที่ตั้งพลับพลาที่ประทับ ชมทิวทัศน์ของรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังมีแหลมมหาวชิราวุธ เป็นจุดชมวิวที่สวยมาก มีลักษณะคล้ายกับแหลมพรมเทพ แต่เล็กกว่าเป็นแหลมที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของเกาะสีชัง มีสะพานที่ทอดยาวยื่นออกไปยังแหลม นักท่องเที่ยวนิยมไปตกปลาที่นั่นกันมากเพราะเป็นโขดหินมากมายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลายชนิด และสวยงามเป็นอย่างมาก แหลมสลิดยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็นอีก ด้วยในฤดูหนาวพระอาทิตย์ตกน้ำจะมีดวงใหญ่โตเป็นพิเศษ

บรรณานุกรม
ธงทอง จันทรางศุ และคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน. (2526). พระที่นั่งวิมานเมฆ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทย.
กรมศิลปากร. (2484). ชลบุรีโดยสังเขป. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรณธนากรม.
ป.มหาขันธ์. (2540). พระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
เอนก มาวิกมูล. (2554). สีชังความหลังครั้งรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : แสงดาว.
ภาพประกอบ
BiGBoY(นามแฝง). (2556) ภาพเกาะสีชัง, ภาพศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่, ภาพเรือนเขียวหรือเรือนไม้ริมทะเล, ภาพเรือนผ่องศรี, ภาพเรือนวัฒนา และภาพช่องเขาขาด.
สะพานอัษฎางค์ . ค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2556, จาก www.sichang-spizee.blogspot.com
ทะเลแหวกท่ายายทิม. ค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2556, จาก http://www.sichangisland.com/thayaytim/thailand-sichang-thayaytim-history.php
เรียบเรียงโดย : จิรภรณ์ อุดม นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศศึกษา ภาคการศึกษา 1/2556