กีฬาพื้นเมืองไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกกันว่าภาคอีสาน มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าทุกภาค มีประชากรมากที่สุด คือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ พื้นดินส่วนใหญ่ไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่สะดวกสบายในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนนัก เป็นที่ราบสูง ที่ดอนสูง และห่างไกลจากทะเล พื้นดินเป็น
ดินทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้ดินดูแห้งแล้งยาวนานกว่าภาคอื่น แม่น้ำโขง ชี มูล เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินเค็ม ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ไม่ค่อยงอกงาม หน้าหนาวมีอุณหภูมิต่ำ หน้าร้อนก็ร้อนจนแล้ง ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศที่มีความแตกต่างกันมากนี้จึงเป็นปัจจัยกดดันให้สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติต้องปรับตัวตามไปด้วย คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องปรับตัวตาม ประเพณี ความเชื่อ งานนักขัตฤกษ์ งานเทศกาลต่างๆ จึงมักเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น งานบุญบั้งไฟ งานบุญคุณลาน งานบุญข้าวประดับดิน เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่บางส่วนติดกับลาว บางส่วนติดกับกัมพูชา จึงเกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกันทั้งด้านประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย พิธีกรรม งานเทศกาล งานละเล่น เกม กีฬาพื้นเมือง และอื่นๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น

ชื่อ วิ่งขาโถกเถก
ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อุปกรณ์
ไม้ไผ่กิ่ง ๒ ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้
วิธีการเล่น
ผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรงๆ ที่มีกิ่ง ๒ ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็กๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกันใครเดินได้ไวและไม่ตก
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกาย บริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอเพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัขไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้ด้วย

ชื่อ โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน
ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อุปกรณ์
โค้งตีนเกวียนไม่มีอุปกรณ์ใดๆ
วิธีการเล่น
แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งยืนอีกพวกหนึ่งนั่งสลับกันเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน พวกที่นั่งจะเอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางคล้ายดุมเกวียนและเอามือจับกับคนที่ยืน จะเดินไปรอบๆ เป็นวงกลม ฝ่ายนั่งก็จะนั่งให้ก้นลอยพ้นพื้น หมุนตามไปโดยใช้เท้าที่ยันกันไว้นั้นเป็นศูนย์กลาง ถ้าฝ่ายนั่งทำมือหลุดหรือวงแยกออกจากกันก็จะเป็นฝ่ายแพ้ เปลี่ยนให้คนที่ยีนเป็นฝ่ายนั่งและคนที่นั่งเป็นฝ่ายยืน แล้วเล่นต่อ
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
เล่นได้ทุกโอกาส แต่มักจะมีการเล่นเมื่อมีงานเทศกาล
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
ชีวิตของคนเราหมุนวนไปคล้ายล้อเกวียนไม่หยุดนิ่ง

ชื่อ เรือบก
ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อุปกรณ์
ไม้กระดาน ๒ แผ่น ยาวประมาณ ๑ วาเศษ พร้อมเชือกที่จะใช้รัดหลังเท้าติดกับไม้
วิธีการเล่น
ผู้เล่นแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ ๒-๕ คน โดยจะรัดเท้าทั้ง ๒ ข้าง ไว้กับกระดาน ๒ แผ่น มือจับเอวหรือจับไหล่ของผู้ที่อยู่ข้างหน้า อาศัยความพร้อมเพรียงจะยกเท้าซ้ายพร้อมๆ กัน ดันไม้กระดานไปข้างหน้า กลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนถือว่าชนะ
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ส่วนใหญ่จะเล่นในเทศกาลสงกรานต์
คุณค่า / แนวคิด / สาระ
นอกจากจะเป็นการออกกำลังขาแล้วยังสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ สร้างความสนุกสนาน การแข่งเรือบกจะเล่นกันในพื้นที่ๆ ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน
บรรณานุกรม
รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต. (2549ก). กีฬาพื้นเมืองไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์.
รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต. (2549ข). กีฬาพื้นเมืองไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์.
รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต. (2549ค). กีฬาพื้นเมืองไทยภาคใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์.
สุภักดิ์ อนุกูล.(2545). การละเล่นพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก.
Njoy. การละเล่นพื้นบ้าน. ค้นเมื่อ 21 กันยายน 2552, จาก http://www.openbase.in.th/taxonomy/term/5865
ประเพณีไทย. การละเล่นพื้นบ้าน. ค้นเมื่อ 21 กันยายน 2552, จาก http://www.prapayneethai.com/th/amusement/
รวบรวมเรียบเรียงโดย : เตือนจิต ทองแก้ว นักศึกษาช่วยงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด