วัฒนธรรมปีใหม่เมืองชาวล้านนา

ภาพวัฒนธรรมประเพณีล้านนาในอดีต ภาพโดย วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี <br>ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ปีใหม่เมือง

วัฒนธรรมประเพณีไทย ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนาจะจัดขึ้นตรงกับเดือนเมษายนซึ่งจะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ประเพณีปีใหม่เมืองเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ การเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ และเป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่ ในประเพณีปีใหม่ของล้านนามีความแตกต่างจากชาวไทยภาคกลาง เพราะประเพณีล้านนาจะมีกิจกรรมในวันปีใหม่ที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย วันสังขานต์ล่อง, วันเน่า, วันพญาวัน, วันปากปี และวันปากเดือน ปากวัน ปากยาม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

 

ปัจจุบันนี้ วันสังขานต์ล่อง ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ลักษณะมีความคล้ายกับวันสงกรานต์เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ ความหมายและที่มาคำว่า “สังขานต์”  รากเหง้ามาจากภาษาสันสกฤตเขียนอักษร ดังนี้ “สังกรานต์” แต่อักขระวิธีภาษาล้านนาสรุปย่อๆ ว่า หากตัว ร (อ่านว่า ระ ) ไปควบกล้ำกับอักษรตัวต้นของพยัญชนะวรรคใดให้อ่านออกเสียงพยัญชนะตัวถัดไป ในที่นี้ตัว ร (ระ) ควบกล้ำตัว ก (กอ-ไก่) พยัญชนะตัวถัดไป คือ ตัว ข (ขอ-ไข่) ดังนั้น เมื่ออ่านคำว่า “กรานต์” ต้องออกเสียงว่า “ขานต์” รวมความแล้วคำว่า “สังกรานต์” อ่านออกเสียงเป็น “สังขานต์” กิจกรรมในวันนี้ ชาวล้านนาจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน การทำความสะอาดศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขานต์” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

ภาพของวันสังขานต์ล่อง ภาพโดย Jeab ที่มา http://cm365days.com/archives/4295/24/2018/
ภาพวันสังขานต์ล่อง ภาพโดย Jeab
ที่มา http://cm365days.com/archives/4295/24/2018/

วันเน่า ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เป็นวันที่สองของปีใหม่ของล้านนา ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น “วันดา” คือ วันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน ขณะเดียวกันสิ่งของจำเป็นสำหรับงานประเพณีรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ขายดีทั้งข้าวแต๋น ข้าวแคบ บุหรี่ขี้โย ข้าวตอกดอกไม้ และน้ำขมิ้นส้มป่อย ชาวบ้านจะพยายามทำอย่างประณีตสะอาดเพราะเป็นของที่จะไปถวายพระและเลี้ยงญาติพี่น้อง คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า คือ ห้ามด่า ห้ามพูดคำหยาบ จะเกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว ผู้ที่ถูกด่าก็จะอับโชคตลอดปีเช่นกัน

ภาพของวันเน่า ภาพโดย WorkpointNews ที่มา https://workpointnews.com/2018/04/14/วันเนาว์ปี๋ใหม่เมือง-ชา/
ภาพวันเน่า ภาพโดย WorkpointNews
ที่มา https://workpointnews.com/2018/04/14/วันเนาว์ปี๋ใหม่เมือง-ชา/

วันพญาวัน ตรงกับวันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่สามของปีใหม่ของล้านนา ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ทานขันข้าว” (อ่านเสียงล้านนา “ตานขันเข้า”) นับเป็นวันความสำคัญยิ่งเป็นวันถวายพระ,ไหว้พระ,ไหว้พ่อแม่ และครูบาอาจารย์ นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ รวมทั้งการสักเลขยันต์ “อยู่ยงคงกระพัน” ก็นิยมทำกันในวันนี้

ภาพของวันพญาวัน ภาพโดย เชียงใหม่นิวส์ ที่มา https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/688862
ภาพวันพญาวัน ภาพโดย เชียงใหม่นิวส์
ที่มา https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/688862
ภาพของวันปากปี ภาพโดย Plaocooking ที่มา https://www.facebook.com/Plaocooking/photos/a.763585600416421/1161874500587527/?type=3&theater
ภาพวันปากปี ภาพโดย Plaocooking
ที่มา https://www.facebook.com/Plaocooking/

 

วันปากปี ตรงกับวันที่ 16 เมษายน เป็นวันที่สี่ของปีใหม่ล้านนา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัวความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี ชาวล้านนาจะกิน “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” กันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองตลอดปีของคนล้านนา

 

 

 

 

วันปากเดือน ปากวัน ปากยาม เพื่อให้เวลาเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ หรือเดินทางไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกล และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่หยุดจากภาระหน้าที่การงาน สร้างความสมัครสมานสามัคคี เกิดความสุขอบอุ่นในครอบครัว และสังคม เป็นการเตือนตนสำรวจตัวเอง ให้ละทิ้งสิ่งไม่ดีไม่งาม ชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่พร้อมด้วยความดีงาม ความเป็นมงคล โดยผ่านกิจกรรม พิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความสนุกสนานจากการสาดน้ำ หรือการดื่มของมึนเมาจนเกิดการทะเลาะวิวาท ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ความสำคัญปีใหม่เมืองของล้านนา เป็นวันเริ่มต้นให้เกิดความสุข ความเจริญงอกงาม เป็นมงคลแก่ชีวิต จัดตรงกับเดือนเมษายนซึ่งจะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของล้านนามีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองวันที่มากกว่าของชาวไทยภาคกลาง (13 – 16 เมษายน)  ทั้งยังมีขนบธรรมเนียม และการปฏิบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเอง ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างจากภาคอื่นด้วย

บรรณานุกรม

มณี พยอมยงค์. (2529). วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2555, 19 กรกฎาคม). ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก http://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/newsyear.php

ปีใหม่เมือง. (2561, 4 มิถุนายน). วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปีใหม่เมือง

ภาพประกอบ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2555, 4 มิถุนายน). ภาพวัฒนธรรมประเพณีล้านนาในอดีต, ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปีใหม่เมือง

Jeab. (2561, 8 เมษายน). ภาพวันสังขานต์ล่อง, ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก http://cm365days.com/archives/4295/24/2018/

WorkpointNews. (2561, 14 เมษายน). ภาพวันเน่า, ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://workpointnews.com/2018/04/14/วันเนาว์ปี๋ใหม่เมือง-ชา/

เชียงใหม่นิวส์. (2561, 3 เมษายน). ภาพวันพญาวัน, ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/688862

Plaocooking. (2560, 16 เมษายน). ภาพวันปากปี, ค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://www.facebook.com/Plaocooking/photos/a.763585600416421/1161874500587527/?type=3&theater


เรียบเรียงโดย นที จิตรเสรีพงศ์ นักศึกษาฝึกงานจาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ภาคการศึกษา 1/2561