หนังตะลุง

รูปประวัติหนังตะลุงหนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญของภาคใต้ ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังได้สอดแทรกการศึกษา คติธรรม จริยธรรม จากเหตุการณ์ข่าวสาร การเมือง ยังมีการแต่งเรื่อง ผูกคำกลอน คิดบทสนทนาสดๆ อยู่ตลอดเวลา โดยนายหนังจะแสดงความสามารถที่ถือเป็นอัจฉริยะส่วนตัวของนายหนังบวกกับการฝึกฝนจนมีความชำนาญ จึงสามารถแสดงหนังตะลุงให้ประทับใจผู้ชมได้

ความเป็นมาของหนังตะลุงเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จากหลักฐานที่มีการบันทึก หนังตะลุงเป็นการละเล่นที่เพิ่งมีการประดิษฐ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวบ้านที่บ้านควนพร้าว จังหวัดพัทลุง ได้เลียนแบบมาจากหนังของชวาเปลี่ยนเป็นการแสดงเรื่องไทยๆ และมีการแสดงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เป็นที่รู้จักกันในนามของหนังพัทลุงหรือหนังตะลุง

ภาพนายหนัง
ภาพนายหนัง ที่มา : https://sites.google.com/site/ silpalaeawathnthrrmphunban/5

การแสดงหนังตะลุงจะแสดงโดยการเชิด “ตัวหนัง” และ “พากย์หนัง” โดยที่นายหนังจะวางตัวหนังที่มีลักษณะแบนราบทาบกับจอผ้า มีแสงไฟส่องมาจากด้านหลังตัวหนัง ทำให้ปรากฏอีกด้านหนึ่งของจอที่มีคนนั่งอยู่ ส่วนบทที่ใช้ในการแสดงขึ้นอยู่กับคณะที่จัดแสดงหนังตะลุง และให้นายหนังเป็นผู้เชิดและพากย์บทพูดของแต่ละตัวละคร นายหนังจะใช้บทพูดสนทนาสดๆ สอดแทรกมุขตลก ความรู้ และคติ จากเนื้อเรื่องที่กำกับมา และเรื่องที่ใช้ในการแสดงนั้น จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ข่าวสารบ้านเมือง เหตุการณ์ในท้องถิ่น การล้อเลียนทางการเมือง ฯลฯ ความสามารถและไหวพริบในการเชิดและการพากย์ของนายหนังจะทำให้หนังตะลุงน่าดูและสนุกยิ่งขึ้น
รูปหนังตะลุงแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ รูปครู รูปศักดิ์สิทธิ์ รูปชั้นสูง รูปตัวตลก รูปกากและเบ็ดเตล็ด รูปตัวตลกจะมีความสำคัญต่อหนังตะลุงเป็นอย่างมาก เพราะตัวตลกจะมีบทบาทเป็นตัวช่วยพระเอก นางเอก หรืออยู่ฝ่ายธรรมะ สามารถนำศีลธรรม สภาพสังคม เหตุการณ์บ้านเมืองมาสอดแทรกคติเตือนใจผู้ชม ทำให้ผู้ชมหนังตะลุงมีอารมณ์ขันสนุกสนาน รูปหนังตะลุงตัวตลกที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น ไอ้หนูนุ้ย ไอ้ยอดทอง ไอ้เท่ง ไอ้สะหม้อ ไอ้สีแก้ว ผู้ใหญ่พูน เป็นต้น

ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอ้หนูนุ้ย ไอ้ยอดทอง ไอ้เท่ง
ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอ้หนูนุ้ย ไอ้ยอดทอง ไอ้เท่ง
ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอ้สะหม้อ ไอ้สีแก้ว ไอ้พูน
ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอ้สะหม้อ ไอ้สีแก้ว ไอ้พูน

จากอดีตจนถึงปัจจุบันหนังตะลุงจึงเป็นศิลปะการแสดงที่อยู่คู่กับคนใต้มายาวนาน คณะหนังตะลุงที่โดดเด่น เช่น หนังอิ่มเท่ง จิตต์ภักดี หนังฉิ้น อรมุต หนังสุชาติ ทรัพย์สิน หนังนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ หนังศรีพัฒน์ เกื้อสกุล หนังณรงค์ ตะลุงบัณฑิต หนังตะลุงน้องเดียว ในปัจจุบันปี พ.ศ.2558 หนังตะลุงน้องเดียวได้รับความนิยมจากคนดูเป็นอย่างมาก เนื่องจากความสามารถของนายหนังที่มีอายุน้อยและพิการทางสายตาแต่สามารถพากย์ได้กินรูป คือ นายหนังตะลุงที่สามารถพากย์เจรจารูปตัวตลกได้ตามนิสัยและบุคลิกเดิมๆ ของตัวตลกนั้น และมุขบทสนทนาสดๆ ที่ถูกใจผู้ชมทุกท่านที่ได้รับชม

ตัวอย่างคลิปวิดีโอ”หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม เจ้าฟ้าล่าสวาท 3″


หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม เจ้าฟ้าล่าสวาท 3 ที่มา http://youtu.be/6-tNAOknQ80

บรรณานุกรม

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันกุล. (2525). ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องในศิลปะการแสดงหนังตะลุง. กรุงเทพฯ:สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิมล ดำศรี. (2549). หนังตะลุงชั้นครูคู่เมืองนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: โรงพิมพ์ ไทม์ พริ้นติ้ง.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม“. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich

สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. “ประเพณีการเล่นหนังตะลุง“. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก http://www.culture.nstru.ac.th/lifestyle/index1.html

ภาพประกอบ

ภาพการแสดงหนังตะลุง. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก http://nangdtalung.blogspot.com/2012/01/blog-post.html

ภาพนายหนัง. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก https://sites.google.com/site/silpalaeawathnthrrmphunban/5

บดินทร จันทรธิบดี. (2558, มกราคม 9). ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอหนูนุ้ย ไอ้ยอดทอง ไอ้เท่ง. ดัดแปลงจาก

– ภาพไอ้เท่งและไอ้ยอดทอง. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก
https://sites.google.com/site/hnangtalungphunbanrea/taw-lakhr-hnang-talung

– ภาพไอ้หนูนุ้ย. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก
http://plugmet.orgfree.com/sk_dialect_4-10.htm

บดินทร จันทรธิบดี. (2558, มกราคม 9). ภาพรูปหนังตะลุงที่สำคัญ : ไอ้สะหม้อ ไอ้สีแก้ว ไอ้พูน. ดัดแปลงจาก

– ภาพไอ้สะหม้อ.ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก
https://sites.google.com/site/nangtalung005/rup-hnang-talung

– ภาพไอ้สีแก้วและไอ้พูน. ค้นเมื่อ 9 มกราคม 2558, จาก
http://download.clib.psu.ac.th/datawebclib/exhonline/talung/page7.html

วิดีโอประกอบ

nakhontv. (2557, กุมภาพันธ์ 23). วิดีโอ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม เจ้าฟ้าล่าสวาท 3”. ค้นเมื่อ 13 มกราคม 2558, จาก http://youtu.be/6-tNAOknQ80

เรียบเรียงโดย บดินทร  จันทรธิบดี นักศึกษาฝึกงาน ภาควิชาบรรณรักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  ภาคการศึกษา 2/2557