วันรพี 7 สิงหาคม

พระประวัติของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

วันรพีตรงกับวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์และทรงวางระบบแบบแผนศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาตลับ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2439 หลังจากนั้นทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เป็นอย่างยิ่ง และพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2463

การศึกษาและหน้าที่การงาน

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จากนั้นทรงศึกษาภาษาอังกฤษขั้นต้นในสำนักครูรามสามิ แล้วไปศึกษาภาษาไทยต่อที่สำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่นเปรียญ) และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นอาจารย์ผู้สอน

ในปีถัดมาทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยในระหว่างที่ผนวช แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 22 วัน แต่ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถที่เหนือกว่าบุคคลทั่วไป เมื่อทรงจำพระวินัยสงฆ์ได้อย่างแม่นยำชนิดพระสงฆ์ที่บวชเรียนมาแล้วหลายพรรษาก็ยังไม่สามารถท่องจำวินัยสงฆ์ได้แม่นยำเช่นพระองค์ท่าน

หลังจากที่ทรงลาผนวชแล้ว เสด็จไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว ทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 14 ชันษา ได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรปริญญาตรีด้านกฎหมาย ชั้นเกียรตินิยม โดยใช้เวลาศึกษาเพียงแค่ 3 ปี และเป็นบัณฑิตที่มีอายุน้อยสุด ด้วยพระชนม์แค่ 17 ชันษาเท่านั้น

ภาพค้อนกฎหมาย <br>ที่มา : https://pixabay.com/th/users/succo-96729/
ภาพค้อนกฎหมาย
ที่มา : https://pixabay.com/th/users/succo-96729/
เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยทรงเข้ารับราชการที่กรมราชเลขานุการได้ใช้พระปรีชาสามารถในการทำงานเป็นอย่างมาก ในไม่ช้าก็ทรงสามารถทำงานได้ทุกตำแหน่งในกรม ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระพุทธเจ้าหลวงยิ่งนัก ถึงขนาดที่ทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี” พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

จากนั้นพระองค์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่มีพระชนม์มายุเพียง 22 ชันษาเท่านั้น พระองค์ได้ทรงมุ่งมั่นในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบศาล และงานยุติธรรมของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าเท่าทันต่างประเทศ

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงแก้ปัญหาเรื่องศาลกงสุลโดยการจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้พิพากษาเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลไทยเกิดความกระตือรือร้นเร่งศึกษาวิชากฎหมายไทยและต่างประเทศ ทำให้ศาลไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ ถึงกับยกเลิกศาลกงสุลยอมให้คนชาติตัวเองมาขึ้นศาลไทย

ภาพกิจกรรมวันรพี ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/770892/
ภาพกิจกรรมวันรพี
ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/
page/archives/770892/

ในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี วงการนักกฎหมายได้ถือเอาวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์ เป็นวันรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่มีต่อวงการกฎหมายไทย โดยใช้ชื่อว่า วันรพี โดยจะมีการจัดกิจกรรมวันรพีที่อนุสาวรีย์พระรูป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลที่เป็นสถานที่ราชการทั่วประเทศ คณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยมีการจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ในปัจจุบันการจัดกิจกรรมวันรพีจะประกอบไปด้วย พิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ


บรรณานุกรม

ธวัลกร ฉัตราธรรม. (ม.ป.ป.). วันสำคัญในรอบ 1 ปี ที่คนไทยต้องรู้. กรุงเทพฯ : แพรธรรม.

true ID. (2563.). ประวัติ “วันรพี” 7 สิงหาคม รำลึก “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”. ค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2563, จาก https://news.trueid.net/detail/V6K51JKpApEM

ภาพประกอบ

MTHAI. (2559). วันรพี รำลึกพระบิดาแห่งกฎหมายไทย. ค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2563, จาก https://scoop.mthai.com/specialdays/5247.html

Pixabay. (2558). Law. ค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2563, จาก https://pixabay.com/th/users/succo-96729/

เชียงใหม่นิวส์. (2561). งานวันรพีเชียงใหม่จัด 6-8 สค.นี้ ร่วมรำลึก”วันพระบิดากฎหมายไทย”. ค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2563, จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/770892/


เรียบเรียงโดย จารุวรรณ ทวีแก้ว นักศึกษาฝึกงาน สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ภาคการศึกษาที่ 2/2563