กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

 

พระประวัติ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

พระประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็น พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ธิดาพระยาพระยา เวียงในนฤบาล ประสูติ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2417

การศึกษา กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์การศึกษา
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) แล้วทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูรามสามิ และในปี พ.ศ. 2426 ได้ทรงเข้าศึกษา ภาษาไทยอยู่ใน สำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น เปรียญ) ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ พระองค์ได้เข้าพิธีพระราชโสกันต์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2427 และทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หลังจากเสร็จพระราชพิธีสมโภชแล้วจึงทรงเสด็จ มาประทับที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พุทธศักราช 2428 จึงลาสิกขาเสด็จกลับเข้าประทับในพระบรมหมาราชวัง รวมเวลาที่พระองค์ได้ทรงผนวช ทั้งสิ้น 22 วัน

ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2431 ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ ณ กรุงลอนดอนเป็น เวลา 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงเลือกศึกษาวิชา กฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2433 เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัย ไครส์ตเชิช แล้วได้ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ทรงสอบ ไล่ผ่านทุกวิชาตามหลักสูตร ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัย ภายในเวลา 3 ปี ช่วงขณะนั้นทรงมี พระชนมายุเพียง 20 พรรษา
เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรุกรานของฝรั่งเศส ในพุทธ ศักราช 2436 พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้เสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และได้ทรงศึกษากฎหมาย ไทยทั้งหมดที่หม่อมลัดเลย์ได้พิมพ์ไว้ พระองค์ทรงแตกฉานในกฎหมายไทยและสามารถปฏิบัติราชการได้อย่างคล่องแคล่ว

พระราชกรณียกิจ

– เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ทรงมี พระชนมายุได้ 22 พรรษา ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นลำดับที่ 3 และทรงวางระเบียบศาลยุติธรรมโดยออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (พิจารณาความแพ่ง,พิจารณาอาญา ในปีพุทธศักราช 2478) พระองค์ทรงจัดให้มีการสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นการแพร่หลาย ให้โอกาสบุคคลที่สนใจทั่วไป เข้าศึกษาได้ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นมา

– เมื่อปีพุทธศักราช 2440 เป็นการเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก

– ต่อมาในปีพุทธศักราช 2442 พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมหมื่น โดยมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

– เมื่อพุทธศักราช 2443 ได้ทรงดำริจัดตั้งกรมพิมพ์ลายมือขึ้นที่กรงลหุโทษ และได้ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา

– ครั้นเมื่อพุทธศักราช 2453 กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวร โดยมีอาการปวดพระเศียร คิดและทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงาน พักรักษาพระองค์

– ในปีพุทธศักราช 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสร็จในกรม ฯ กลับรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2455 และทรงดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวก็ได้รับพระบรมราชโองการเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2455

จนกระทั่ง พ.ศ. 2462 เสด็จในกรมฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรให้ผู้อื่นได้รับหน้าที่ต่อไป และได้เสด็จ ไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส แต่พระอาการก็หาทุเลาขึ้นไม่ จนกระทั่งในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 เวลา 21.00 น. พระองค์ก็เสด็จสิ้นพระชน ณ กรุงปารีส นับพระชนมายุได้ 47 พรรษา อันนำความเศร้า โศกเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก ด้วยเหตุที่ทรงมีพระคุณต่อประเทศชาติและนักกฎหมายทั้งปวงเป็นอเนกประการ ด้วยพระเกียรติคุณอันจะสุดพรรณนา ทำให้ประชาชนทั่วไป ถวาย พระสมญานามว่า “พระบิดาและปรมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย” และเรียกวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี ว่าวัน “รพี”

      คติพจน์ประจำพระองค์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

                                                                              คติพจน์ประจำพระองค์

คนเราควรจะให้               แต่ไม่ควรจะขออะไรจากผู้อื่น
ควรกินพอประมาณ         ไม่ควรจะมากเกินไปถึงกับท้องกาง
ควรช่วยเหลือคนอื่น        ไม่ใช้เหยียบย่ำ
ควรจะรับใช้                     ไม่ควรคิดเป็นนายคน

บรรณานุกรม
หนังสือ “รพี’ 45-47” คณะกรรมการเนติบัณฑิต สมัยที่ 45 -47
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา ( KPT 440 ร163 2545 – 2547 )

ภาพประกอบ (อยู่ระหว่างการปรับปรุงภาพ)
http://www.law.tu.ac.th/lct/law/rapee/
http://www.thethaibar.thaigov.net/RapeeDay.htm

รวบรวมโดย : นักศึกษาฝึกงาน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาสารสนเทศ