การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ
- พิธีหลวง (หรือพระราชพิธี)
- พิธีราษฎร์
- พิธีสงฆ์
การประกอบพระราชพิธี
สำนักพระราชวัง จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน
การประกอบพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา สำหรับประชาชนทั่วไป
หากเป็นสถานศึกษา ครูอาจารย์จะนำนักเรียนไปประกอบพิธีในวันมาฆบูชาที่วัด โดยบอกกำหนดนัดหมายที่แน่นอน รวมทั้งบอกวัดที่จะไปทำพิธี นักเรียนทุกคนจะต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นำดอกไม้ธูปเทียน ไปยังสถนที่นัดหมาย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีในตอนบ่าย หรือตอนเย็น
สำหรับประชาชนทั่วไป จะจัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปพร้อมกันที่วัด ในเวลาเย็นหรือค่ำ เพื่อประกอบพิธีมาฆบูชา การประกอบพิธีส่วนใหญ่ จะกระทำกันที่โบสถ์ เพราะหลังจากฟังโอวาทและสวดมนต์เสร็จแล้ว จะทำการเวียนเทียนรอบโบสถ์
พิธีสงฆ์
ในวันมาฆบูชา พระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี มีการให้โอวาท สวดมนต์ และนำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวสุดแต่เห็นสมควร
ข้อปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันมาฆบูชา ที่ควรทราบมีดังนี้
- จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มาพร้อมกันที่วัด ตามเวลานัดหมาย เพื่อฟังโอวาทหรือพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน
- ก่อนออกจากบ้าน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส และแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
- เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยหยอกล้อ วิ่งเล่น หรือกระทำภารกิจอื่นอันไม่ควร เช่น เคาะระฆังเล่น จุดดอกไม้ไฟ ฯลฯ
- เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี ให้ทุกคนไปเข้าแถวหรือเข้าไปในสถานที่กำหนดโดยพร้อมเพรียงกัน
- ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้โอวาท ทุกคนต้องพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนตั้งใจฟังด้วยความสงบ กล่าวคำสาธุ เมื่อพระสงฆ์ให้โอวาทจบ
- ในพิธีสวดมนต์ จะมีผู้กล่าวนำคำบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา และคำบูชาพระรัตนตรัย ให้ทุกคนจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวตามด้วยความเคารพ มีจิตใจยึดมั่น
บทสวดมนต์ในการทำพิธีวันมาฆบูชา มีดังนี้
- บทสวดมนต์ไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย (บทอรหัง สัมมา ฯ)
- บทสวดนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (บทนะโมฯ 3 จบ)
- บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทอิติปิโส ฯ)
- บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทองค์ใดพระสัมพุทธ ฯ)
- บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวากขาโต ฯ)
- บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทธรรมมะคือ คุณากร ฯ)
- บทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสุปฏิปันโน ฯ)
- บทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯ)
- บทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา (บทพาหุง ฯ)
- คำแปลบทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา สวดทำนองสรภัญญะ (ปางเมื่อพระองค์ ฯ)
- บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (อัชชายัง ฯลฯ)
- คาถาสวดในวันมาฆบูชา
สำหรับบทสวดในข้อที่ 11 และ 12 นั้น ค่อนข้างยาว เวลาทำพิธีจะมีผู้กล่าวนำ หากสนใจรายละเอียดให้ดูในหนังสือมนต์พิธี (หนังสือคู่มือสำหรับสวดมนต์ของพระ)
หลังจากสวดมนต์เสร็จ ประธานในพิธีจะนำเวียนเทียน โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป หากครูอาจารย์พานักเรียนมาเป็นหมู่คณะในตอนบ่าย ก็จะให้มีการเวียนเทียนกันก่อน
ในการเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ จะกระทำ 3 รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ
- ในรอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
- ในรอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
- ในรอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
- ในการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไม่ควรส่งเสียงพูดคุยหรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า
- เมื่อเวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนด เพื่อสะดวกแก่การเก็บทำความสะอาด
- หลังจากเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่นๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้น
(ในการประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ก็ให้ถือปฏิบัติตามนี้)
ข้อเสนอแนะ ในวันมาฆบูชา
- ควรออกมาทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า
- ตั้งใจรักษาศีลห้าให้ครบถ้วน อย่างน้อยก็ให้รักษาไว้ตลอดทั้งวัน
- และในตอนเย็น ควรไปร่วมพิธีเวียนเทียน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย เป็นการร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
- ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา และที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยายฉายสไลด์ หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันมาฆบูชา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจ
วันมาฆบูชา |
หน้า 1 : ประวัติวันมาฆบูชา หน้า 2 : การประกอบพิธีเวียนเทียน ในวันมาฆบูชา |
บรรณานุกรม
ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2539.
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง