การ์ตูนญี่ปุ่นได้เข้ามามีอิทธิพลต่อคนบางกลุ่มในประเทศไทยเป็นอย่างมากในด้านการสร้างความบันเทิง การผ่อนคลาย และสร้างจินตนาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน การ์ตูนญี่ปุ่นจะมาในรูปแบบของหนังสือ แอนิเมชัน และสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ซึ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการ์ตูนดังหลายเรื่องที่ผ่านตาคนไทยมาแล้ว และสร้างความประทับใจให้กับคนไทย ได้แก่ โดราเอมอน โปเกมอน โคนัน เจ้าหนูยอดนักสืบ กันดั้ม เฮลโหลคิตตี เซเลอร์มูน ฯลฯ
ลักษณะเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น คือ ตัวละครมีลักษณะเฉพาะตัว ส่วนมากไม่ว่าเป็นคนหรือสัตว์จะมีรูปร่างสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เช่น มีรูปร่างเล็ก หรือใหญ่กว่าปกติ ดวงตาโตกว่าปกติ สีผมไม่เป็นธรรมชาติ ทรงผมที่มีรูปร่างแปลกๆ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ตัวละครมีสัดส่วนผิดปกติ มีพฤติกรรมที่แปลกๆ ไปบ้างที่เราจะไม่มีวันพบเห็นในชีวิตประจำวันของเรา หรือพบเห็นได้แต่น้อยครั้งมาก

ที่มา http://pngimg.com/
download/27771

ที่มา https://www.flickr.com/photos/
132100766@N06/18842394180
การ์ตูนญี่ปุ่น ถ้าเป็นรูปแบบหนังสือการ์ตูนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “มังงะ” (Manga) ซึ่งแปลว่า ความไม่แน่นอนและได้มีการเปลี่ยนความหมายไปเป็น “หนังสือการ์ตูน” ซึ่งถ้าพูดถึง “มังงะ” ผู้ที่คลุกคลีหรือรู้จักสื่ออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนญี่ปุ่น จะเข้าใจความหมายของมันทันที ซึ่งคำเรียกเฉพาะดังกล่าวนี้ ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ทางฝั่งตะวันตกเอง จะเรียกหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นว่า “มังงะ” แทนที่เป็น “Japanese comics” เช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยยังคงเรียกว่า “หนังสือการ์ตูน” มีเพียงบุคคลบางกลุ่มที่เรียกว่า “มังงะ” และในส่วนของภาพยนตร์การ์ตูนเรียกว่า “อนิเมะ” (Anime) ซึ่งเป็นการตัดทอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า “Animation” นั่นเอง ทางญี่ปุ่นจะนิยมเรียกนักเขียนการ์ตูนว่า “อาจารย์” ส่วนเหตุผลที่เรียกว่า อาจารย์ จริงๆ แล้วมาจากคำว่า “เซนเซย์” ที่แปลว่า อาจารย์ หรือแปลได้อีกอย่างว่า ผู้สำเร็จวิชาแขนงใดแขนงหนึ่ง ซึ่งคำๆ นี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะบุคคลที่เป็นนักเขียนการ์ตูนเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับทุกคนทุกอาชีพที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกวงการ และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ต้องการให้เกียรติแก่นักเขียนการ์ตูนนั่นเอง

ที่มา https://www.flickr.com/
photos/jordiolaria/19238809219
ที่มาของการ์ตูนญี่ปุ่น ได้เกิดขึ้นหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคดังกล่าว ญี่ปุ่นได้มีการค้าขายระหว่างกับสหรัฐฯ จึงมีการจ้างนักวาดชาวตะวันตกให้มาสอนศิลปะ ซึ่งศิลปะสไตล์ตะวันตกจะเน้นรูปร่าง ลายเส้น และสี ทางญี่ปุ่นจึงได้นำศิลปะสไตล์ตะวันตกมารวมกับศิลปะภาพเขียน “อุกิโยเอะ” (Ukiyo-e) ซึ่งอุกิโยเอะไม่เน้นรูปร่าง ลายเส้น แต่เน้นไปทางความคิดและความรู้สึกมากกว่า จากการรวมของศิลปะทั้ง 2 รูปแบบ จึงกลายมาเป็น “มังงะ”

ที่มา https://www.flickr.com/photos/
24354425@N03/32903953936
ในยุคแรกมังงะต่างๆ ออกไปทางนิยายภาพมากกว่า จนกระทั่ง เท็ตซึกะ โอซามุ ปรมาจารย์ด้านการ์ตูนของญี่ปุ่น ได้พัฒนาการ์ตูนญี่ปุ่นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศ ในยุคต่อมาได้มีนักเขียนการ์ตูนหลายคน นำแนวคิดไปพัฒนาต่อยอดให้กับการ์ตูนของตนเองจนมีหลายเรื่อง หลายประเภท และนั่น ทำให้ความนิยมได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งการ์ตูนทางฝั่งตะวันตกบางเรื่องก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา https://commons.wikimedia.org/
wiki/ File:Osamu-tezuka-713539.jpg
ในปี พ.ศ. 2508 เป็นครั้งแรกที่การ์ตูนญี่ปุ่นได้เข้ามาในประเทศไทยในรูปแบบของภาพยนตร์การ์ตูน ที่นำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งก็คือเรื่อง “เจ้าหนูลมกรด” และในปี พ.ศ. 2514 ก็มีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นได้มาเผยแพร่ในประเทศไทย แต่ในปัจจุบัน ช่องโทรทัศน์ที่นำภาพยนตร์การ์ตูนมาฉายเป็น ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี หรือช่อง 9 ซึ่งนำการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่มาฉายให้ดูทางโทรทัศน์ในช่วงเช้าเสาร์-อาทิตย์ และ ช่วงเย็นจันทร์-ศุกร์ และไม่ใช่แค่ช่องโมเดิรน์ไนน์ทีวีเท่านั้น ยังมีช่องอื่นๆ ที่ฉายการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เช่น ช่อง 3 ที่ในอดีตนำมาฉาย ในช่วงปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) แต่ปัจจุบันฉายการ์ตูนของทางอเมริกา และช่อง 7 เคยนำมาฉาย ในช่วงปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 2000) แต่ปัจจุบันฉายแค่การ์ตูนจากดิสนีย์ และช่องเคเบิลทีวีมีช่องการ์ตูนคลับที่ฉายให้ดูทางกล่องรับสัญญาณที่กำหนดไว้เท่านั้น (เช่น กล่อง PSI และกล่อง Gmm เป็นต้น) และยังมีอีกช่องทางหนึ่ง คือ แอพพลิเคชันที่ทางช่องจัดทำเพื่อให้รับชมการ์ตูนญี่ปุ่นและการ์ตูนประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะ อย่างถูกลิขสิทธิ์แต่ถ้าจะรับชมต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้ง
ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ได้มีบริษัทต่างๆ นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะในรูปแบบของ มังงะ อนิเมะ หรือผลิตภัณฑ์จากการ์ตูน และล่าสุดก็เป็นรูปแบบของ “ไลท์โนเวล” หรือนิยายที่มีภาพประกอบแนวการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งส่วนมากมีรูปเล่มขนาดเล็ก ไลท์โนเวลเหล่านี้ บางเรื่องได้มีการจัดทำเป็นอนิเมะ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

ที่มา https://www.flickr.com/photos/dannychoo/
4923567638
- กันพลา โมเดลหุ่นพลาสติกประกอบเอง
ภาพ “กันพลา” ผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันดีที่สุดจากซีรี่ส์ “กันดั้ม” และนี่ก็คือ “กันดั้ม x” จาก เรื่อง “กันดั้ม x”
ที่มา https://www.flickr.com/photos/150246124@N04/
40045774435 - ฟิกเกอร์ หรือ หุ่นจำลอง 3 มิติที่มีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับตั้งโชว์หรือเอาไปเล่นเพื่อความเพลิดเพลินได้
ภาพ ฟิกเกอร์ ลุยจิ โยชชี่ และมาริโอ จาก เกม Super Mario Bros
ที่มา https://www.pexels.com/photo/focus-photo-of-super-mario-luigi-and-yoshi-figurines-163036/ - ฟิกม่า เหมือนฟิกเกอร์แต่ตัวฟิกม่าสามารถแยกหรือเพิ่มชิ้นส่วนและจัดท่าทางได้อิสระ และอื่นๆ
ภาพ ฟิกม่า จิบิ เซเลอร์มูน หรือ เซเลอร์มูนน้อย จากเรื่อง เซเลอร์มูน ซูเปอร์เอส
ที่มา https://www.deviantart.com/
sailorayearth/art/Pink-Sugar-Heart-Attack-with-Luna-P-714469632
ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปนานเท่าใด การ์ตูนญี่ปุ่นเหล่านี้ยังคงครองใจผู้รับชม เพราะลักษณะนิสัยของตัวละคร ทรงผม เสื้อผ้า เนื้อเรื่องที่ทำให้ประทับใจ มีภาคต่อมากมายให้ติดตาม ถึงแม้ว่าไม่ต่อเนื่องกับภาคแรกเลยก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ยังคงดำรงความนิยมจากผู้ชมคนไทยได้จากอดีตจนสู่ปัจจุบัน
บรรณานุกรม
จุลศักดิ์ อมรเวช. (2544). ตำนานการ์ตูน (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ : แสงดาว.
การ์ตูน. (2561). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/การ์ตูน
Kartoon-discovery. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของการ์ตูน. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก http://kartoon-discovery.com/history/history1.html
TezukaOsamu. (ม.ป.ป.). About Tezuka Osamu. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://tezukaosamu.net/jp/
Boremons. (2559). ทำไมที่ญี่ปุ่นถึงเรียกนักเขียนการ์ตูนว่า ‘อาจารย์’ เหรอครับ. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://pantip.com/topic/35595954
ภาพประกอบ
Thedoraemons7. (2013). Doraemon. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก https://www.deviantart.com/thedoraemons7/art/The-Doraemons-Los-Doraemons-368136722
Pngimg. (ม.ป.ป.). Pokémon. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก http://pngimg.com/download/27771
Net sama. (2015). Conan. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก https://www.flickr.com/photos/132100766@N06/18842394180
Jane, Jordi oralia. (2015). Manga. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก https://www.flickr.com/photos/jordiolaria/19238809219
Rankin, Stuart. (2017). Ukiyo-e. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://www.flickr.com/photos/24354425@N03/32903953936
Choo, Danny. (2010). Light novel. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2561, จาก https://www.flickr.com/photos/dannychoo/4923567638
Vescio, Domenico. (2018). Gundam X. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://www.flickr.com/photos/150246124@N04/40045774435
Pexels. (2016). Anime figure. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://www.pexels.com/photo/
focus-photo-of-super-mario-luigi-and-yoshi-figurines-163036/
Sailorayearth. (2017). Anime figure. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://www.deviantart.com/sailorayearth/art/Pink-Sugar-Heart-Attack-with-Luna-P-714469632
Mutaito890. (2015). Tezuka Osamu. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2561, จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Osamu-tezuka-713539.jpg
เรียบเรียงโดย จุฑามาศ จันทร์ปลั่ง นักศึกษาฝึกงาน จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ ภาคการศึกษา 1/2561