ข้อมูลชาทางพฤกษศาสตร์ สภาพนิเวศ และเกษตรกรรม (ตอนที่ 2)

ภาพฟาร์มชา จาก pxhere.com
ภาพฟาร์มชา จาก pxhere.com

การขยายพันธุ์และการเพาะปลูก

การปลูกชาใช้ต้นกล้าและกิ่งปักชำเป็นวัสดุปลูก เมล็ดชาที่ใช้เพาะได้มาจากแปลงขยายพันธุ์หรือที่เรียกว่า ‘bari’ โดยมีการเจริญเติบโตของต้นตามธรรมชาติ ใช้ระยะปลูกห่าง (5 ม. X 5 ม.) โดยมีการคัดเลือกสายพันธุ์ต้นแม่ที่นำมาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ หรือเมล็ดจากสายต้น ที่ได้รับการคัดเลือก (สองสายต้นหรือหลายสายต้น) คัดเลือกเมล็ดขนาดใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 12.5 มม. ซึ่งจัดว่ามีอาหารสำรอง ในเมล็ดมากพอ นำเมล็ดที่ได้ไปแช่น้ำนาน  1/2-1 ชม.  คัดเลือกเมล็ดที่จมซึ่งมีความงอกสูงและต้นกล้าที่ได้มีความแข็งแรง นำเมล็ดไปเพาะงอก โดยคลุมด้วยกระสอบป่าน  ตรวจสอบความงอกของเมล็ดสัปดาห์ละ 2 หน นำเมล็ดที่งอกไปปลูกในแปลงเพาะเลี้ยงกล้าไม้ กล้าไม้อายุ 1.5 – 2.5 ปี ตัดส่วนลำต้นสูง 1.5 ซม. ทำการขุดและย้ายพันธุ์แปลงปลูก

มีการพัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในอินเดีย คีนยาและศรีลังกาในทศวรรษ 1960 และในอินโดนีเชีย ในทศวรรษ 1970 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามีการใช้กิ่งปักชำในการขยายพันธุ์โดยทั่ว ๆ ไป  มีการคัดเลือกต้นมาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ปล่อยให้ยอด เจริญเติบโต ตามปกติมีจำนวนข้อถึง 15 ข้อ ก่อนทำการตัดมาใช้ขยายพันธุ์ ยอดที่เหมาะสำหรับขยายพันธุ์ควรเป็นยอดหลักมีสีเขียว เนื้อไม้แข็งปานกลาง มีใบติดอยู่ ในเรือนเพาะชำทำการตัดแต่งกิ่งไม่เกิน  8  ข้อ ในบริเวณส่วนกลางของยอดโดยใช้มีดที่มีความคมนำไปเพาะในถุงพลาสติกขนาด  10 ซม. x 30 ซม. โดยให้ส่วนตาและใบโผล่พ้นดินเล็กน้อย วัสดุปลูกควรมีสภาพเป็นกรดและมีอินทรียวัตถุต่ำ รดน้ำและนำไปเรียงในกระโจมพลาสติกภายใต้ร่มเงา ทำการรดน้ำเป็นครั้งคราวแข็งแรงก่อนที่จะนำไปปลูก ในแปลงปลูกที่อายุ 6 – 9 เดือน

เทคนิคในการขยายพันธุ์ชาที่มีการพัฒนาล่าสุด ได้แก่ composite tea plant ซึ่งได้จากการติดตาบนกิ่งก่อนนำไปปักชำ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต โดยที่ยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้ โดยการรวมความแข็งแรงของต้นตอกับตา ที่ได้จากต้นที่ผลิตชาคุณภาพสูง การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีความเป็นไปได้แต่ได้รับความสนใจในปัจจุบันเพียงเล็กน้อย ในการปลูกชามีจำนวนต้นต่อพื้น  1,760 – 2,240 ตัน/ไร่ ขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศและสภาพดิน ตลอดจนความแข็งแรง ของสายพันธุ์ การปลูกบนพื้นที่ที่ลาดชันเป็นการปลูกเป็นแถวตามแนวระดับ จากผลการทดลองในหลายพื้นที่พบว่าไม่มีระยะปลูกที่เหมาะสมโดยเฉพาะ  อย่างไรก็ตามในแง่ของการอนุรักษ์ดินมีการใช้ระยะปลูกแคบ (60 ซม.) ในแถวและระยะระหว่างแถวกว้างพอเพียงสำหรับการปฏิบัติงานเก็บเกี่ยว  เพื่อเป็นการป้องกันการพังทะลายของหน้าดินและให้ร่มเงาในระยะแรก มีการปลูก Tephrosia candida (Roxb.) DC., Crotalaria micans Link หรือ C.trichotoma Bojer ระหว่างแถวการคลุมโคนด้วยเศษพืช ที่ได้จากพืชตระกูลถั่ว ที่ปลูกเป็นพืชร่วมหรือหญ้ากัวเตมาลา (Tripsacum andersonii J.R. Gray) ช่วยในการรักษาความชื้น ป้องกันการพังทะลายของดินตลอดจนควบคุมวัชพืช ได้แก่ Paraseriensis falcatatia (L.) Nielsen, กระถิน (Leucaena leucocephala (Lamk) de Wit) และ Erythrina subumbrans (Hassk.) Merrill มีเฉพาะแปลงปลูกบนพื้นล่าง

การบำรุง ดูแล รักษา

ทำการกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรกหลังปลูก สภาพร่มเงาของพุ่มต้นและวัสดุคลุมดินมีส่วนสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช การกำจัดวัชพืชที่หลงเหลือ อยู่สามารถใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชฉีดพ่นเป็นจุดๆ  การตัดแต่งกิ่งในชามีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้

  • การเกิดทรงพุ่มในต้นขนาดเล็ก: เป็นการตัดแต่งกิ่งในหลายระดับเพื่อกระตุ้นการเจริญด้านข้าง ทำให้พุ่มต้นแผ่กว้างเป็นการถาวร ไม่มีช่องว่าง ในส่วนขอบของทรงพุ่มที่ทำการเก็บเกี่ยว มีการโน้มกิ่งและยึดกิ่งให้เอนลงด้านล่าง ทำให้ไม่ต้องตัดแต่งในบางกิ่ง ในขณะเดียวกัน เป็นการเร่งการเกิดพุ่มต้นด้านล่างที่ดี  ต้นที่มีการโน้มกิ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็งขึ้นโดย สามารถเก็บเกี่ยวได้บางส่วนเมื่อเข้าสู่ปีที่  2
  • การตบแต่งรูปทรงของพุ่มใบด้านบนเป็นครั้งสุดท้าย: มีการเด็ดยอดหรือหักยอดที่เจริญพุ่งขึ้นด้านบน  3 – 5  ครั้ง เพื่อทำให้พุ่มใบด้านบนแบนราบ ที่ระดับความสูง  50 – 60  ซม.  สำหรับการเก็บเกี่ยวครั้งแรก ในลักษณะดังกล่าวต้องการชั้นใบหนา 20 – 25 ซม. ทำหน้าที่บำรุงรักษาพุ่มต้น และส่วนยอดที่เกิดยอดในช่วงผลิใบหนาแน่น
  • การตัดแต่งกิ่งในการบำรุงรักษา: เป็นการตัดแต่งกิ่งทุก ๆ  2 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ โดยตัดส่วนใบ และกิ่งเหนือกิ่งที่เป็นโครงหลักออกทั้งหมด เพื่อให้ส่วนพุ่มยอด ที่ทำการเก็บเกี่ยวลดต่ำลง และเพื่อให้มีกิ่งอ่อนเกิดขึ้นแทนกิ่งแก่ที่ตัดออกไป  โดยในช่วงดังกล่าวส่วนของพุ่มยอดอาจสูงขึ้น  120 – 150 ซม.  และผลผลิตลดลง การตัดแต่งกิ่งอาจมีลักษณะแตกต่างกันตั้งแต่การตัดออกมาก ไปจนถึงการตัดแต่ง เพียงเล็กน้อย ช่วงเวลาเหมาะสมในการตัดแต่งกิ่ง ได้แก่ ในช่วงตนของฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง ซึ่งมีอาหารจำพวกแป้งสะสมอยู่ในรากเป็นปริมาณมาก ดังนั้น การเจริญเติบโตหลังการตัดแต่ง จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว  หลังการตัดแต่งกิ่งมีการตัดยอดหลายหน เพื่อเตรียมพุ่มต้นด้านบน ในการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป
  • การตัดส่วนโคนต้น: เป็นการตักแต่งกิ่งในระดับต่ำกว่าการตัดแต่งกิ่งตามปกติ ไปจนถึงการตัดระดับผิวดิน เพื่อให้มีต้นใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ต้นแก่ อาจจะใช้เวลานาน 5 – 6 ปี  ก่อนที่จะกลับมาให้ผลผลิตเต็มที่

ชาต้องการปุ๋ยสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับของผลผลิตเต็มที่ แต่ชนิด และอัตราการใส่ปุ๋ย แตกต่างกันไป ในแต่ละแหล่งปลูกตามสภาพดิน สภาพแวดล้อม การเขตกรรม สภาพร่มเงา อายุต้นและพันธุ์ คำแนะนำในการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับผลงานทดลอง ผลการวิเคราะห์ดิน และใบผลวิเคราะห์ใบที่ 3 จากส่วนยอดเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสภาวะของธาตุอาหารในต้น  ในการเก็บเกี่ยวชาที่แปรรูปแล้วเสร็จ หนัก 1 ตัน  มีการนำธาตุอาหารจากดินออกไปเป็นปริมาณดังต่อไปนี้  ไนโตรเจน 45 กก., ฟอสฟอรัส (P2O5) 5 กก., โพแทสเซียม (P2O) 20 กก., แคลเซียม (CaO) 8 กก. และแมกนีเซียม (MgO) 3 กก. ชิ้นส่วนของเศษพืชที่เกิดจากการตัดแต่งและทิ้งอยู่ในแปลงปลูกมีส่วนสำคัญ  ในการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชกลับคืนสู่ดิน และเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน ไนโตรเจนจัดเป็นธาตุอาหารที่สำคัญที่สุดในชา โดยมีอัตราการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 24-32 กก./ไร่ จัดว่าให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสำหรับแปลงปลูกที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ ปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนที่ใส่มากเกินความต้องการ ของพืชเป็นผลเสียต่อคุณภาพชา  อัตราการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมส่วนมากขึ้นอยู่กับสูตรปุ๋ยที่ใช้ เช่น  NPK 25-5-5 (คีนยา),  6-1-2 (อินโดนีเชีย)  ธาตุอาหารหลักอื่น ๆ (แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน) และธาตุอาหารรอง (แมงกานีส ทองแดง สังกะสี) มีการใส่แยกต่างหากตามความจำเป็น รวมทั้งมีการให้ปุ๋ยทางใบสำหรับธาตุอาหารเอง

โรคและแมลงศัตรูพืช

โรค blister blight เกิดจากเชื้อ Exobasidium vexans  เข้าทำลายใบอ่อนจัดเป็นโรคที่มีความสำคัญและทำความเสียหายอย่างกว้างขวาง ในแหล่งปลูกชา ในเอเชีย แต่ไม่มีรายงานโรคครั้งแรกนี้ในแอฟริกา และอเมริกาใต้  มีรายงานโรคครั้งแรกในอัสสัม (1868) ก่อนที่มีการแพร่ระบาด ไปทั่วอินเดีย  ญี่ปุ่นและไต้หวั่น (1920) ศรีลังกา (1946) อินโดนีเชีย(1950) การควบคุมโดยการฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอ  ด้วยสารทองแดง และสารป้องกัน และกำจัดโรคพืชแบบดูดซึม  ชาบางสายต้นมีความต้านทานต่อโรคดีกว่า ต้นอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ยังไม่พบชนิดที่มีความต้านทาน  ต่อโรคอย่างแท้จริง  ในจีน และไต้หวัน โรคที่มีความสำคัญ  ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum theae-sinensis) และ net blister blight (Exobasiduum reticulum) โรค grey blight (Pestalotia theae) และ brown blight (Colletotrichum camilliae) มีอาการของโรคแคงเกอร์ ในส่วนของกิ่ง และลำต้น เช่น Macrophoma theicola และ Phomopsis theae  สามารถควบคุมโดยใช้ความระมัดระวังในการตัดแต่งกิ่ง ใช้สีที่มีคุณสมบัติ ป้องกันกำจัดโรคพืชทาตรงรอยตัด รวมทั้งการตัดกิ่งที่มีอาการของโรคทิ้งไป เชื้อโรคพืชหลายชนิดเข้าทำลายส่วนราก ซึ่งมีอาการของโรคทิ้งไป เชื้อโรคพืชหลายชนิดเข้าทำลายส่วนรากซึ่งมีความยากลำบากในการควบคุม ได้แก่โรค Charcoal root disease (Ustulina deusta), red root disease (Poria bypolateritia), brown root disease (Armillaria mellea) และ Ganoderma pseudoferreum

การเข้าทำลายครั้งแรก มักจะเริ่มต้นจากส่วนของเส้นใยที่เจริญมาจากส่วนของตอไม้เก่า หรือรากของต้นไม้ที่กองเหลืออยู่ในแปลงหรือไม้ที่ปลูกในร่มเงา การควบคุมโดยการขุดต้นที่เป็นโรค และต้นที่อยู่รอบ ๆ ออก อบดินด้วยสารเคมี เช่นด้วยเมททินโบรไมด์และปลูกหญ้า เช่น หญ้ากัวเตมาลา ครอบคลุมพื้นที่่นาน 2 ปี  ก่อนที่จะทำการปลูกชา แมลงศัตรูและศัตรูอื่นๆ ในชามีรวมกันมากกว่า 300 ชนิด แมลงศัตรูสำคัญ ที่พบในอินเดียทำความเสียหาย กับผลผลิตในแต่ละปี 6-14 % ได้แก่

  • แมลงกัดกินใบ: ไร (Oligonychus coffeae,Tetranychus spp, Brevipalpus spp.) เพลี้ย (เช่น Scirtothrips dorsalis), มวนยุง (เช่น Helopeltes theivora) เพลี้ยและเพลี้ยอ่อน (Aphis spp.,Toxoptera aurantii), แมลงกัดกินใบ (เช่น Homona spp.) และหนอนม้วนใบ (เช่น Caloptilia theivara) และ flushworm (Cydia leucostoma)  นอกจากจะมีผลต่อการลดลงของผลผลิตแล้วแมลงกัดกินใบยังมีผลต่อคุณภาพของชาอีกด้วย
  • แมลงทำความเสียหายกับทำต้น: red coffee borer (Zeuzera coffeae), scolytid shot-hole borer (Euwallacea fornicatus) และปลวก
  • แมลงศัตรูทำความเสียหายกับราก: โดยเฉพาะไส้เดือนฝอย (Meloidogyne spp,), root lesion (Tratylenchus spp.) และ root burrowing nomatodes (Radopholus similis)

สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง ที่ใช้ในชามีอย่างชนิดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดในวงแคบ ๆ มี half life สั้นกว่า 8 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา การตกค้างของสารเคมีสูงกว่ามาตรฐานที่ FAO/WHO กำหนด ยกเว้นในบางกรณี การควบคุมแมลงศัตรูพืชในชา โดยชีววิธีและการจัดการแบบผสมผสาน ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวชาส่วนใหญ่ใช้แรงงานเด็ดยอด ในส่วนที่อยู่เหนือระนาบส่วนของพุ่มต้น ชาคุณภาพดีที่สุด ได้จากการเก็บเกี่ยวเพียงเล็กน้อย ประกอบด้วยยอดที่กำลังเจริญเติบโตและใบอ่อน  2  ใบและส่วนตายอดหรือ pecco การเก็บเกี่ยวที่เรียกว่า hard หรือ coarse plucking เป็นการเก็บเกี่ยวใบอ่อน  3  ใบ และตายอด แม้ว่าจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่คุณภาพที่ได้ลดลง ยอดที่อยู่เหนือระดับระนาบ ส่วนของพุ่มต้นที่ตายอดพักตัว มีการเก็บเกี่ยวเฉพาะเมื่อใบยอดสุดยังอ่อนอยู่ มิฉะนั้นจะทำการหักทิ้งไป ใบชาที่เก็บได้ใส่ในตะกร้าซึ่งอยู่ด้านหลังคนเก็บ ระมัดระวังไม่กดหรือทำให้ใบเสียหาย หลังจากเก็บได้เต็มตะกร้าจะนำไปยังจุดรวบรวมซึ่งมีที่กำบังแดด ทำการชั่ง และตรวจสอบคุณภาพ ใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ควรทำการขนส่งไปยังโรงงานโดยเร็วที่สุด และไม่มีความเสียหาย เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพ การเก็บเกี่ยวอาจทำในทุก ๆ  4-7 วัน ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตดี ไปจนถึงทุก ๆ 14 วัน หรือนานกว่าในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ควรมีความสมดุลระหว่างการเก็บเกี่ยวเพียงเล็กน้อย และการเก็บเกี่ยวในปริมาณมาก เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับความสูงของพุ่มบนเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาชั้นของใบที่เหลืออยู่ให้พอเพียงสำหรับความแข็งแรงของพุ่มต้นและการให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

ชาคุณภาพดีที่สุดผลิตโดยการเก็บด้วยมือโดยคนงานที่มีความชำนาญ แต่จัดว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมากและค่าแรงสูงถึง 60% ของต้นทุนการผลิต ในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูงหรือคุณภาพของชามีความเข้มงวดน้อยลง เช่น การผลิตชาเขียวในญี่ปุ่น มีการใช้เครื่องมือ หรือเครื่องจักร เข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น

ผลผลิต

โดยหลักทั่ว ๆ ไป ชาอัสสัมและชาอินเดียลูกผสมมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงกว่าชาจีน ในแปลงปลูกของเอกชนรายใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปมีการจัดการ ที่ดีได้ผลผลิตสูงกว่า ที่ได้จากแปลงปลูกของเกษตรกร รายย่อยและการเก็บเกี่ยวแบบรวมกันให้ผลผลิตสูงกว่า การเลือกเก็บ สภาพภูมิอากาศ เช่น สภาพแห้งแล้ง สภาพอากาศหนาวเย็น จนน้ำค้างแข็งและลูกเห็บตก รวมทั้งการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน มีผลต่อผลผลิตที่ได้ในบางช่วง  การลดลงของราคาของชานับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มีผลกระตุ้นให้มีการรื้อแปลงชาเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยชาสายพันธุ์หรือสายต้นที่ให้ผลผลิตสูง

ผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีของชาจีนที่ผ่านการแปรรูปแล้วของโลกโดยประมาณ 144 กก./ไร่ โดย ในจีน มีค่าต่ำกว่า 80 กก./ไร่ ไปจนถึงมีค่ามากกว่า 224 กก./ไร่  ในญี่ปุ่น มีการปลูกชาจีนและชาอัสสัมลูกผสมร่วมกัน ในศรีลังกาได้ผลผลิตในแต่ละปีประมาณ 144 กก./ไร่  แหล่งปลูกในคีนยา ส่วนใหญ่เป็นชาอัสสัมและชาอินเดียลูกผสม ได้ผลผลิตในแต่ละปีสูงถึง  336 กก./ไร่ ในมาลาวี  288  กก./ไร่ และในอินเดีย  272  กก./ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยของชาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตั้งแต่ เวียดนาม 96 กก./ไร่, อินโดนีเชีย  176  กก./ไร่, มาเลเชีย  320 กก./ไร่ ไปจนถึง ในปาปัวนิวกินี  336  กก./ไร่ ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของชาของผลผลิตที่ได้จากแปลงปลูกของเอกชนรายใหญ่และจากแปลงปลูกของรัฐ 328 กก./ไร่

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ดีการแปรรูปในโรงงานเป็นระยะเวลารวมกันเกิน 24 ชั่วโมง เล็กน้อย โดยมีขั้นตอนของการดำเนินงานดังต่อไปนี้

การผึ่งชา

  • การผึ่ง: ลดความชื้นในใบลงเป็นบางส่วนลงเหลือความชื้นประมาณ 70% ในที่โล่งหรือ withering troughs ระยะนี้กินเวลา 12-16 ชั่วโมง

การนวด

  • การนวด: โดย orthodox roller, rotorvane หรือ CTC(crush,tear and curl) นานประมาณ 30 นาที เครื่องจักร CTC ได้ส่วนของใบชาที่มีขนาดเล็กลงเหมาะสำหรับการผลิต tea-bag
  • การหมัก: วางแผ่นบาง ๆ บนพื้นหรือวางเป็นชั้นหนามีพัดลมช่วยในการระบายอากาศและมีอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ นานประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง
  • การทำแห้ง: โดยใช้ multi-band หรือ fluid-bed dryes โดยมีลมร้อนเพื่อลดปริมาณความชื้นลงไปขั้นสุดท้ายเหลือเพียง 5 – 3.0 %

การทำความสะอาดและคัดเกรด

  • การทำความสะอาดและคัดเกรด: เพื่อคัดเอาส่วนก้านและเส้นใยออก และในขั้นตอนต่อมาเป็นการคัดขนาดของใบชา ในอุตสาหกรรมการผลิตชา การคัดเกรดออกเป็นเกรดใบสมบูรณ์, ใบหัก,เศษใบฝุ่น
  • การบรรจุหีบห่อ: ในอินเดีย ศรีลังกาและอินโดนีเชียยังคงนิยมบรรจุในลังไม้อัดขนาดบรรจุ 40 – 45 กก. สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรสนับสนุนให้บรรจุในกระสอบกระดาษเคลือบ (ในคีนยาและมาลาวี) ซึ่งสามารถรักษาคุณภาพของชาได้ค่อนข้างดีและมีราคาถูกกว่า (US$ 1.5 เปรียบเทียบกับ  US$ 4.50 เมื่อบรรจุลังไม้) และต้องการใช้ทรัพยากรป่าไม้น้อยกว่า

การคั่วใบสดในกะทะ

ในการผลิตชาเขียวใช้  C.sinensis var.sinensis เป็นหลัก การผลิตชา (Kamaira tea) ผลิตโดยการคั่วใบสดในกะทะนาน 10-15 นาที โดยมีการคนตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ใบไหม้ ก่อนจะนำมานวดและทำให้แห้ง ในการผลิต Sen-cha ของญี่ปุ่น มีการนำใบชาสดไปนึ่งนาน 1 นาที ก่อนนำไปผ่านกรรมวิธีการนวดและทำให้แห้ง โดยให้ความร้อนเป็น  3 ระยะ จนกระทั่งความชื้นลดลงเหลือ 6% และใบชามีลักษณะคล้ายเข็ม การคั่วหรือนึ่งเป็นการทำลายเอนไซม์ ป้องกันการเกิดการหมัก (oxidation)  ซึ่งเกิดขึ้นในขั้นตอนของการผลิตชาดำ

แหล่งพันธุกรรม

หน่วยงานวิจัยชาส่วนใหญ่ในเอเชียและแอฟริกามีแปลงรวบรวมพันธุ์ชา จากแหล่งต่าง  ๆ ต้นชา var.senensis, var.assamica และลูกผสม ที่งอกจากเมล็ดจัดว่า มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ยังไม่ได้มีการศึกษาศักยภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม ชาสายพันธุ์ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เกือบจะไม่มีอยู่ จากเหตุผลดังกล่าวและเหตุผลอื่น ๆ มีความจำเป็น ในการเก็บรวบรวมเชื้อพันธุ์ของชา ตามธรรมชาติรวมไปถึงพืชชนิดอื่นทีมีความใกล้ชิด ทางพันธุกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต การศึกษาสำรวจในมณฑลยูนนานของจีน ล่าสุดพบว่ามีจีโนไทป์ของชา var.sinensis  ที่น่าสนใจมากมาย ตลอดจนมีการค้นพบชาชนิดใหม่

การปรับปรุงพันธุ์ชา

ส่วนใหญ่ของแปลงปลูกชาในโลก ปลูกโดยใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเก็บรวบรวมเมล็ดในแปลงขยายพันธุ์ซึ่งมีการขยายพันธุ์ในยุคแรก ๆ เป็นแปลงขยายพันธุ์ซึ่งมีการผสมข้ามแปลงขยายพันธุ์ในยุคแรก ๆ เป็นแปลงซึ่งไม่มีการคัดเลือกพันธุ์โดยเฉพาะ แต่ในปัจจุบันประกอบด้วยต้นที่ได้จากการคัดเลือก (mass selected) ตลอดจน progeny-tested family หรือสายต้นที่ได้รับการคัดเลือก ชาจัดเป็นพืชที่มีการผสมข้ามอย่างกว้างขวาง  มีความแปรปรวนในสายพันธุ์มาก  ตลอดจนยังคงมีความแตกต่างระหว่างต้นมากในการขยายพันธุ์ โดยเมล็ดในสายในสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือก การพัฒนาวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศโดยวิธีการ  single-node cutting ในอินเดีย ศรีลังกา และคีนยาในทศวรรษ 1960 เป็นจุดเริ่มของการขยายพันธุ์ทางสายต้นอย่างกว้างขวางในประเทศผู้ผลิตชาหลายประเทศ การขยายพันธุ์ทางสายต้นทำให้โอกาสได้แปลงปลูกชาที่มีความสม่ำเสมอ ตลอดจนการคงไว้ซึ่งสายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่น  อย่างไรก็ตามโอกาสพบต้นคุณภาพสูงโดยวิธีการคัดเลือก จากต้นจำนวนมากจากประชากรของชาในปัจจุบันมีโอกาสน้อยมาก ทั้งนี้การวางแผน recombination cross ระหว่างต้นที่ได้รับการคัดเลือกมีโอกาสที่จะได้ต้นที่มีคุณสมบัติความต้องการมากกว่าในชาเช่นเดียวกันกับในพืชชนิดอื่น ลูกผสมที่ได้จากการผสมต้นพ่อและต้นแม่ที่มีพันธุกรรมแตกต่างกันมีผลผลิตสูงเนื่องจากผลของ hybrid vigor การใช้ molecular marker มีส่วนช่วยในการวัดค่าความหลากหลายของพันธุกรรมในรุ่นลูก ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์

การปรับปรุงพันธุ์ชาที่ผ่านมามีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงลักษณะพุ่มต้น ผลผลิตและคุณภาพในสายพันธุ์ C.sinensis  ยังไม่พบต้นที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นที่น่าพอใจ การถ่ายทอดพันธุกรรมความต้านทานโรคและแมลงจากพืชที่มีความใกล้เคียงมายังชายังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งไม่ได้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการผสมข้ามแต่เกิดจากยังไม่สามารถที่จะถ่ายทอดคุณสมบัติดังกล่าวมาจากต้นที่ใช้เป็นต้นพ่อและต้นแม่ ต้นลูกที่ออกมาอาจจะมีลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นชาแต่รสชาติชองชาที่ได้ไม่เป็นที่ยอมรับทางการค้า ยังไม่พบต้นที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นที่น่าพอใจ การถ่ายทอดพันธุกรรมความต้านทานโรคและแมลงจากพืชที่มีความใกล้เคียงมายังชายังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งไม่ได้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการผสมข้าม แต่เกิดจากยังไม่สามารถที่จะถ่ายทอดคุณสมบัติดังกล่าวมาจากต้นที่ใช้เป็นต้นพ่อและต้นแม่ ต้นลูกที่ออกมาอาจจะมีลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นชาแต่รสชาติชองชาที่ได้ไม่เป็นที่ยอมรับทางการค้า

อุปสรรคอีกข้อหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ชา ได้แก่ การไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทอดพันธุกรรมของผลผลิตและคุณภาพที่ได้จากการศึกษาพันธุกรรมที่เหมาะสม นอกเหนือจากที่ได้จากการสังเกตและการสรุปที่ว่าองค์ประกอบทางพันธุกรรมของผลผลิตและคุณภาพทั้งหมดเป็นการถ่ายทอดในเชิงปริมาณ

แนวทางในอนาคต

สถานการณ์ผลผลิตชาล้นตลาดโลกอันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปีละ 2-3% โดยที่ปริมาณการบริโภคมีอยู่คงที่ มีผลต่อระดับราคาของชาในตลาดโลก ซึ่งมีผลต่อระดับราคาของชาในตลาดโลก ซึ่งมีค่าลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อตกลงระหว่างประเทศอาจจะสามารถรักษาระดับราคาของชาไว้ได้ แต่ทั้งนี้ ี้ขึ้นอยู่กับมาตรการของประเทศ ผู้ผลิตรายใหญ่ สมาคมประเทศผู้ผลิตชา ควรมีการส่งเสริมการดื่มชา เป็นเครื่องดื่มอเนกประสงค์และเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ เพื่อที่จะแข่งขันกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรและน้ำอัดลม

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในการผลติชาสามารถเพิ่มขึ้นพอสมควรโดยการพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงตลอดจนการใช้เครื่องมือทุ่นแรงเก็บเกี่ยว

ผลผลิตชาส่วนใหญ่ยังคงมาจากแปลงปลูกซึ่งได้จากการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด การปลูกทดแทนโดยใช้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะต้นกล้าที่เป็น composite clone มีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลตอบแทน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ลดพื้นที่ปลูกชาของประเทศลง เพื่อนำที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปใช้ประโยชน์ ในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ

melecular biology และการตัดต่อยีน อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในการปรับปรุงพันธ ุ์ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช หากไม่สามารถหาพันธุกรรมดังกล่าวได้จากต้นที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ การควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืช ในชาโดยการใช้สารเคม ีแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องยุ่งยาก อันเนื่องมาจากความเข้มงวดของข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาณสารตกค้าง ในชาที่ยอมให้มีได้

ในสภาพการปลูกชา เป็นแปลงปลูกขนาดใหญ่และค่าแรงงานเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะให้ผลตอบแทนในการผลิตไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยสิ้นเชิง หากไม่มีการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว มีการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวโดยติดกับรถแทรกเตอร์และเครื่องมือเก็บเกี่ยว ที่ใช้คนบังคับอย่างได้ผล ในการผลิตชาเขียวโดยไม่ทำความเสียหายกับใบและลำต้น ในแปลงปลูกที่ได้จากการคัดเลือกทางสายต้น มีความสม่ำเสมอ และความสูงของการเก็บเกี่ยวที่มีการจัดการอย่างเหมาะสมวิธีการนี้ อาจนำไปใช้ในการผลิตชาดำในไม่ช้า โดยเฉพาะ เมื่อปริมาณของผลผลิต มีความสำคัญมากกว่าคุณภาพ

บรรณานุกรม (คัดลอก)

van der Vossen, H.A.M. and Wessel, M.(Editor) (2000).  ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16.พืชที่ให้สารกระตุ้น. Backhuys Publishers, เลเดน, เนเธอร์แลนด์. แปลโดย PROSEA Thailand Country Office สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วท.). กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.

ภาพประกอบ

ภาพฟาร์มชา จาก pxhere.com

รวบรวมข้อมูลโดย: หน่วยพัฒนาเว็บไซต์ งานเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปี 2553)