ปีนี้ (พ.ศ. 2546) ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วย “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เอเซีย – แปซิฟิค 2003” (เอเปค) ในการนี้รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมเอเปคจากชาติต่าง ๆ ได้ชื่นชมกับความงามอันยิ่งใหญ่ตระการตา และทรงคุณค่าทางศิลปะของกระบวนเรือ ซึ่งไม่อาจหาชมได้จากประเทศอื่น ๆ และนับเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เรือกระบวนพยุหยาตรามาจัดแสดง โดยที่มิใช่งานพระราชพิธี บทความนี้จึงใคร่ขอนำเสนอประวัติและความเป็นมาของกระบวนเรือดังกล่าวให้ทราบพอสังเขป
จากหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยก่อนเมื่อเวลาที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยชลวิถีไปในการพิธีใด ๆ ที่มุ่งหมายแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพภายใต้พระบารมี เช่น เสด็จเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือต้องเสด็จรอนแรมไปทางไกล ก็เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตรา เนื่องจากสมัยก่อนเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ คือทางน้ำ ต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมา รวมทั้งมีการใช้เรือรบในลำน้ำเป็นกำลังสำคัญในการทำสงคราม เมื่อบ้านเมืองว่าง เว้นจากศึกสงคราม ได้ใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้เมื่อมีข้าศึกมาประชิดเมือง ซึ่งมักกระทำกันในฤดูน้ำหลาก อันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างเว้นจากการทำนา สะดวกต่อการเรียกระดมพล
ในระยะเวลาที่เรียกระดมผู้คนมาฝึกซ้อมนี้ ประจวบตรงกับเทศกาลกฐินพอดี ดังนั้นเพื่อไม่ให้การฝึกซ้อมไพร่พลเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ พระมหากษัตริย์จึงได้ทรงพระราชดำริเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือ ดังนั้นเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนเสด็จพยุหยาตราชลมารคจึงมีวิวัฒนาการมาจากเรือรบที่โบราณใช้รบในลำแม่น้ำนั่นเอง
การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ได้ถือปฎิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตระหนักถึงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของกระบวนพยุหยาตรา ได้โปรดเกล้าฯให้กองทัพเรือปรับปรุงซ่อมแซมเรือพระราชพิธีต่าง ๆ และรื้อฟื้นจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นมาใหม่ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมกับความยิ่งใหญ่และงดงามของกระบวนเรือดังกล่าวตามวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ
การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีริ้วกระบวนที่ประกอบด้วยเรือประตูหน้า นำริ้วกระบวน ตามด้วยเรือพิฆาต เรือดั้ง เรือกลองนอก เรือตำรวจนอก – ใน เรือรูปสัตว์ เรือแซง เรือกิ่ง เรือไชย เรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง เรือศรี และปิดท้ายกระบวนด้วยเรือกราบ โดยกองเรือเหล่านี้ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีประกอบ เพื่อให้พลพายเกิดความฮึกเหิม บทเพลงที่ใช้ขับร้องในกระบวนเรือ เรียกว่าบทเห่เรือ บทเห่เรือที่ ไพเราะและเป็นที่รู้จักกันดีคือกาพย์เห่ชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค และชมนก พระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง และกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัย ส่วนเรือพระราชพิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ต่อมาได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สำหรับใช้สลับเปลี่ยนกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
การจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราเพื่อต้อนรับผู้ที่มาร่วมประชุมเอเปคในครั้งนี้ นอกจากเป็นการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่บรรพชนได้สร้างสมไว้แล้ว ยังก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นที่เชิดหน้าชูตาประการหนึ่ง สมควรที่คนไทยร่วมใจกันรักษาสมบัติอันล้ำค่านี้ให้ดำรงอยู่ตลอดไป
บรรณานุกรม
- สวัสดิ์ พูลสุข. 2538. “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” หน้า 26 – 48. ใน อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นาวาโทสวัสดิ์ พูลสุข. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
- “กระบวนพยุหยาตรา” ใน สารานุกรมสำหรับเยาวชน เล่มที่ 21. 2539. หน้า 13 – 63. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์.
- http://www.NavyThai.com
ภาพประกอบ
- Kremlin.ru. (20 ตุลาคม 2546). กระบวนพยุหยาตราชลมารค. ค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2564, https://th.wikipedia.org/wiki/กระบวนพยุหยาตราชลมารค
บทความโดย จารุวรรณ ตันวิจิตร
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 24 วันที่ 6-12 ตุลาคม 2546