ภาพประธานหลังธนบัตรไทย

ภาพประธานหลังธนบัตรไทย 20 บาท
ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนั้น นอกจากจะมีค่าและชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว ธนบัตรเหล่านี้ยังทำหน้าที่เสมือนทูตวัฒนธรรม เผยแพร่เอกลักษณ์ประจำชาติ ให้คนทั่วโลกได้รู้จัก จึงมีการนำภาพที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นเอกราช มาเป็นองค์ประกอบในธนบัตร และองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ภาพประธานหลังธนบัตร ซึ่งธนบัตรแต่ละแบบ แต่ละราคาจะมีภาพประธานหลังธนบัตรที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ภาพประธานหลังธนบัตร ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ประกอบด้วยภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชผู้ทรงกอบกู้และรักษาเอกราช ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และภาพพระราชกรณียกิจ ที่สำคัญของพระมหากษัตริย์

ภาพประธานหลังธนบัตรที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน (เมื่อปี พ.ศ. 2548) มีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้

  1. ธนบัตรแบบ 12 มี 3 ชนิดราคา เป็นภาพมหาราชผู้ทรงกอบกู้และรักษาเอกราชนั้น หรือชุด สามมหาราช ประกอบด้วยธนบัตรชนิดราคา ดังนี้
    • ราคา 100 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์สถานดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีทรงพระคชาธารชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ
    • ราคา 20 บาท เป็นภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ทรงม้าศึกพร้อมทหารคู่พระทัยทั้งสี่ คือ พระเชียงเงิน หลวงพิชัยอาสา หลวงราชเสนา และหลวงพรหมเสนา
    • ราคา 10 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิยะมหาราช ประดิษฐาน ณ ลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
  2. ธนบัตรแบบ 13 มี 2 ชนิดราคา เป็นชุดร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี ประกอบด้วยธนบัตรชนิดราคา ดังนี้
    • ราคา 50 บาท เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นภาพที่นำมาจากพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ รัฐสภา
    • ราคา 500 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร
  3. ธนบัตรแบบ 14 มี 3 ชนิดราคา เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ที่ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรรม วรรณกรรม การศาสนา และการศึกษา ประกอบด้วย ราคาดังนี้
    • ราคา 100 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคู่กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐาน ณ ลานหน้าเสาธง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราโชบายของ ทั้งสองรัชกาล ส่งผลให้การศึกษาของชาติขยายตัวอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
    • ราคา 500บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐาน ณ เชิงเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี คู่กับภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดอัมพวันเจดีย์ราม จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งสองพระองค์สร้างความเจริญรุ่งเรื่องด้านการศาสนา และวรรณกรรม
    • ราคา 1000 บาท เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาททสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม
  4. ธนบัตรแบบ 15 ขณะนี้มี 4 ชนิดราคา คือ
    • ราคา 20 บาท เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ภาพพระราชกรณียกิจ และภาพสะพานพระราม 8
    • ราคา 50 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นภาพประธาน ซึ่งแสดงให้เห็นพระปรีชาเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ และทรงทำนุบำรุงพระศาสนา เช่น ทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
    • ราคา 500 บาท เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน และภาพ โลหะปราสาท วัดราชนัดดา
    • ราคา 1000 บาท เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันกับพระราชกรณียกิจธนบัตรไทย บ่งบอกศักดิ์ศรีแห่งความเป็นไทย ด้วยการสะท้อนเอกลักษณ์อันเป็นประวัติศาสตร์ และอารยธรรมเก่าแก่ที่ประชาชนชาวไทยภาคภูมิใจมาช้านาน

บรรณานุกรม
ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2542. 72 พรรษาภัทรกษัตริย์ ธนบัตรรัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ:
ธนาคารแห่งประเทศไทย.
_________. “ธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
http://www.bot.or.th/bothomepage/BankAtWork/Banknotes/Banknotes.htm

ภาพประกอบ
คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด. (ม.ป.ป). เงิน. ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2560, https://oer.learn.in.th/search_detail/result/45075

บทความโดย สุพัตรา ศิริวัฒน์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 13 วันที่ 21-27 กรกฎาคม 2546