วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

ภาพประตูทางเข้าชมพระพุทธชินราช
ภาพประตูทางเข้าชมพระพุทธชินราช
ที่มา : https://flickr.com/photos/xiquinho/51628529790

          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือเรียกอีกชื่อว่า ”วัดใหญ่” ตั้งอยู่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหารที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก และเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของโลก ซึ่งผู้คนจำนวนมากนิยมมาสักการะกราบไหว้ หากใครไปเยือนจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ไม่ได้ไปนมัสการพระพุทธชินราชจะเสมือนว่าไปไม่ถึงจังหวัดพิษณุโลก

          ประวัติความเป็นมาของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 1900 ในยุคสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) และเป็นวัดหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2458 ในปัจจุบันชื่อเต็มเรียกว่า ”วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” ซึ่งภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย การวางผังของวัดมีองค์พระปรางค์เป็นองค์ประธานของวัด พระวิหาร  ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช และมีประตูประดับมุกที่งดงาม พระวิหารทางทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระอัฎฐารส ทางด้านทิศเหนือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ และพระวิหารด้านทิศใต้เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศาสดา พระองค์ได้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน โดยมีพระปรางค์อยู่กลางพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้น และรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง

          พระวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธชินราชหล่อทองสัมฤทธิ์ พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก พุทธลักษณะอื่น ๆ กล่าวว่า ”เส้นรอบนอกของพระวรกายอ่อนช้อยพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่งพระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เสมอกัน” สร้างเมื่อสมัยสุโขทัย ได้รับการบูรณะให้สภาพดี และยังสง่างามสมบูรณ์มาถึงปัจจุบัน ตำนานการหล่อพระพุทธชินราชนั้น กล่าวไว้ในพงศาวดารว่า ”พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธชินราช พระศรีศาสดา พระชินสีห์ขึ้นพร้อมกันทั้ง 3 องค์ รูปพระศรีศาสดาพระชินสีห์ทั้งสององค์นั้นทองแล่นเสมอกันอย่างสมบูรณ์ แต่พระชินราชต้องหล่อถึง 4 ครั้ง หากครั้งที่ 4 พระอินทร์นิรมิตรเป็นตาปะขาวมาช่วยทำรูปปั้นเข้าอย่างสมบูรณ์” ชี้ให้เห็นถึงพระพุทธชินราชที่งดงาม ไม่ใช่เป็นฝีมือคนธรรมดา เพราะคนธรรมดาไม่สามารถปั้นหล่อได้งดงาม แต่หากความเป็นจริงแล้วคนธรรมดาคงเป็นคนปั้นหล่อขึ้นนั่นเอง

ภาพพระพุทธชินราช ที่มา : https://pixabay.com/images/id-2972134
ภาพพระพุทธชินราช ที่มา : https://pixabay.com/images/id-2972134

          ประตูประดับมุก 2 บานคู่ กว้าง 1 เมตร สูง 4.50 เมตร ประดับมุกโบราณที่งดงามเป็นรูปวงกลมล้อมรอบภาพสัตว์หิมพานต์ อันมีราชสีห์ เหมราช กินนร ประกอบลายช่อกนกบรรจุในวงกลมลายอีแปะ ด้านละ 9 วง กระหนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลมแต่ละอัน ตัวบานประดับมุกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 สมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้ทรงนำบานประตูไปถวายเป็นประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งมีคำจารึกบนบานประตูมุกเมื่อ พ.ศ. 2299 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตัวอักษรที่ใช้จารึกเป็นตัวอักษรไทยคำจารึกเป็นภาษาไทย ดังนี้

          ศุภมัสดุพระพุทธศักราช 2299 วันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีกุนสัพศก พระบาทสมเด็จพระบรมนาถพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้เขียนลายมุกบานประตูพระวิหารชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ช่าง 130 คน ถึง ณ วันพฤหัสขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน สพศก ลงมือทำมุก 5 เดือน 20 วันสำเร็จ พระราชทานช่างผู้ทำการมุกทั้งปวง เสื้อผ้ารูปพรรณ ทอง เงินและเงินตราเป็นอันมาก เลี้ยงวันละ 2 เพลา ค่าเลี้ยงมิได้คิดเข้าในพระราชทานด้วย คิดแต่บำเหน็จประตูหนึ่งเป็นเงินตรา 26 ชั่ง

           พระอัฏฐารส อยู่บริเวณหลังพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1800 ปัจจุบันองค์พระอัฏฐารสทางกรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมใหม่ทั้งองค์พร้อมทั้งทาสี จึงดูเป็นพระพุทธสร้างใหม่ขึ้นมา เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า ”เนินวิหารเก้าห้อง” เป็นพระวิหารหนึ่งที่ทรงคุณค่า ควรทำนุบำรุงรักษาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้รำลึกถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เพื่อคงไว้ซึ่งโบราณสถานต่อไป

          องค์พระปรางค์ ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของวัดเป็นปูชนีย์สถานที่เก่าแก่ ปัจจุบันมีความสูงประมาณ 15 วา ประดับยอดด้วยนถศูลกลีบขนุนประดับอยู่รอบองค์พระปรางค์ แต่เดิมนั้นลักษณะเป็นกลีบขนุนเกลี้ยง ตามแบบนิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้สั่งซื้อกระเบื้องเคลือบสีทองจากอิตาลีมาประดับ ภายหลังได้ชำรุดหล่นร่วงลงมา ซึ่งชาวบ้านนิยมเก็บมาบูชา เพราะด้านหลังกระเบื้องสีทองมีปุ่มปรากฎอยู่ 5 ปุ่ม ถือเป็นศิริมงคล

ภาพพระอัฏฐารส ที่มา : https://www.flickr.com/photos/9508280@N07/5072288450
ภาพพระอัฏฐารส ที่มา : https://www.flickr.com/photos/9508280@N07/5072288450

          การเดินทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยรถยนต์เดินทางมาบนถนนหมายเลข 11 หรือ 117 มุ่งตรงเข้ายังตัวเมืองพิษณุโลก จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 12 ถนนพิษณุโลก – หล่มสัก มุ่งตรงเส้นทางไปศาลากลาง ถ้ามาทางหมายเลข 11 ก่อนข้ามสะพานแม่น้ำน่านวัดตั้งอยู่ขวามือ ถ้ามาทางหมายเลข 117 ข้ามสะพานแม่น้ำน่านมาวัดตั้งอยู่ซ้ายมือ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.00 น. ไม่มีค่าบริการเข้าชม

          ดังที่กล่าวมาข้างต้น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นโบราณสถานทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้ขอพร และสักการะ จึงถือเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย

บรรณานุกรม

ประเสริฐ  ณ  นคร. (บรรณาธิการ). (2535). รวมเรื่อง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองพิษณุโลก. ส.ทรัพย์การพิมพ์.

หวน พินธุพันธ์. (2517). เที่ยวชมโบราณวัตถุสถานในเมืองพิษณุโลก. โอเดียนสโตร์.

วัดฟอร์ทัล. (ม.ป.ป.). วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ. ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://watportal.com/th/wat/region/detail/iid/39680

อีแม็กทราเวล. (ม.ป.ป.). วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร พระพุทธชินราช พิษณุโลก. ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://www.emagtravel.com/archive/watprasri-phitsanulok.html

ภาพประกอบ

Dan Lundberg. (2551). ภาพพระอัฏฐารส. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.flickr.com/photos/9508280@N07/5072288450

Puchong Doungbanyang. (2560). ภาพพระพุทธชินราช. ค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://pixabay.com/images/id-2972134

xiquinhosilva. (2561). ภาพประตูทางเข้าชมพระพุทธชินราช. ค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.flickr.com/photos/xiquinho/51628529790

เรียบเรียงโดย นฤมล สุมี นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิชาเอกบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2564